นักวิจัยแนะตั้ง'ศูนย์ปฏิบัติการคมนาคมแห่งชาติ' ลดอุบัติเหตุสูญ2แสนล้าน

นักวิจัยแนะตั้ง'ศูนย์ปฏิบัติการคมนาคมแห่งชาติ' ลดอุบัติเหตุสูญ2แสนล้าน

ชี้งานวิจัยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ มุมมองของผู้ปฏิบัติงาน พบข้อเสนอ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการคมนาคมแห่งชาติ ลดแชมป์อุบัติเหตุที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 2 แสนล้าน

 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ฝ่ายนโยบายชาติ และ ความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จัดการประชุมเวที สกว. (TRF Forum) เรื่อง “มาตรการในการลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจราจรในมุมมองของผู้ปฏิบัติงาน”นำเสนองานวิจัยพร้อมทั้งแนวทางในการลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจราจรในมุมมองของผู้ปฏิบัติงาน โดยมี ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว. พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกียงไกร ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆร่วมการประชุมและอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบก

โอกาสนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว. กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามค้นหาวิธีในการลดอุบัติเหตุ และ การประสบอุบัติเหตุส่งผลต่อค่า GDP ของประเทศซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย จึงได้มีการบรรจุแนวทางการแก้ไขปัญหาภายใต้กรอบแผนที่นำทางเชิงกลยุทธ์ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2554-2563 และแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2556-2559 ซึ่งสอดคล้องกับคำประกาศเจตนารมณ์ปฏิญญามอสโกที่ได้ประกาศให้ปี พ.ศ.2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety) 

แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ดูเหมือนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลกระบุว่าประเทศไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตจากเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศโบลิเวีย โดยประเทศโบลิเวียมีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 73.4 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 36.2 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกมีอัตราผู้เสียชีวิตจากการจราจรทางบกประมาณ 17.4 คนต่อประชากร 100,000 คน  ที่สำคัญอุบัติเหตุจราจรทางบกนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชากรในประเทศที่ก่อให้เกิดความสูญเสียที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมอย่างมหาศาล ผู้ประสบเหตุในอุบัติเหตุจราจรทางบกเกินกว่า 50% เป็นหัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้หารายได้หลักให้แก่ครอบครัว

“ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนจากแชมป์เหรียญเงินจากเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกเป็นแชมป์เหรียญทอง เพราะมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน และ เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมจราจร รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย เพราะโดยส่วนตัวมองว่า กฎหมายที่เข้มงวดจะช่วยป้องปรามการกระทำผิด ต่อประเด็นดังกล่าว สกว.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหาแนวทางสำหรับการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทยให้เป็นระบบจึงให้ทุนสนับสนุนการทำวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนและการจราจรหลายโครงการด้วยกัน หนึ่งในนั้น คือ “โครงการข้อเสนอในเชิงนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบก”ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่นำมาเสนอ อภิปราย แลกเปลี่ยนในการประชุมครั้งนี้” ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์กล่าว


ด้าน ผศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยข้อเสนอในเชิงนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบกสกว. กล่าวว่า ตามข้อมูลการคำนวณมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิต และ บาดเจ็บสาหัส จากอุบัติเหตุจราจร โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การเสียชีวิติจากอุบัติเหตุจราจรมีมูลค่าโดยประมาณ มากถึง 10 ล้านบาท ต่อราย และในขณะที่การบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่ามากถึง 3 ล้านบาท ต่อคนต่อราย โดยมูลค่าดังกล่าว คิดจากค่าใช้จ่ายการรักษา ความสูญเสียทางทรัพย์สิน และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากนำตัวเลขการเสียชีวิต 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 จำนวน 423 ราย คูณด้วยมูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 10 ล้านบาท เท่ากับว่า ช่วง 7 วันอันตรายมีมูลค่าความเสียหายจากการเสียชีวิตบนทองถนนมากว่า 4,230 ล้านบาท โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเมาแล้วขับหรือนำอัตราผู้เสียชีวิตจากการจราจรทางบกของไทยทั้งปีมาคำนวณด้วยสูตรเดียว พบมูลค่าความเสียหายจากการเสียชีวิตกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี 

อย่างไรก็ดี สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตนในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยในเรื่องดังกล่าว มีข้อเสนอแก่ผู้กำหนดนโยบายของรัฐ 4 ข้อ คือ 1.การศึกษาระบบวิศวกรรมจราจรเพื่อลดอุบัติจราจรในประเทศไทย โดยภาพรวมปัจจุบันจะพบว่า ประเทศไทยเริ่มสร้างระบบวิศวกรรมจราจร แก้ปัญหาจราจร และลดอุบัติเหตุมากขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดเนื่องจากติดในเรื่องของงบประมาณ โดยเฉพาะการก่อสร้างถนน หรือ การซ่อมบำรุงถนน ที่สามารถสังเกตได้ว่าจะมีความต่างของระดับผิวถนน 2. การพัฒนาประสิทธิภาพบริหารการจราจร โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะนอกจากจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการแล้ว อีกทางหนึ่งยังช่วยปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ เช่น จุดไหนที่ผู้ขับขี่ทราบว่าติดตั้งกล้องซีซีทีวี หรือ จับความเร็ว ผู้ขับขี่จะปฏิบัติตามกฎการใช้รถใช้ถนน

ในส่วนของข้อที่ 3. เป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายจราจร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยกตัวอย่างการไม่ชำระค่าปรับของผู้ขับขี่ที่มีอันตราส่วนมากถึงร้อยละ 70 ของผู้กระผิดทั้งหมด เพราะไม่มีมาตรการอื่นมารองรับ ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการจับกุมได้ทันทีหากไม่ยอมเสียค่าปรับ โดยไม่รอศาลตัดสิน ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขปัญหาจะเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนน โดยอาศัยมาตรา 44 ควบรวม ออก พรบ. หรือ ออก พรก. ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการคมนาคมแห่งชาติทำหน้าที่บริการสาธารณะ พัฒนาระบบงานจราจร