'สามารถ' ปูด กทม. จ้าง บีทีเอส เดินรถไฟ้ฟ้าแพงเวอร์

'สามารถ' ปูด กทม. จ้าง บีทีเอส เดินรถไฟ้ฟ้าแพงเวอร์

“สามารถ” ปูด กทม. จ้าง บีทีเอส เดินรถไฟ้ฟ้าแพงเวอร์ เทียต่อหัวแพงกว่าจ้างเอ็มอาร์ที 91.6% แนะควรทบทวนสัญญาจ้าง

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์”ว่า ขณะนี้มีการก่อสร้างและต่อขยายสายทางรถไฟฟ้าหลายสาย รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งมีการต่อขยายด้านใต้จากแบริ่ง - สมุทรปราการ และด้านเหนือจากหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ซึ่งได้มีการแบ่งงานให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบการก่อสร้างงานโยธา และให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับผิดชอบการเดินรถ โดย กทม. ได้ว่าจ้างให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ แต่เคทีได้ว่าจ้างให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ให้เป็นผู้เดินรถแทนตนเองอีกทอดหนึ่ง

นายสามารถระบุอีกว่า ก่อนที่บีทีเอสจะเดินรถได้ จะต้องจัดหารถไฟฟ้า และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋ว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยเคทีได้ทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้จัดหารถไฟฟ้า และอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งบริหารจัดการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 25 ปี เป็นจำนวนเงินประมาณ 176,600 ล้านบาท บนเส้นทางช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.58 กม. และเส้นทางช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ระยะทาง 18.20 กม. รวมระยะทางทั้งหมด 30.78 กม. หากคิดค่าจ้างต่อระยะทาง 1 กม. และต่อระยะเวลา 1 ปี จะได้เท่ากับ 229.50 ล้านบาท ต่อ กม. ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างดังกล่าวกับค่าจ้างที่ รฟม.ว่าจ้างให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ทำงานเหมือนกัน ซึ่งประกอบด้วยจัดหารถไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริหารจัดการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปี เป็นเงินรวม 82,624.75 ล้านบาท หรือคิดเป็น 119.75 ล้านบาท/กิโลเมตร/ปี จะเห็นได้ว่าค่าจ้างใน 1 ปีของบีทีเอสแพงกว่าค่าจ้างบีอีเอ็มมากถึง 109.75 ล้านบาท ต่อ กม. หรือคิดเป็น 91.6%

“ค่าจ้างที่แพงกว่ากันมากมายเช่นนี้เป็นเรื่องชวนสงสัยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และที่สำคัญ เงินที่เคทีจ้างบีทีเอสนั้นเป็นเงินที่ได้รับมาจาก กทม. ซึ่งเป็นเงินภาษีของพวกเราทุกคน ด้วยเหตุนี้ ผู้เกี่ยวข้องใน กทม.ไม่ควรอยู่นิ่งเฉย จะต้องออกมาชี้แจงให้กระจ่างชัด หากเห็นว่าเป็นสัญญาที่ กทม.เสียเปรียบจะต้องสั่งการให้เคทีทบทวนสัญญาระหว่างเคทีกับบีทีเอสเสียใหม่ให้เกิดความเป็นธรรม อย่าปล่อยให้พี่น้องประชาชนต้องมาแบกรับภาระหนี้ก้อนโตโดยไม่จำเป็นเลย”