ลุ้น! ก.ม.ลูกฯตัวแปร สู่โหมดการเลือกตั้ง

ลุ้น! ก.ม.ลูกฯตัวแปร สู่โหมดการเลือกตั้ง

จับประเด็นร้อน!! ลุ้นก.ม.ลูกฯตัวแปร สู่โหมดการเลือกตั้ง

ก้าวเข้าสู่ปี 2561 ทิศทางการเมืองถูกโฟกัสเป็นพิเศษไปที่กฎกติกาต่างๆที่ขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นทั้งรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วรวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งขณะนี้ยังเหลือ2ฉบับสุดท้ายคือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และกฎหมายการได้มาซึ่งส.ว.ที่กำลังจะถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.ป. ฉบับดังกล่าวว่ามีสาระสำคัญ อาทิ การสำรวจและเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ซึ่ง กมธ.ฯ ผ่อนปรนให้สามารถทำได้ตามหลักที่เคยปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่จะมีหลักปฏิบัติคือองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำสำรวจความเห็นต้องเป็นองค์กรซึ่งมีที่มาที่ไป, มีระเบียบวิธีปฏิบัติ โดยไม่มีผลในทางชี้นำการตัดสินใจของประชาชน หรือมีเจตนาไม่สุจริต โดยการทำสำรวจต้องยุติภายในเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง1วัน

ขณะที่การเผยแพร่ขณะที่ การสำรวจความเห็นหลังจากการเข้าคูหาเลือกตั้ง (เอ็กซ์ซิทโพล) นั้น ร่างพ.ร.ป.กำหนดให้ทำได้ แต่ห้ามเผยแพร่ผลจนกว่าจะถึงเวลาปิดหีบลงคะแนน ส่วนการหาเสียงเลือกตั้ง ร่างพ.ร.ป. กำหนดสาระให้ กกต. กำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมเป็นธรรมของทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดใหญ่ หรือ ขนาดเล็ก ซึ่งการหาเสียงผ่านทางสถานีโทรทัศน์ และวิทยุกกต. จะเป็นผู้กำหนดให้

สำหรับบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับ การออกพระราชกฤษฎีกาวันเลือกตั้งนั้น กำหนดว่าหลังจากที่ร่าง พ.ร.ป.มีผลบังคับใช้ให้ กกต. ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ภายใน 90 วันส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเขียนเนื้อหาเพื่อขยายวันบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​จากเดิมให้มีผลวันถัดจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเป็นมีผลอีก 3 เดือนนั้นในทางหลักการทำได้แต่ต้องมีคำอธิบาย

ขณะที่ความเห็นจากนักวิชาการอย่าง ทวี สุรฤทธิกุล นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะที่เคยร่วมอยู่ในกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองระบุถึง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ได้สะท้อนมุมมองต่อกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า กฎหมายฉบับใหม่มีกฎระเบียบในการควบคุมพรรคการเมืองมากกว่าฉบับเดิม โดยการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เริ่มต้นด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน จากเดิมที่กำหนดสมาชิกเริ่มต้นเพียง 15 คน แต่กฎหมายใหม่ต้องมีเงินประเดิมขั้นต่ำ 1 ล้านบาท จากนั้นพรรคจะต้องมีสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศให้ได้จำนวน 5,000 คน

รวมทั้งให้สมาชิกร่วมเสนอตัวแทนผู้สมัครในแต่ละเขต ก่อนส่งเข้ามาเป็นตัวแทนพรรคเพื่อลงสนามเลือกตั้ง หรือเรียกกันว่า “ไพรมารีโหวต” รวมถึงข้อกำหนดอื่นๆ อีกมากมาย โดยสรุปแล้ว กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่นี้ ประการแรก สร้างความยุ่งในงานบริหารจัดการมากขึ้น

ประการที่สอง การดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองจะถูกกำกับอย่างเคร่งครัด ด้วยบทลงโทษที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำผิดที่จะเกิดขึ้นมากมาย และประการที่สาม ความรับผิดชอบของพรรคการเมืองที่เพิ่มขึ้น ในการดูแลทั้งสมาชิก ผู้สมัครหรือส.ส.ของพรรค ไม่ให้ปล่อยปละละเลย หรือยอมให้คนนอกเข้ามาแทรกแซง

นี่คือสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่ราบรื่น จากกฎหมายที่มีข้อกำหนดที่ควบคุมกำกับพรรคการเมืองอย่างมาก แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ยังมีคำถามกับ กกต.ว่า จะมีความสามารถที่นำกฎหมายไปบังคับใช้กับทุกกลุ่มการเมืองอย่างไม่ลำเอียงหรือไม่

ผมเป็นคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย จากสายวิชาการ ซึ่งค่อนข้างที่จะไม่เห็นด้วยกับหลายๆ เรื่องใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง แต่เมื่อผ่านการพิจารณาไปถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

เขายังได้วิเคราะห์การเมืองที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ว่า จากในปีที่ผ่านมาที่การเมืองเป็นไปด้วยความอึมครึม ไม่มีความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะยังเป็นไปตามโรดแมพหรือไม่ จึงมิงว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้มองเห็นภาพรวมของการเมืองไทยในปีหน้าได้ 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การเลือกตั้งยังมีความไม่แน่นอนว่า จะเกิดขึ้นหรือไม่ หรืออาจเกิดขึ้นแต่จะไม่เป็นไปตามโรดแมพ ด้วยข้ออ้างจากปัญหาที่เกิดขึ้นในปีนี้ เรื่องที่ 2 การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอาจไม่ราบรื่น เกิดความยุ่งยากจากกฎ กติกา ที่นักการเมืองมองว่า ยุ่งยากไม่เข้าใจ

พรรคการเมืองเองจะตั้งป้อมสู้แน่นอน ซึ่งผู้ที่วางหมากเกมส์ไว้ ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างมากในการผลักดันให้การเมืองเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยระบุว่า การเมืองไทย ในปี 2561 ประเด็นแรกที่ต้องติดตามคือ รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่ใกล้เสร็จสิ้นการพิจารณา อาจมีข้อโต้แย้ง ข้อขัดข้องบ้าง ก็ยังเป็นเรื่องที่นักการเมืองจำเป็นจะต้องติดตาม เช่นการให้พรรคใหญ่มีสมาชิกมาก ต้องยืนยันการเป็นสมาชิก รวมถึงระยะเวลาที่ปลดล็อกให้ค่อนข้างจำกัด

พรรคใหญ่ ก็ยุ่งยากเพราะสมาชิกพรรคมีจำนวนมากการตรวจสอบจะมีเวลาเพียงพอหรือไม่ ส่วนพรรคใหม่ก็มีเวลาเพียง 1 เดือน ในการหาสมาชิกพรรค ซึ่งจะไปดึงสมาชิกจากพรรคเก่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคเก่ากันไปหมดแล้ว ทำให้ความได้เปรียบ-เสียเปรียบ

ในทางตรงข้าม หากพรรคการเมืองใหม่นี้หาสมาชิกได้น้อย เขาอาจจะได้เพียงผู้สมัครเขต แต่ ณ เวลานี้ ถือว่าเป็นเรื่องยากมาก หากผู้สมัครไม่ใช่อดีตผู้แทนเก่า เนื่องจากนักการเมืองหน้าเก่าเข้าถึงพื้นที่ได้ดี

จึงมองว่าในช่วงที่ผ่านมาระหว่างที่มีการพิจารณากฎหมายลูกที่กำลังงวดใกล้เข้ามาเป็นระยะๆทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก มีการตั้งทีมทำงานด้านกฎหมายเตรียมงานล้อไปกับการร่างรัฐธรรม การพิจารณากฎหมายลูกอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าสุดท้ายการเมืองไทยจะเดินไปตามโรดแมพ เพราะเชื่อมั่นในคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าคสช. ที่เคยบอกว่า กฎหมายลูกที่สำคัญจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2561 แล้วจะประกาศให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ก็จะประมาณเดือน พ.ย. 2561 หากโรดแมพถูกเลื่อนออกไป ถ้าไม่ใช่ปัญหาจากข้อกฎหมายที่แทรกเข้ามาแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

“ผมจะรอไปจนถึงเดือนมิ.ย. 2561 ถ้านับเวลาไปอีก 150 วันแล้วไม่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง ก็ต้องคอยติดตามดูกันว่ามีสาเหตุอะไร”