'สรท.'ชี้เงินบาทแข็ง-ขึ้นค่าแรงฉุดส่งออกปีนี้โต 3.5%

'สรท.'ชี้เงินบาทแข็ง-ขึ้นค่าแรงฉุดส่งออกปีนี้โต 3.5%

"สรท." ระบุเงินบาทแข็งค่า - ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบภาคส่งออกแน่ คาดส่งออกปีนี้โตเพียง 3.5% จากเป้าเดิมคาดโต 5.5%

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศ (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกตลอดปี 2560 แม้จะโตถึง 9.9% มูลค่าการส่งออกถึง 236,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปี 2561 ทาง สรท.มองว่ายังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาได้ไม่ต่ำกว่า 5.5% แต่คงต้องตามดูว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทยอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่องตลอดเดือนมกราคมและต้นกุมภาพันธ์นี้ และจากการปรับขึ้นอัตราแรงงาน 5-22 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ แม้ว่าทาง สรท.จะพยายามให้หน่วยงานกำกับดูแลช่วยไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไปหรือให้มีการชะลอการปรับอัตราแรงงานออกไปก่อน 1 ปี แต่เมื่อผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ทาง สรท.จึงมีการประเมินว่าทั้ง 2 ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลให้สูญเสียรายได้จากการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม สินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง โดยรวมหายไปไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของการส่งออกปีนี้ลดลงเหลือเพียง 3.5% จากที่คาดการณ์ไว้จะเติบโตถึง 5.5%

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาทางผู้ส่งออกแต่ละกลุ่มสินค้าได้มีการปรับตัวและปรับการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาเงินบาทแข็งค่าด้วยการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือแม้แต่เจรจาต่อรองทำความเข้าใจกับคู่ค้าแจ้งถึงเหตุผลที่จะขอปรับราคาสินค้าส่งออกกันใหม่ เพื่อให้ผู้ส่งออกลดผลกระทบเหล่านี้ลงบ้าง และยังคงอยากให้ภาครัฐมาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนไปมาก และขอยืดระยะเวลาการขึ้นค่าแรงงานไป 1 ปี ก่อนขยายเวลามาตรการลดหย่อนภาษีเอสเอ็มอี 1.15 เท่า ออกไปเป็น 2 ปี จากเดิมจะมีผลถึงแค่สิ้นปีนี้ และควรขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่นำเข้าเครื่องจักรและนำระบบดิจิทัลมาปรับปรุงธุรกิจเป็นเวลา 5 ปี ตลอดจนลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงควรลดเงินสมทบที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้ประกันสังคมจาก 5% เหลือ 1-3% และที่สำคัญ คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะต้องสอดคล้องกับทักษะแรงงาน โดยมีใบประกาศรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานรองรับอีกด้วย