สัญญาณ 'ปลุกระดม' เงื่อนไขปลดล็อกการเมือง?

สัญญาณ 'ปลุกระดม' เงื่อนไขปลดล็อกการเมือง?

จับประเด็นร้อน! สัญญาณ 'ปลุกระดม' เงื่อนไขปลดล็อกการเมือง?

การปลดล็อกเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคือกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น

หลังจากที่วานนี้ (16 พ.ย.) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกกระทรวงมหาดไทย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในประเด็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีข้อสรุปในการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 6 ฉบับได้แก่

พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ..2545,พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (อบต.),พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 (อบจ.),พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ,พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528,และ พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยาพ.ศ. 2542

ดังนั้น ขั้นตอนหลังจากคงต้องรอให้มีการจัดทำกฎหมายให้แล้วเสร็จ รวมทั้งรอผลวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นตีความในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง

ก่อนจะมีการปลดล็อกและเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในระดับต่างๆซึ่งก่อนหน้านี้รองนายกฯวิษณุได้ออกมาระบุว่าอาจจะมีการพิจารณาปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงแค่บางระดับก่อน

ส่วนที่เหลืออาจจะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป!

แต่ทว่า ในขณะที่มีการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกด้านยังคงมีความเคลื่อนไหวในส่วนของการเมืองสนามใหญ่ที่ขณะนี้ที่พรรคการเมืองและนักการเมืองยังคง “ต้องร้องเพลงรอ” ต่อไป

เพราะยังไม่มีทีท่าว่าฝ่ายผู้มีอำนาจอย่าง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะไฟเขียวปลดล็อกให้มีการทำกิจกรรม หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้ โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการต่างๆ อาทิการจัดทำบัญชีพรรค รวมถึงดำเนินการต่างๆเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดภายใน180 วัน

แต่ปัญหาสำคัญคือในขณะที่กรอบเวลา 180 วันได้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับ แต่ขณะนี้คสช.ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ จึงมีเสียงสะท้อนจากหลายๆพรรคที่แสดงความกังวลว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันกรอบเวลา

ก่อนหน้านี้3 พรรคการเมืองได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ส่งหนังสือถึงกกต.เพื่อถามความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการตามกรอบเวลาดังกล่าว

ขณะที่ท่าทีจากทางฝั่งรัฐบาลเองโดยเฉพาะในส่วนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ล่าสุดได้สั่งการผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่14 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า
ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่โหมดการเมืองเห็นได้จากปรากฏการณ์หลายเรื่องมีการใส่ร้าย บิดเบือน การปล่อยข้อมูลข่าวสารเป็นเท็จหรือความพยายามลดความน่าเชื่อถือของตัวบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในรูปแบบต่างๆ ซึ่งบางเรื่องก็ไม่มีมูลจึงสั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนทำงานเชิงรุก

สอดคล้องกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า จากข่าวสารพบว่าบางกลุ่มยังมีการเคลื่อนไหวบิดเบือนผ่านเว็บไซต์ต่างๆ

ขณะเดียวในส่วนของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) มีหนังสือด่วนถึงบช.น.,บช.ก.,บช.ภ.1-9 และทุกหน่วยในสังกัด ให้ติดตามพฤติการณ์กลุ่มบุคคลหลังมีข้อมูลว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวเตรียมการปลุกระดมมวลชนเตรียมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล

โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ระบุถึงกรณีนี้ เป็นเพียงการแจ้งเตือนตามวงรอบ ไม่มีนัยอะไรพิเศษแต่ก็เป็นการเฝ้าระวังตามปกติ

“ในส่วนของกลุ่มแกนนำหรือม็อบต่างๆ ช่วงนี้ก็ไม่มีไม่พบความเคลื่อนไหวเพราะถูกจับกุมไปหมดแล้ว ขณะนี้บ้านเมืองเรียบร้อยดีการข่าวยังปกติ”

ในประเด็นการปลดล็อกการเมืองสนามใหญ่นั้นตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ระบุคือ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขสำคัญคือ“บ้านเมืองสงบ”

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ทางฝ่ายผู้มีอำนาจอย่างคสช.อาจจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเป็นเหตุผลสนับสนุนในการที่ยังไม่“ไฟเขียว” เพื่อ “ปลดล็อก” ให้การเมืองทำกิจกรรมก็เป็นได้!!