วิถีอินทรีย์ไทย..สู่โกลบอล

วิถีอินทรีย์ไทย..สู่โกลบอล

เกษตรอินทรีย์ หรือตลาดออแกนิค เป็นเทรนด์โลกที่กำลังหมุนมาหาไทยมากขึ้น แต่การจะปลุกเกษตรอินทรีย์ให้ยั่งยืนได้นั้น ต้องมาจาการรวมกลุ่ม วางแผนผลิต พัฒนาระบบ และสร้างตลาดที่แข็งแกร่งจากภายใน อย่างหมู่บ้านยางแดง

เกษตรอินทรีย์ และเทรนด์รักสุขภาพ เป็นกระแสโลกที่ภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ภาคประชาชน สังคม เอกชน และภาครัฐต่างมองเห็นโอกาสการทำธุรกิจที่บนระบบนิเวศน์ที่เกื้อกูนกับธรรมชาติ ขณะที่ผู้บริโภคมีสุขภาพดี

หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ปี พ.ศ.2560-2564) กุญแจการเติบโตยั่งยืน จึงต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับที่ 2 เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ 6 แสนไร่ ภายในปี 2564 จากปัจจุบันที่มี 2 แสนไร่

พูลเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์กว่า 500 ราย พัฒนามายาวนานกว่า 18 ปี (ตั้งแต่ปี 2542) เริ่มต้น ในยุคที่ตลาดยังขาดการตระหนักรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรสนใจปลูกพืชเชิงเดี่ยวขายผลผลิตเข้ากระเป๋าได้รวดเร็ว แม้ว่าเกษตรอินทรีย์จะเริ่มบรรจุในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่8 (ตั้งแต่ปี 2540-2544 )แต่ก็ยังขาดรูปธรรมในการดำเนินการ

ขณะที่พูลเพ็ชร สาวเอ็นจีโอขับเคลื่อนเกษตรยั่งยืน ผ่านโครงการปฏิรูปการเกษตรและชนบทปีแรกของการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ รวมกลุ่มสมาชิก 45 คน หาตลาดด้วยการส่งออก โดยมีแรงจูงใจคือ ราคาที่สูงกว่าการขายพืชผลในท้องตลาด

เริ่มต้นปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง ในปีแรก และค่อยๆ ขยายเป็นการปลูกเครื่องปรุงในสวนครัว เช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียน และค่อยขยายตลาดในประเทศ ไปสู่ตลาดต่างประเทศ

“ยุคเริ่มต้นค่อนข้างยาก แต่เมื่อเห็นผล มีตลาดชัดเจนในต่างประเทศ และราคาดีก็ได้แรงจูงใจ คู่แข่งไม่มาก ได้ราคาก็ดี ทำให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงเริ่มเห็นพิษภัยของการใช้เคมีที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่แรกๆ ต้องลงทะเบียนเพื่อทำฐานข้อมูล และปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้พร้อม”

สิ่งที่ทำให้หมู่บ้านยางแดง เป็นหมู่บ้านมีพัฒนาการล้ำหน้าตลาด และภาคเอกชน โดยไม่ต้องรอการพึ่งพาของภาครัฐในด้านการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะมีระบบรวมกลุ่ม ที่มองเห็นผลประโยชน์เป็นรูปธรรมชัดเจน ของกสิกรรมทางเลือกที่เริ่มต้นจาการปลดเปลื้องภาระให้ชุมชน เกิดการเรียนรู้พึ่งพาตัวเอง หลังจากนั้นจึงเรียนรู้การพัฒนามาตรฐานสากลเพื่อการส่งออก เช่น ระบบที่พัฒนาขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ เพื่อให้บริการรับรองระบบงานแก่หน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ เพื่อทำหน้าที่ในการให้บริการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ (IFOAM), สหภาพยุโรป และแคนาดา”

บ้านยางแดงเริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มียอดสมาชิก และยอดขาย รวมถึงเครือข่ายการทำตลาดที่เพิ่มขึ้นมาจากกระแส ของการพลังภาคประชาชน รวมกันกับภาคประชาสังคม เมื่อรวมกับกระแสการตื่นตัวของผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพ ตลาดเกษตรอินทรีย์จึงกว้างขึ้น

“พลังของภาคประชาชน และรูปธรรมที่เกิดขึ้นและมีการต่อยอด พัฒนาตลาดสีเขียว สร้างช่องทางตลาดที่หลากหลาย จนทำให้หน่วยงานภาครับเข้ามาเห็นพัฒนาการสร้างเป็นต้นแบบไปต่อยอด และขยายผล"

จากพื้นฐานการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ที่เริ่มต้นจากการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ทำให้เป็นหมู่บ้านที่เข้มแข็งเป็นต้นแบบด้านการส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ รวมถึงเครือข่ายสหกรณ์กรีนเนท ที่เป็นเครือข่ายเริ่มต้นเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในการพัฒนาตลาด

ปัจจุบันหมู่บ้านยางแดง มีการเติบโตขึ้นทุกปี รวมถึงมีการบริหารจัดการรูปแบบการทำงานที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการวางแผนการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรไปปลูกพืชที่ตลาดต้องการ มีความหลากหลาย รวมถึงสร้างช่องทางการตลาดในหลาย อาทิ ร้านสุขภาพ ตลาดค้าปลีก รวมถึงร้านอาหาร โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงทำให้มีอำนาจต่อรอง

“กลุ่มมีข้อมูลชัดเจนทั้งพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่มาลงทะเบียน และรู้ว่าควรปลูกพืชชนิดไหน ที่สามารถรู้ผลผลิตและความต้องการของตลาดซึ่งเป็นข้อมูลในการช่วยบริการจัดการตลาดในอนาคต จึงกำหนดรายได้”

ปัจจุบันเกษตรกรในเครือข่ายมีสัดส่วนกว่า 100 ราย ยอดขายผ่านกลุ่มวันละ 5-6 แสนบาท 

การเติบโตของหมู่บ้านยางแดง ไม่เพียงเป็นศูนย์กลางสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ยังวางแผนเป็นต้นแบบของการสร้างเครือข่ายในภาคตะวันออก 5-6 จังหวัด เพราะพื้นที่เหมาะสมในการเป็นแหล่งผลิตอาหารเกษตรอินทรีย์ที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยว โดยรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ หรือตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

พูลเพ็ชร มองว่านี่คือเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและมั่งคง และหล่อเลี้ยงสังคมเกษตรไทยที่นับว่าจะมีมูลค่าสูงทั้งการรักษาที่ดิน ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง ระบบนิเวศน์ยั่งยืนไม่เสื่อมโทรม มีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี หากเทียบกันกับการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการลงทุนแม้จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหลักแสนล้าน แต่ยังต้องมีการชดเชยด้านการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ 

“มูลค่าทางเศรษฐกิจจากเกษตรอินทรีย์ แม้ไม่เท่าอุตสาหกรรม แต่มีความมั่นคงในชีวิต ชีวิตชุมชนท้องถิ่น มีเครือข่ายรวมกลุ่มเกื้อกูลกัน ในอุตสาหกรรมหากโรงงานปิดตัว กลับไม่มีฐาน แต่หากเกษตรล้ม ยังพลิกได้เพราะมีฐานทุนเดิมอยู่”

บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน มองแนวทางการต่อยอดส่งเสริมหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ ซึ่งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์สนามชัย ที่ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านยางแดงแห่งนี้ ถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบเกษตรอินทรีย์แห่งที่ 8 ซึ่งการได้รับการส่งเสริมหมู่บ้านจะต้องมีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์มากกว่า 50%

“การจัดกิจกรรมปั่นในครั้งนี้ เพื่อเป็นการโปรโมทหมู่บ้านอินทรีย์แห่งนี้ ให้เป็นที่รู้จัก และต้องการที่จะดึงดูดให้คนเข้ามาท่องเที่ยว ถือเป็นการเริ่มต้นนโยบายการผลักดันให้หมู่บ้านอินทรีย์เป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของคนไทยที่มีใจรักสุขภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีแผนจะผลักดันหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ให้เป็นที่รู้จักต่อไป” บุณยฤทธิ์ เล่า 

กรมการค้าภายใน ยังมีแผนจะพัฒนาตลาดอินทรีย์ให้เข้มแข็ง นอกจากการพัฒนาด้านแหล่งผลิต ที่จะเปิดหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์เพิ่มอีก 4 แห่งรวมเป็น 12 แห่งภายในปี 2561 ยังเพิ่มช่องทางการการจำหน่าย หรือ เอาท์เล็ทเกษตรอินทรีย์ อีก 4 แห่ง จากเดิมมี 15 แห่งรวมเป็น 19 แห่ง

ขณะเดียวกัน ยังเชื่อมต่อกันกับตลาดต่างประเทศ โดยการจัดการแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ครั้งแรกในเมืองไทย ในรูปแบบใกล้เคียงกันกับงาน BIOFACH ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอินทรีย์นาชาติที่ใหญ่มีเครือข่ายกว้างขวางทีสุดในโลก เพราะได้ผู้ซื้อจากต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจจากทั่วโลก มาศึกษารูปแบบวิถีเกษตรอินทรีย์ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะผลักดันให้เกษตรอินทรีย์ไทยไปสู่สากล