แจงม.104ไม่ขวางสิทธิ สอบเงินนักการเมือง 'วีระ'จี้เปิดละเอียด

แจงม.104ไม่ขวางสิทธิ สอบเงินนักการเมือง 'วีระ'จี้เปิดละเอียด

โฆษก กรธ. ชี้แจง ม.104 ตามพ.ร.ป.ปราบทุจริต ไม่ขวางสิทธิปชช.สอบเงินนักการเมือง ย้ำให้เปิดเผยโดยสรุปเพื่อคุ้มครองรายละเอียดบางอย่าง "วีระ" จี้เปิดเผยโดยละเอียดเพื่อปชช.รับรู้

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงมาตรา 104 ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่บัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยข้อมูลโดยสรุปของจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อประชาชน ว่า การบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่การปิดกั้นการตรวจสอบของประชาชน แต่เพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคลและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เพื่อไม่ให้ผู้ไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ ซึ่งเจตนารมณ์ของเนื้อหาที่เขียนว่าข้อมูลโดยสรุปนั้น แท้จริงแล้ว คือการไม่เปิดเผยรายละเอียด เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร ชื่อธนาคารหรือสาขา ของผู้ยื่นรายการทรัพย์สินและหนี้สิน, หมายเลขโฉนดที่ดิน, หมายเลขทะเบียนรถยนต์ เครื่องบิน เพื่อไม่ให้กระทบข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลนั้น แต่ข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดที่ยื่น ต่อป.ป.ช. ต้องแสดงหลักฐานและรายละเอียดของที่มาของทรัพย์สินทั้งหมดตามเดิม

"ประชาชนไม่ใช่นักสืบที่ต้องรู้ข้อมูลรายละเอียดของหมายเลขบัญชีธนาคาร ที่อยู่ของบ้านพัก แต่หากพบข้อมูลที่น่าสงสัยสามารถแจ้งเบาะแสไปยัง ป.ป.ช. ฐานผู้มีหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมายให้ติดตามตรวจสอบรายละเอียดได้ ดังนั้นหากประชาชนมีข้อสงสัยและส่งให้ ป.ป.ช.แล้ว ไม่พบว่าเขาทำอะไร หรือ นิ่งเฉย หรือไม่ดำเนินการ สามารถใช้ช่องทางฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เอาโทษกับ ป.ป.ช.ได้ ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่" นายนรชิต กล่าว

นายนรชิต กล่าวด้วยว่ากรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามร่าง พ.ร.ป.ปราบทุจริต นั้นมีรายละเอียดที่เพิ่มเติมสำคัญ คือการแสดงรายการทรัพย์สินของผู้มีหน้าที่ยื่นที่ครอบครองในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงทรัพย์สินที่มอบหมายให้บุคคลอื่นครอบครองด้วย นอกจากนั้นยังกำหนดให้ต้องยื่นรายการเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย เพื่อให้เกิดการตรวจสอบทั้งการมีอยู่ของทรัพย์สินและการเสียภาษี อย่างไรก็ตามยืนยันว่าในการตรวจสอบบัญชีและทรัพย์สินของผู้ต้องยื่นแสดงรายการนั้น ต้องแจ้งรายละเอียดกับ ป.ป.ช. เช่นเดิม แต่การเปิดเผยรายละเอียดให้สาธารณะรับทราบนั้น จำเป็นต้องงดการเปิดเผยรายละเอียดที่อาจจะกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล ของบุคคลนั้นด้วย

นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น กล่าวต่อประเด็นดังกล่าวว่า การบัญญัติเนื้อหาดังกล่าว กังวลว่าจะกระทบต่อสิทธิของประชาชนด้านการตรวจสอบและอาจจะไม่ก่อให้เป็นประโยชน์ด้านการตรวจสอบอย่างแท้จริง เพราะหากไม่มีการเปิดเผยเลขบัญชีธนาคาร, เลขที่โฉนดที่ดิน การตรวจสอบอาจจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการเปิดเผยรายละเอียดและรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต้องเปิดเผยรายการและรายละเอียดให้ชัดเจน