"ดีอี"ดันกฎหมายลูก2ฉบับเข้าครม.

"ดีอี"ดันกฎหมายลูก2ฉบับเข้าครม.

-เชื่อภายในเดือนนี้กฎหมายเสร็จพร้อมชงเข้าครม.

ปลัดกระทรวงดีอีเผย กฎหมาย 2 ฉบับที่ค้างรอประกาศฯอยู่ใกล้เสร็จแล้ว หลังผลักดันให้เกิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นครบทุกภาคส่วน มั่นใจกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเรียบร้อยภายในเดือนนี้ เพื่อส่งออกไปเข้าที่ประชุมครม.รอการอนุัติ ขณะที่กฎหมายไซเบอร์ฯ ยังติดอยู่ที่การกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกลาง คาดได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ หลังนำเข้าที่ประชุมบอร์ดเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่มีนายกฯเป็นประธานช่วยพิจารณาหาข้อสรุป

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความคืบหน้า เกี่ยวกับพ.ร.บ.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ร.บ.ดีอี) จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... และ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ว่า หลังจากที่สำนักงานกฤษฎีกาได้ส่งร่างทั้ง 2 พ.ร.บ. กลับมายังกระทรวงเพื่อให้แก้ไขนั้น ขณะนี้กระทรวงได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ครบทั้งภาคเอกชน สมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้อง และ ภาคประชาชน เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... คือ ต้องเป็นกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เมื่อออกมาเป็นกฎหมายแล้วต้องใช้งานได้จริง อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องการให้ใช้ ม. 44 ประกาศช่วยภายหลัง หากเกิดปัญหา ดังนั้น ผลของการทำประชาพิจารณ์จากทุกภาคส่วนที่ได้ จะนำมาปรับปรุงให้เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอจากสมาคมที่เกี่ยวข้องที่ต้องการให้กฎหมายครอบคลุมทั้งเจ้าของข้อมูล ผู้เก็บข้อมูล ได้แก่ ธนาคาร บริษัทประกัน และ สายการบิน เป็นต้น ตลอดจนผู้ประมวลผลข้อมูล อย่างเช่น บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล หรือ ผู้ให้บริการคลาวด์ที่เป็นผู้รับจ้างวิเคราะห์หรือเก็บข้อมูลให้กับผู้ที่จัดเก็บข้อมูล

ขณะที่ภาคประชาชนเองก็เห็นว่า ควรให้มีการคุ้มครองไปถึงข้อมูลของประชาชนที่ถูกเก็บอยู่ในต่างประเทศด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นมาตรฐานของกฎหมายในอาเซียนที่ทำอยู่แล้ว ดังนั้นประเทศไทยก็จะทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทำมาตรฐานให้ตรงกับ มาตรฐานการเก็บข้อมูลของประชาชนในประเทศยุโรป อย่าง General Data Protection Regulation (GDPR) ด้วย โดยกฎหมายนี้ เป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลตัวใหม่ของสหภาพยุโรปที่ประกาศเมื่อปีที่แล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ด้วย

“ภายในสัปดาห์นี้เราจะรีบหาข้อสรุปและเชิญตัวแทนจากสำนักงานกฤษฎีกา เพื่อมาลงมติเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งก่อน จะนำเรื่องเสนอเข้าวาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เพราะที่ผ่านมาสำนักงานกฤษฎีกาก็ทำงานร่วมกับกระทรวงดีอีมาตลอดในทุกขั้นตอน จึงมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรที่ติดขัดในแง่รายละเอียดของข้อกฎหมาย ส่วนสิ่งที่เอกชนกังวลว่า เมื่อกฎหมายออกแล้วกระทรวงต้องทำประกาศให้เหมาะกับกฎหมายของแต่ละธุรกิจนั้นจะดีหรือไม่ จุดนี้เราก็จะตั้งคณะทำงานในแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีการเชิญเอกชนมาเป็นคณะทำงานด้วยเพื่อให้การออกประกาศต่างๆเหมาะสมมากที่สุด” นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าว

นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ....นั้น หลักการคือ ต้องสร้างมาตรฐานการรับมือกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เช่น เมื่อเกิดภัยไซเบอร์ กระบวนการการจัดการที่มีมาตรฐานและขั้นตอนที่ถูกต้องควรทำอย่างไร ซึ่งในกฎหมายนี้ จะต้องมีการตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมากำกับดูแลโดยตรง ซึ่งตรงนี้ อาจยังติดอยู่ที่การออกแบบสาระสำคัญ และบทบาทหน้าที่ขององค์กรกลางดังกล่าว ดังนั้นกระทรวงดีอีจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะจัดให้มีการประชุมกันภายในเดือนนี้ เพื่อหาข้อสรุปต่อไปด้วย