พลิก Pain point รบชนะธุรกิจยุค 4.0

พลิก Pain point รบชนะธุรกิจยุค 4.0

ปีแห่งการช่วงชิงความได้เปรียบ จากเทคโนโลยีสร้างแต้มต่อธุรกิจ ทำให้คนตัวเล็กใช่ว่าจะชนะไม่ได้ ขอเพียงแปลงจุดเจ็บปวด (Pain Point) ผู้บริโภค เป็นโอกาสธุรกิจ ในสมรภูมิค้า ที่ต้องก้าวให้ทัน “ออนไลน์-บิ๊กดาต้า-เอไอ” ยิงตรงใจลูกค้า 

ปี 2561 เป็นปีที่มีแรงส่งจากนโยบายภาครัฐ ในการเดินหน้าโครงการอินเตอร์เน็ทประชารัฐ หรือโครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในไทย ที่มีอยู่ราว 74,965 หมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายจะติดตั้งครบในกลางปี 2561 นั่นหมายถึง การเข้าถึงโอกาสของคนไทย ทั้งด้านการเรียนรู้ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ อยู่บนพื้นฐานใช้อินเตอร์เน็ทเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่ยุคพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี ตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

รอยต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ประกอบกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ของรัฐ เป็นเหมือนใบเบิกทางสร้างธุรกิจให้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่ กลาง เล็ก หรือสตาร์ทอัพ จะต้องจับชีพจรธุรกิจจากเทรนด์ร้อน รวมไปถึงจุดเจ็บปวด (Pain Point) ของผู้คนในยุคนี้ได้อยู่หมัด หากยังคิดธุรกิจใหม่แล้วเพิ่มภาระให้มนุษย์ยุคดิจิทัลแล้ว ธุรกิจก็จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลังในไม่ช้า

ปฤณ จำเริญพานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล กรรมการ บริษัท อินดัสเตรียลรีโวลูชั่น จำกัด มองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ว่า รักความสะดวกสบาย สิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อน เข้าถึงยาก ใช้เวลา จะขอบาย นั่นเพราะพวกเขาเจ็บปวดกับเรื่องพวกนี้มามาก จากธุรกิจยุคเก่า 

ดังนั้น ธุรกิจที่หวังจะรบชนะในยุคนี้จึงต้องออกแบบธุรกิจด้วยความเข้าใจลูกค้า ปลดล็อกปัญหาของลูกค้า เรื่องยุ่งยากซับซ้อน ด้วยไอเดีย ผสมกับเทคโนโลยี ทำให้ชีวิตที่เคยยุ่งเหยิงให้ง่ายดายมากขึ้น 

เขายกตัวอย่างธุรกิจที่แจ้งเกิดในยุคนี้ล้วนตีแตกประเด็นปัญหาเล็กๆไปจนถึงใหญ่ของผู้คน ให้กลายเป็นธุรกิจใหญ่ได้ เช่น แอพลิเคชั่นบริการขนส่งสาธารณะ แบรนด์อูเบอร์ (Uber) แกร๊บ (Grab)

และที่เกิดขึ้น หรือล่าสุดกับการคิดค้นแอพพลิเคชั่นแม่บ้านออนไลน์ “BeNeat” จับคู่คนทำความสะอาดบ้าน กับเจ้าของบ้านที่ต้องการแม่บ้านเข้ามาปัดกวาดเช็ดถู ในวันที่คนงานต่างด้าวลากลับบ้าน คนใช้หายากขึ้น แอพพลิเคชั่นนี้จึงคิดขึ้นมาจัดการปัญหาในชีวิตประจำวันให้เป็นเรื่องง่าย

แอพนี้จะจ้างแม่บ้านทั้งเป็นรายชั่วโมงและรายวัน แก้ปัญหาแม่บ้านลากลับบ้านแล้วหายไปเลย นี่คือธุรกิจที่คิดขึ้นมาจากการเข้าใจความยุ่งยากของเจ้าของบ้านเมื่อเราต้องขาดคนทำความสะอาดบ้าน

ปฤณ ยังจับจุดได้ว่า ธุรกิจยุคนี้ล้วนเป็นธุรกิจที่เกิดจากการจับคู่ "ดีมานด์" หรือความต้องการ ให้มาพบกับ "ซัพพลาย หรือผู้ผลิตสินค้าและบริการให้มาเจอกัน โมเดลธุรกิจใหม่ๆจะเกิดขึ้นจากการทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ดึงดีมานด์และซัพพลายมาเจอกัน โดยที่ธุรกิจไม่ต้องเป็นเจ้าของทรัพยากรใดๆ (Resource) เช่น อูเบอร์  แกร็บ ไม่ได้เป็นเจ้าของรถแท็กซี่ , แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ก็ไม่ต้องเป็นเจ้าของโรงแรมสักแห่ง แต่ก็เปิดบริการให้เช่าห้องพักได้ทั่วทุกมุมโลก 

อีกยกตัวอย่าง คือการจัดหาช่างซ่อมภายในบ้าน เมื่อมีปัญหาน้ำ ไฟ และอุปกรณ์ในบ้านเสีย โดยที่เจ้าของไม่รู้แหล่งจัดหาอุปกรณ์ กลายเป็นการเกิดขึ้นของแอพพลิเคชั่นนี้ โดยขอเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหา

โมเดลธุรกิจเหล่านี้ล้วนคิดมาจากการการแปลง “ปมปัญหา” มาเป็น โอกาส” ของเหล่าสตาร์ทอัพหัวใส ตอบโจทย์ยุคผู้บริโภคยุคนี้ แน่นอนธุรกิจเก่าที่ไม่ตอบโจทย์ ไม่นานก็จะถูกธุรกิจใหม่ไอเดียเจ๋งกว่าแทนที่ 

ขณะที่เทรนด์ธุรกิจอื่นๆ ที่กำลังเข้ามาก็ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence -AI) แรงงานบางส่วนที่ทำอะไรทำซ้ำ อย่างระบบสายพานการผลิต จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ,เทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ที่จะมีผลทำให้การเบิกจ่าย โอน ถอนเงิน หรือทำธุรกรรมด้านต่างๆ ไม่ต้องใช้คนอยู่หน้าเคาท์เตอร์ แต่จะใช้ระบบอัตโนมัติแทนที่ เมื่อปัญหาด้านธุรกรรมการเงินหมดไปใช้เครื่องมือช่วยได้ พนักงานและสาขาจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ที่เอไอทำไม่ได้

เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ หลายสาขาเริ่มปรับตัว รุกสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) จากการให้บริการทางการเงิน มาสู่การทำหน้าที่ เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ โดยมีพนักงานไม่กี่คนประจำ แต่มีตู้ฝากถอนเงินนับสิบตู้ มีกลุ่มผู้ประกอบการที่เริ่มต้นพัฒนาธุรกิจหิ้วกระเป๋าโน้ตบุ๊คเข้ามายังธนาคาร เพื่อพบกับผู้เชี่ยวชาญทางการเงินที่คอยให้คำแนะนำ  เป็นต้น 

ขณะที่การการพัฒนากลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ประการหนึ่งที่สำคัญคือ การใช้ประโยชน์จากการเหมืองข้อมูลมากมายมหาศาล (Big Data) ด้วยการวิเคราะห์พฤิตกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เจาะลงไปให้ลึกถึงระดับ“รสนิยม” เพื่อสร้างความพิเศษเอาใจผู้บริโภคในยุคนี้ กุญแจสำคัญคือการใช้ข้อมูลจากลูกค้า ทำให้เกิดประโยชน์ในการบริการ สร้างความประทับใจ ไม่เพียงให้ลูกค้าซื้อซ้ำแต่ต้องบอกต่อ รวมถึงสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

ปัจจุบันไม่มีคำว่าตลาดคนทั่วไป (Mass) แต่เป็นยุคของการผลิตเพื่อลูกค้าเฉพาะคน (Customize) ! เขาเผย

หมดยุคของการตลาดแบบหว่าน สินค้าจะต้องผลิตมาเพื่อลูกค้าเฉพาะ คนไม่ใช่เพื่อทุกคน แต่ผลิตตามความต้องการ (On-demand) เมื่อก่อนผลิตเสื้อหนึ่งสีเดียวเป็นพันเป็นหมื่นตัวจึงคุ้มค่า แต่ปัจจุบันมีเครื่องพรินท์แบบสั่งทีละ5-10 ตัวสีลายต่างกันให้เลือก” เขาอธิบายและว่าระบบคัสตอมไมซ์ ยังเป็นการตอบโจทย์แจ้งเกิดบริษัทย่อยๆมากมาย 

อีกกรณีศึกษาคือการปรับตัวของคอนวี่เนี่ยน สโตร์ ที่มีสาขามากที่สุดในไทยอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) ที่ไม่มองตัวเองเป็นแค่ร้านค้าปลีกที่จัดหาสินค้าให้ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ได้พัฒนาบทบาทเป็นศูนย์กลางเชื่อมสาขาและเชื่อมบริการชุมชน (Hub) โดยใช้ประโยชน์จากสาขาที่ตัวเองมี ไปเชื่อมต่อกับร้านสาขาทั่วประเทศ เช่น บริการของสาขาแจ้งวัฒนา คือการให้เช่ารถจักรยานจากสาขาหนึ่ง ไปจอดคืนอีกสาขาหนึ่งของเซเว่นฯ แล้วค่อยจ่ายเงิน

การตลาดในยุคหน้าการสื่อสารและการเก็บลูกค้าเก่ายังเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องสร้างความจงรักภักดี (Brand Loyalty) ให้กับทั้งตัวสินค้าและแบรนด์ เพราะลูกค้าที่รักในแบรนด์จะซื้อซ้ำแล้วทำหน้าที่บอกต่อสินค้าผ่านการรีวิว หรือลงโพสต์ผ่านโซเชียลมิเดีย เขาย้ำ เพราะในยุคที่ลูกค้าไม่เชื่อแบรนด์ ดังนั้นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อจะเชื่อลูกค้าด้วยกันมากกว่าแบรนด์ ลูกค้าเก่าจึงเป็นทั้งลูกค้าและคนบอกต่อที่ต้องรักษาโดยการทำกลยุทธการตลาดต่อเนื่อง (Re-Marketing)

ลูกค้าเก่ามีความสำคัญอย่างสูง เราจึงต้องเก็บฐานข้อมูลลูกค้าเก่าไว้เพราะลูกค้าคือผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินดึงลูกค้าใหม่ การเก็บข้อมูลชื่อ เบอร์โทรจึงมีความหมายที่จะไปพัฒนากลยุทธ์การตลาด และสื่อสารกับลูกค้าต่อเนื่อง

ทว่า ช่องทางการสื่อสารที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่สุดขณะนี้ ยังคงให้น้ำหนักกับการสื่อผ่านโลกโซเชียล เพราะคนไทยใช้เวลาอยู่กับกับอินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน เฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง และสื่อที่ใช้สูงสุดคือเฟซบุ๊ค

อย่างไรก็ตาม แม้คนไทยจะใช้เวลาอยู่บนเฟซบุ๊คมาก แต่วันเนื้อหาที่ปรากฏต่อผู้บริโภคจะต้องมีคุณภาพมากขึ้น ข่าวลวง ข่าวปล่อยเมื่อคลิ๊กเข้าไปแล้วไม่มีเนื้อหาอะไร มีแต่โฆษณาจะถูกระบบโปรแกรมบิ๊กดาต้ากรองมากขึ้น ดังนั้นเนื้อหาที่สร้างกระแส แชร์จำนวนมาก (Viral) แต่ไม่มีสาระ ไม่สร้างสรรค์จะเริ่มค่อยๆ ถูกตัดออกไป โดยระบบประมวลผลอัจฉริยะของเฟซบุ๊ค

ขณะที่กลยุทธ์การนำเสนอเนื้อหา จึงต้องพัฒนาให้มีคุณภาพ ผู้บริโภคยุคนี้ชอบแบรนด์ที่จริงใจ ไม่มีโปรแรง ขายฝัน ผู้บริโภคจะเลือกรักแบรนด์ที่จริงใจและตรงกับจริตของพวกเขา

นอกจากนี้ การค้าขายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ จะทิ้งช่องทางใดช่องทางหนึ่งไปไม่ได้ แต่ควรจะพัฒนาสนับสนุนเกื้อกูลไปพร้อมกัน เพราะมีความสำคัญแตกต่างกันไป

ผู้ประกอบการไม่ควรจะทิ้งเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งหน้าร้านแบบเดิม

------------------------------

ส่องเทรนด์โลกถึงเทรนด์ไทย

นุวีร์ เลิศบรรณพงษ์ หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์และนวัตกรรมดิจิทัล บริษัท มายด์แชร์เอเยนซี่ เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสารในเครือ WPP เล่าถึงเทรนด์การใช้ชีวิตนำเทรนด์ที่มหานครนิวยอร์ค ซึ่งมักจะหมุนมาปรากฏในไทยในอีกไม่กี่ปีต่อมา โดยสิ่งที่กำลังนิยมในนิวยอร์คในปัจจุบัน ประกอบด้วย

เทรนด์ สุขภาพ (Health)แบบจริงๆจัง ใส่ใจรายละเอียด ดูแลทุกกระบวนการ ต้องบริโภคอาหารอินทรีย์ ปลอดสารพิษ (Organic) ไร้สารพิษ เคมีเจือปน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมถึงแพ็คเกจจิ้ง เขาเล่าถึงร้าน โฮล์ฟู้ด มาร์เก็ต (Whole Food Market) ที่มีสินค้าอาหารออแกนิคทั้งร้าน ทั้งผัก จนถึงเนื้อสัตว์ เริ่มต้นตั้งแต่ ฟาร์มแพ็คแบบซีลไม่ให้อากาศเล็ดลอด ทำให้เสียคุณค่าและประโยชน์ ไม่ใช่เหมือนเมืองไทยที่เป็นเนื้อออแกนิค แต่แพ็คบนกล่องโฟม แล้วพลาสติกซีลให้อากาศเข้าไปได้ คุณค่าทางโภชนาการก็หายหมด

นี่คือความแตกต่างของออแกนิคที่ไม่ใช่แค่เปลือก แต่เป็นคุณค่าแท้ๆ ที่จะละเอียดเข้าไปอีก เพื่อตอบโจทย์กระแสตื่นตัวด้านสุขภาพที่มีกันทั้งโลก

มีร้านอาหารและร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่งที่ไม่ใช่เพียงร้านกาแฟ คู่กับเบเกอรี่ ที่ไม่ใช่เพื่อสุขภาพแท้จริง ร้านกาแฟแห่งนี้ มีเมล็ดกาแฟออแกนิค ส่วนอาหารก็เป็นพืชผัก น้ำปั่นออแกนิคที่ให้เลือกกินตามกรุ๊ปเลือด จึงสอดคล้องกันกับความต้องการของร่างกายมนุษย์ที่แตกต่างกัน

เทรนด์สร้างตัวตน (Personal Brand) ที่นิวยอร์ค มีความต้องการดูดีแบบมีสไตล์ ไม่ซ้ำกัน เทรนด์เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ สินค้าและการดำเนินชีวิตต่างๆ ก็ออกแบบมาให้เฉพาะลูกค้าคนเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะคนนิวยอร์ค เป็นต้นแบบของความมีอัตลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ชอบออกแบบสิ่งที่ใช้แบบทำขึ้นมาให้กับลูกค้าเพียงคนเดียว สั่งตัดเพื่อลูกค้าคนนั้นเฉพาะ (Tailor Made)

แบรนด์เนมในมหานครนิวยอร์ค จึงมีหลายร้านที่ไม่ทำสินค้ามาวางให้ลูกค้าเลือกเพียงอย่างเดียว แต่มีมุมเฉพาะสำหรับสร้างสรรค์เอง แม้แต่แบรนด์กีฬายอดนิยมอย่าง ไนกี้ (Nike) ยังต้องเปิดช็อปสาขาในนิวยอร์ค โดยการมีมุมรองเท้าที่ให้แบบพื้นสีขาวไว้ เพื่อให้ลูกค้าไปออกแบบลงคอมพิวเตอร์ดีไซน์ ว่าอยากได้ลายไหนแบบไหน หรือชอบเพนท์เอง เพื่อให้โดนใจ อารมณ์ศิลปินในตัวคนนิวยอร์ค

หรือหากไม่โดนใจก็จะมีความพิเศษมีทางเลือก ให้ดีไซน์เนอร์ระดับมีชื่อเสียงระดับโลก มาออกแบบรองเท้าที่เป็นตัวลูกค้าก็ยังได้

อุตสาหกรรมรองเท้าในนิวยอร์ค เริ่มมีให้ออกแบบเอง ล่าสุดไนกี้เปิดร้านได้ 2-3 เดือน ตอบโจทย์คนในนิวยอร์คมีความเป็นศิลปินในตัว จึงให้ศิลปินมีชื่อเสียง หรือ ออกแบบเองเพื่อให้คนได้ใส่ศิลปินเดินได้ แบบมีคู่เดียวในโลก คนมารอต่อคิวยาวข้ามปีกันเลย เพราะคนไม่ชอบของโหล ใส่แล้วซ้ำ

เทรนด์นี้ยังแตกต่างจากเมืองไทยที่ยังตามเทรนด์แต่งตัวตามเกาหลี ญี่ปุ่น แต่เริ่มมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้น แต่ในไม่ช้าเทรนด์เหล่านี้อาจจะหันมาหาไทย ดังนั้นใครคิดได้ก่อนก็ย่อมนำเทรนด์ธุรกิจ คว้าตลาดได้ก่อน

อีกหนึ่งกรณีศึกษาอีกร้านคือ ร้านกาแฟ เฟรส โรส คอฟฟี่ (Fresh Roasted Coffee) มีกาแฟให้เลือกเป็นนับร้อยสายพันธุ์ โดยคอกาแฟสามารถเข้าไปน้านแล้วเลือกชนิดกาแฟมามิกซ์และแมทกันตามใจลูกค้า แต่ละชนิดจะมีเรื่องราว ที่มาของกาแฟที่มาจากแหล่งปลูกออแกนิคที่แตกต่างกัน อาทิ เคนย่า บราซิล เปอร์โตริโก เสน่ห์อยู่ตรงกันเดินเลือกกาแฟ และได้รู้เรื่องราว เมื่อชงรวมกันแล้วก็จะเป็นรสเดียวสำหรับลูกค้าคนนั้นเฉพาะ สนนราคาแก้วละ 450 บาท แม้ราคาจะสูง แต่คุณค่าอยู่ตรงที่คนเสพกาแฟได้ดื่มด่ำกาแฟเฉพาะรสชาติสำหรับเขาเพียงคนเดียว

เทรนด์การอ่านหนังสือ (Read) น่าแปลกในเมืองที่เทคโนโลยีล้ำโลก มีไอแพท ไอโฟน จอทัชสกรีนเกิดขึ้นมากมาย แต่กระแสตีกลับการถือหนังสือกลับเริ่มบูมในนิวยอร์ค เพราะหนังสือยังมีคุณค่าและไม่มีวันตาย เพราะไม่ทำลายสุขภาพสายตา คนถือหนังสือจึงมีความชิคในตัว ร้านหนังสือจึงแน่นขนัดไปด้วยคนตลอดเวลา เพราะเมืองนี้ปลูกฝังให้เป็นสังคมรักการอ่าน นอกจากหนังสือขายดีแล้ว ยังเกิดนักเขียนมือใหม่ หนังสือทำมือพิมพ์น้อยชิ้น 100-200 เล่ม อยู่มากมาย เมื่ออ่านเสร็จก็มีมุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของแต่ละคน

นี่คือความฟินที่เกิดขึ้นบนสังคมคนรักการอ่านกลางมหานครสุดล้ำแห่งนี้

ทว่า เทรนด์นี้ยังไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นกับไทยหรือไม่ เพราะอัตราการปลูกฝังให้คนไทยรักการอ่านยังน้อย ต้องเริ่มต้นจากระบบการศึกษาที่เปลี่ยนหนังสือวิชาการ ประวัติศาสตร์ สังคม ที่เคยเป็นเรื่องน่าเบื่อให้เป็นการ์ตูนเรื่องราวน่าอ่าน เชื้อเชิญให้เยาวชนไทยเริ่มต้นหันมาอ่านหนังสือ หลังจากนั้นเยาวชนจึงรักการอ่านตามมา

--------------------------

ลับกระสุนสู้ศึกออนไลน์

ด้านภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม (Tarad.com) เว็บอี-คอมเมิร์ซ มาร์เก็ตเพลส มองเทรนด์การค้าเมืองไทยในปีนี้ว่า การค้าบนโลกออนไลน์มาเต็มมากขึ้นในบางสินค้าจะใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางหลัก เช่น สินค้าเครื่องสำอาง แฟชั่น อุปกรณ์ด้านไอที เพราะปัจจุบันการซื้อสินค้าไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ในห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว หากการเลือกสินค้าผ่านออนไลน์มีความสะดวกสบายมากขึ้น

เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารที่เริ่มเข้ามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ตั้งแต่การใช้เป็นช่องทางค้าขาย การสื่อสาร โปรโมทสินค้า การใช้จ่ายเงินโอนเงิน ต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบการชำระเงินออนไลน์ พร้อมเพย์ หรืออีเพย์เมนท์จึงจะขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น รวมไปถึงการจัดส่งสินค้า

“หากมีความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าชำระเงินง่าย สั่งซื้อปุ๊บ รับปั๊บ ผู้บริโภคก็เริ่มหันมาชอปปิงออนไลน์มากขึ้น จนหลายประเภทสินค้าได้กลายเป็นช่องทางหลัก ผู้ประกอบการจึงทิ้งออนไลน์ไม่ได้ ต้องเริ่มหันกลับมาพัฒนาอย่างจริงจัง ออนไลน์จึงคือทุกอย่างในบางประเภท หรือบางอุตสาหกรรม”

ทว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเตรียมตัวให้พร้อมทั้งอีมาร์เก็ตเพลส ที่เป็นคนไทย และผู้ประกอบการไทยต้องตั้งรับและมีกลยุทธ์เชิงรุก เพราะเริ่มมีผู้ค้าจากต่างชาติ โดยเฉพาะจีนเข้ามา ทั้งการชำระเงินผ่านอาลีเพย์ ติดตามนักท่องเที่ยวจีนมาไทย หรือการมีอีมาร์เก็ตเพลสต่างชาติที่ทุนหนานับพันบ้านเข้ามาเปิดในไทยที่มีหลักสิบล้านร้อยล้าน อาทิ ช้อปปี้ (Shopee) ,ลาซาด้า (Lazada)

แม้ตลาดกว้างขึ้นแต่คู่แข่งจากนอกประเทศก็มากขึ้นด้วย โดยตลาดดอทคอม กำลังเตรียมพร้อมปรับรูปแบบวิธีการ (Positioning) การค้าออนไลน์ให้แข่งขันได้

“เรากำลังสู้กับเงินทุนหลักพันล้านแต่คนไทยแค่หลักสิบล้านร้อยล้านเข้ามาท้ารบกับเรา จึงต้องมีการปรับตัว เพราะจะดึงคนเข้าไปซื้อสินค้าและช็อปปิ้งในเว็บเหล่านี้ หลังจากที่ทุ่มเงินงบประมาณทำตลาดโปรโมทจำนวนมาก จึงเริ่มดึงผู้ค้าคนไทยเข้าไปอยู่ในเว็บเหล่านี้มากขึ้น”