กสทช.จ่อปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมเอื้อทุนใหญ่

กสทช.จ่อปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมเอื้อทุนใหญ่

"บอร์ดกสทช." จ่อเคาะปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมใหม่เอื้อทุนใหญ่ประชารัฐ

รายงานข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เตรียมปรับปรุงประกาศ กสทช.ว่าด้วยค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมฉบับที่ 2 ที่จะมีการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมลงหลังจากพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กสทช.มีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงเกินจริงไม่สอดคล้องพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 (พรบ.กสทช.) นั้น

ล่าสุดอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคมได้ผ่านความเห็นชอบโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ดังกล่าวแล้วเตรียมเสนอบอร์ด กสทช.เพื่อจัดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อไป ท่ามกลางความงวยงงของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพราะก่อนหน้า บอร์ดกสทช.ได้ตีกลับโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ดังกล่าวเพื่อให้สำนักงาน กสทช.กลับไปทบทวน เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นไปตามที่คณะทำงานและบริษัทที่ปรึกษาเสนอ แต่เมื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคมก็กลับอนุมัติโครงสร้างดังกล่าวในทันที

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ดังกล่าว สำนักงาน กสทช.ได้เสนอเพิ่มเติมโครงสร้างรายได้และอัตราค่าธรรมเนียมเรียกเก็บใหม่ จากที่คณะทำงานและบริษัทที่ปรึกษาเสนอมา 4 ระดับขึ้นเป็น 8 ระดับ โดยให้ซอยย่อยค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บจากบริษัทเอกชนที่มีรายได้เกิน 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป จากเดิมกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไว้ 1.50% และต้องปรับลดลง 50% เป็น 0.75% แต่ตามโครงสร้างใหม่กลับซอยย่อยอีก 4 ระดับ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้รวมตั้งแต่ 5,000-10,000 ล้านบาท จัดเก็บ 0.75 %, รายได้ตั้งแต่ 10,000-20,000 ล้านบาท จัดเก็บ 1.0% รายได้ตั้งแต่ 20,000-50,000 ล้านบาท เก็บ 1.25 % และที่เกิน 50,000 ล้านบาท ขึ้นไปจัดเก็บในอัตรา 1.5% เท่าเดิม โดยอ้างเพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่

อย่างไรก็ตาม การซอยย่อยโครงสร้างค่าธรรมเนียมดังกล่าว ทำให้มีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียงรายเดียวที่ได้ประโยชน์จากการปรับลดค่าธรรมเนียมรายปีไปเต็มๆ เพราะมีการแยกย่อยบริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคมไว้หลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท จึงได้อานิสงส์จากการปรับลดค่าธรรมเนียมไปโดยปริยาย ขณะที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่อีก 2 ค่ายคือ ดีแทค และเอไอเอสนั้น ยังคงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีเท่าเดิม เพราะมีรายได้จากการดำเนินการที่เกิน 50,000 ล้านบาท ขึ้นไป

“เป้าหมายการปรับลดค่าธรรมเนียมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของ กสทช.ที่จะไม่สร้างภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ภายใต้โครงสร้างใหม่ที่ออกมา รายได้จากค่าธรรมเนียมที่ กสทช.เรียกเก็บนั้นท้ายที่สุดแทบจะไม่ต่างไปจากเดิม ขณะที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ 70-80 % แทบไม่ได้อานิสงส์ใดๆ จากการปรับลดค่าธรรมเนียมในครั้งนี้”