กูรูชี้5ปี“รถไฟฟ้า-ท่องเที่ยว”ดันกรุงเทพฯขึ้น“เมกะซิตี้"

กูรูชี้5ปี“รถไฟฟ้า-ท่องเที่ยว”ดันกรุงเทพฯขึ้น“เมกะซิตี้"

นักการตลาดจับตากรุงเทพฯ ยกระดับเมือง เชื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้า โรงแรมชั้นนำ เสริมความแข็งแกร่งขึ้นแท่น “เมกะซิตี้” เทียบมหานครโลกใน 5 ปี ระบุโครงการรถไฟฟ้า 464 กม.จ่อแซงนิวยอร์ก ลอนดอน ยกระดับท่องเที่ยว

หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) และ ซีไนน์โฮเทลเวิร์คส์บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ จัดเสวนาด้านการท่องเที่ยว “ไทยแลนด์ทัวริสซึ่มฟอรั่ม 2018”  ครั้งที่ 7 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นภายใต้หัวข้อมหานครกรุงเทพฯ...อนาคตแห่งเมืองล้ำสมัยของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว (MEGACITY BANGKOK– A Tourism and Hotel Futurescape)

โครงข่ายรถไฟฟ้ายกระดับท่องเที่ยว

นายบิล บาร์เน็ตต์ กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์โฮเทล เวิร์คส์ กล่าวว่าการที่รัฐบาลประกาศปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย 2561 เป็นหนึ่งวาระที่จะช่วยตอกย้ำความสำคัญด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะจุดศูนย์กลางสำคัญในการเชื่อมต่ออย่าง “กรุงเทพฯ” ให้ขึ้นชั้นเป็นเมกะซิตี้หรือมหานครเทียบชั้นกับเมืองใหญ่ระดับโลก เช่น ลอนดอน,นิวยอร์ก และโตเกียวได้แน่นอนภายในระยะ5ปีต่อไปนี้

เหตุผลสนับสนุนมี 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นตามแผนจะมีระยะทางรวมกันกว่า 464 กม. มากกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงลอนดอนที่มีความยาว 402 กม. และนิวยอร์ก 380 กม. เป็นความยาวอันดับ 3 ของโลกด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการเดินทางครอบคลุมทั้งเมืองได้สะดวกและเอื้อต่อการเติบโตของปัจจัยที่ 2 ได้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่มีการพัฒนาของผู้ประกอบการเป็นจุดหมายดึงดูดทุกแบรนด์ชั้นนำของโลกเข้ามาและทำให้ท่องเที่ยวมีบทบาทในการยกระดับเศรษฐกิจของเมืองมากขึ้น

“ต้องจับตาการพัฒนาระบบขนส่งของไทยที่มีหลายโครงการใหญ่ที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกด้านการเชื่อมต่อ เช่น สถานีบางซื่อที่เมื่อแล้วเสร็จเต็มรูปแบบในอีก 2-3 ปี จะเป็นสถานีเทอร์มินัลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน”

“แสนสิริ”ดึงโรงแรมหรูเข้าไทย

นายอภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหลังจากที่บริษัทเติบโตในด้านอสังหาริมทรัพย์มานานและชิมลางตลาดโรงแรมในฐานะส่วนเสริมของโครงการที่อยู่อาศัยด้วยโครงการโรงแรมขนาดเล็กเพียง 2 แห่ง ที่หัวหินและเขาใหญ่ แต่ในปีนี้บริษัทจะเริ่มขยายธุรกิจโรงแรมเต็มรูปแบบหลังจากลงทุน 58 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,848 ล้านบาท ถือหุ้น 35% ใน 4 กลุ่มธุรกิจของสแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโรงแรมเดอะ สแตนดาร์ด ที่เป็นบูติคแบรนด์ระดับโลกที่มีชื่อเสียงในสหรัฐ เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีศักยภาพในการเติบโตในเอเชียและเหมาะสำหรับการนำมาเริ่มต้นในการรุกธุรกิจโรงแรมของกลุ่มแสนสิริ

ตามแผนการลงทุนคาดว่าจะเปิดตัวโรงแรมดังกล่าวในกรุงเทพฯ เร็วๆ นี้ รวมถึงจะนำแบรนด์ขยายไปรับบริหารทั่วเอเชียแปซิฟิก

การลงทุนครั้งนี้จะแตกต่างจากรูปแบบการลงทุนของโรงแรมอื่นๆ คือไม่เน้นการเปิดโรงแรมเองและจ้างเชนมาบริหาร แต่มองขั้นที่ใหญ่ขึ้นคือเข้าไปร่วมเป็นเจ้าของกิจการแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลและมีความสามารถในการทำตลาด ร่วมมือกันนำแบรนด์มาขยายในรูปแบบรับบริหารและเก็บรายได้เหล่านั้นเองแทนที่จะต้องจ่ายให้เชน เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของแสนสิริที่จะนำการพัฒนาธุรกิจที่ดีของฝั่งอเมริกามาเติบโตและใช้ประโยชน์ต่อธุรกิจในเอเชียมากขึ้น

มั่นใจโรงแรมชั้นนำช่วยพลิกโฉมกรุงเทพ

“การร่วมมือครั้งนี้เพราะรู้จักกันกับกลุ่มนี้มาก่อน อีกทั้งเดอะ สแตนดาร์ดถือเป็นโรงแรมที่มีอิทธิพลสูงมาก มีสาขาอยู่แล้วที่นิวยอร์ก, ลอสแองเจลิสและไมอามีในสหรัฐ และกำลังจะเปิดตัวที่ลอนดอน หลังจากลอนดอนก็จะมาที่กรุงเทพฯ เลย เห็นได้ว่าการที่เมืองหลวงของไทยเป็นจุดหมายโรงแรมชั้นนำจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยพลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้ก้าวเทียบชั้นมหานครอื่นๆได้”

นายอภิชาติ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าที่ผ่านมาระบบคมนาคมของไทยยังล่าช้าแต่ด้วยแผนที่วางไว้มั่นใจว่าจะทำให้เกิดการเครือข่ายที่ใช้งานได้ในอนาคตซึ่งข้อดีคือการครอบคลุมทั้งในเมืองไปจนถึงปริมณฑลบริเวณนนทบุรี,ปทุมธานี,สมุทรปราการได้ทั้งหมด

ส่วนภาวะห้องพักโรงแรมที่มีปัญหาล้นตลาดในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ นั้น  โดยส่วนตัวเชื่อว่าบางทำเลที่ร้อนแรงและมีปัจจัยที่เป็นจุดแข็งของตัวเองก็จะยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่อเนื่องและสามารถทำราคาได้ดี เช่น ทองหล่อซึ่งมีชุมชนของชาวต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก อัตราราคาห้องพักเฉลี่ยจึงค่อนข้างสูง จัดเป็นอีกหนึ่งทำเลที่มีความน่าสนใจ

ชี้ราคาห้องพักเพิ่มยกเว้นย่านสุขุมวิท

ด้านนายแจสเปอร์ ปาล์มควิส ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เอสทีอาร์ โกลบอล สถาบันรายงานสถิติโรงแรมทั่วโลก กล่าวว่า ปี 2560 ธุรกิจโรงแรมของกรุงเทพฯ เติบโตสอดคล้องกับตลาดในเอเชียแปซิฟิกที่ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดีหมดทุกแห่งยกเว้นตลาดที่ชะลอไป 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และเกาหลีใต้

ทั้งนี้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPar) ในกรุงเทพฯ เติบโต 4.6% ในปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้หากเจาะลึกเฉพาะทำเลจะพบว่าบางแห่งยังคงมีปัญหาโดยเฉพาะสุขุมวิทใจกลางเมืองซึ่งมีปัจจัยกดดันจากภาวะห้องพักล้นตลาดทำให้ผลการดำเนินงานไม่ดีเท่าในพื้นที่อื่นๆ เช่นปทุมวัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในภาพรวมเชื่อว่าด้วยการเติบโตของท่องเที่ยวของไทยอย่างสม่ำเสมอในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 2-3 ปีหลังที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจะช่วยส่งให้ธุรกิจโรงในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโอกาสการพัฒนาที่น่าจับตามองคือการพัฒนาที่พักตามแนวต่อขยายของรถไฟฟ้า ขณะที่เซกเมนต์ที่มีโอกาสได้แก่กลุ่มโรงแรมระดับกลาง (Midscale) และระดับกลางบน (Upper Midscale) รวมถึงโรงแรมบูติคที่มีขนาดใหญ่

สำหรับการปรับปรุงที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญเพิ่มเติมคือระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่อำนวยความสะดวกต่อการท่องเที่ยวและหน่วยงานภาครัฐควรประสานกับเอกชนเพื่อพัฒนาตลาดร่วมกันซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวแข็งแกร่งมากขึ้น