‘โฮมไพร์ส’สร้าง‘รสนิยม’แต่งบ้านสวย

‘โฮมไพร์ส’สร้าง‘รสนิยม’แต่งบ้านสวย

ตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทย มียอดโอนกรรมสิทธิ์ปีละกว่า 1.5-1.7 แสนหน่วย ส่วนตลาดเฟอร์นิเจอร์มีมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านต่อปี ถือเป็นโอกาสเติบโตของธุรกิจตกแต่งบ้าน

พรชัย แสนชัยชนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมไพร์ส จำกัด กล่าวว่าจากจุดเริ่มต้นที่สนใจในเทคโนโลยีและการแต่งบ้าน  ทำให้ช่วง 3 ปีก่อนเริ่มศึกษารูปแบบการซื้อขายสินค้าผ่านมาร์เก็ตเพลสต่างๆ รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ จากนั้นได้รวมกลุ่มกับเพื่อนที่สนใจด้านเทคโนโลยีและดีไซเนอร์ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม โฮมไพร์ส (Homeprise) รูปแบบ “สตาร์ทอัพ” สร้างโมเดลธุรกิจ"แพลตฟอร์มกลาง" ของวงการตกแต่งบ้านและแหล่งรวมสินค้าเพื่อการแต่งบ้าน ที่ปัจจุบันยังไม่มีแพลตฟอร์มที่เป็นเซอร์วิส “ดีเอ็นเอ”ตกแต่งบ้าน ที่จะช่วยลูกค้าตกแต่งที่อยู่อาศัยมาก่อนในตลาด 

ที่ผ่านมาเชื่อว่าพฤติกรรมคนไทย เวลาแต่งบ้าน จะวิ่งไปงานแฟร์ต่างๆ เพื่อเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่เสนอราคาพิเศษมาแต่งบ้าน จากนั้นจะเป็นทฤษฎีตกแต่งบ้านแบบ “มิกซ์แอนด์มั่ว” แบบฉันเป็นฉันเอง เพราะไม่ต้องการจ้างคนออกแบบตกแต่ง ที่เป็นเช่นนั้นอาจจะมาจากปัจจัยเรื่อง “ค่าใช้จ่ายสูง”

การทำงานของโฮมไพร์ส จึงวางเป้าหมาย คือ ต้องการให้ทุกคนตกแต่งที่อยู่อาศัยได้ “สวย” ตามความต้องการ ด้วยค่าใช้จ่ายที่สามารถจ่ายได้ โดยไม่มีเพียงคนรวยเท่านั้นที่แต่งบ้านได้สวย โดยเชื่อว่า โฮมไพร์สสามารถสร้างความรู้ เรื่องการตกแต่งบ้านสวยผ่านแพลตฟอร์มกลาง ที่มีดีไซเนอร์ให้คำปรึกษา มีเฟอร์นิเจอร์หลากหลายให้เลือก

การพัฒนาแพลตฟอร์ม เริ่มจากการตั้งคำถามว่า หากทุกคนที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชน วงการตกแต่งบ้านใช้ชั่วโมงการทำงานลดลง ขณะที่ “เวลา” คือ “ต้นทุน” ดังนั้นเมื่อเวลาการทำงานลดลง “เงิน” หรือ “ต้นทุน” ก็จะลดลง เมื่อต้นทุนลดลง ก็จะมีโอกาสได้ “บ้านสวยขึ้น” จากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน 

หลักการการทำงานของโฮมไพร์ส  มองว่าหากทำให้การตกแต่งบ้านของทุกกลุ่มทำได้ง่าย ด้วยต้นทุนไม่สูง เป็นการสร้าง“รสนิยม” การแต่งบ้านสวย เช่นเดียวกับการตกแต่งบ้านในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ดูสวยงาม

ซึ่งจะเชื่อมโยงไปที่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ให้เติบโต จากรสนิยมการตกแต่งบ้านในแต่ละกลุ่ม เพราะทุกคน ไม่ได้ต้องการเพียงฟังก์ชันของเฟอร์นิเจอร์ แต่ต้องการ“รสนิยม”ที่ดูดี

การเลือกเฟอร์นิเจอร์จากความชอบ เมื่อใช้จึงเป็นฟังก์ชัน เพราะคำว่า “สวย” มากับฟังก์ชัน ที่ “เวิร์ค” และลงตัวแบบที่เรียกว่า “ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์”

“เราต้องการสร้างแพลตฟอร์ม ที่ช่วยสร้างรสนิยมตกแต่งบ้านของคนไทย ให้ทุกคนมีบ้านที่สวยในสไตล์ของแต่ละคน  โฮมไพร์ส "ไม่ได้ขายสินค้า แต่เราขายรสนิยมการอยู่อาศัยที่ดีและสวยงาม"

หลังจากเปิดแพลตฟอร์มโฮมไพร์ส ผ่านเว็บไซต์ ในปี 2560 มาปีนี้ได้พัฒนาสู่ แอพพลิเคชั่น ทั้ง ไอโอเอส และแอนดรอยด์  ด้วยเทคโนโลยี 3D Interactive ล่าสุด ทั้ง Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ครั้งแรกของการแต่งบ้านด้วยแอพพลิเคชั่นบนมือถือ 

โฮมไพร์ส ถือเป็น “มาร์เก็ตเพลส” ด้านเซอร์วิสที่ผสมผสานงานศิลปะ เพราะไม่ใช่ว่าใครต้องการเข้ามาค้าขายก็ได้  เพราะจะมี gatekeeper ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ ทำหน้าที่คัดเลือกสินค้าเข้าสู่แพลตฟอร์ม

โดยผู้ที่ต้องการแต่งบ้านหรือคอนโด สามารถใช้แพลตฟอร์ม ช่วยให้การแต่งบ้านง่ายและสวยขึ้น ด้วยงบประมาณที่ควบคุมได้จริง  โดยสามารถปรึกษาหรือว่าจ้างดีไซเนอร์ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกโฮมไพร์สให้ออกแบบและตกแต่งที่อยู่อาศัยได้ตลอดเวลา พร้อมเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มที่จะให้บริการส่งสินค้าและติดตั้ง 

ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านทั่วประเทศ โดยเฉพาะ เอสเอ็มอี  จะมีช่องทางใหม่ในการขายสินค้าในยุคอีคอมเมิร์ซ เป็นเครื่องมือทางการตลาด ที่เข้าถึงลูกค้าได้ 24 ชั่วโมง  ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลหน้าร้าน หรือออกร้านแบบเดิมๆ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าตัวจริงมากขึ้น

ดีไซเนอร์ นักออกแบบ และมืออาชีพทุกสาขาที่เกี่ยวกับบ้าน โฮมไพร์สได้คิดค้นเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ Cloud Design Technology ช่วยการออกแบบโดยเฉพาะจากทุกสถานที่  ทำให้ทำงานออกแบบได้สะดวกรวดเร็วขึ้น มีระบบฐานข้อมูลสินค้าที่ผลิตจำหน่ายจริง ส่งมอบได้จริง ทำให้การสเปคสินค้าหรือออกแบบมีความแม่นยำขึ้น ลดเวลาแก้ไขงานจากการหาสินค้าตามไอเดียที่ออกแบบไปแล้วไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นช่องทางใหม่ในการเข้าถึงลูกค้าที่ต้องการมืออาชีพในการออกแบบได้อย่างแท้จริง  

“โฮมไพร์ส ต้องการเป็นแพลตฟอร์ม สนับสนุนผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ ทั้ง เอสเอ็มอี แบรนด์เล็ก แบรนด์ใหม่ เข้าสู่สนามแข่งดิจิทัล ได้อย่างทัดเทียมและมีโอกาสไปสู่ระดับโลก”

พรชัย ย้ำว่าวันนี้การทำงานควรมาไกลกว่าคำว่าทำธุรกิจแล้วได้กำไร แต่ควรสร้าง“แวลู”ให้อุตสาหกรรม  สนับสนุนเอสเอ็มอีและแบรนด์ไทย ให้มีช่องทางขายออนไลน์แข่งกับระดับโลกได้ และพิสูจน์ว่าคนไทยพัฒนาเทคโนโลยีได้ 

มักมีคนพูดว่า “คนไทย”คิดเทคโนโลยีไม่ได้ เป็นได้แค่ “ผู้ใช้”เทคโนโลยี ถือเป็นแรงกระตุ้น ในการพัฒนาโฮมไพร์ส มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นครีเอเตอร์ เทคโนโลยี ที่มาจากคนไทย และวางเป้าหมายขยายสู่ตลาดเอเชียหลังจากนี้