'ปลูกกาแฟ' ที่กวางตรี สร้างการรวมกลุ่มเพิ่มรายได้ยั่งยืน

'ปลูกกาแฟ' ที่กวางตรี สร้างการรวมกลุ่มเพิ่มรายได้ยั่งยืน

สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงช่วยเกษตรกรปลูกกาแฟที่กวางตรี สร้างการรวมกลุ่มเพิ่มรายได้ยั่งยืน

"ครอบครัวปลูกกาแฟมาตั้งแต่ปี 1985 แต่เข้าร่วมโครงการกับ MI เมื่อ ปี 2016 ที่ผ่านมา ผลที่เห็นได้ชัดเจนคือ ลดต้นทุนและมีรายได้ดีกว่าเดิม โดยกลุ่มของเขามีสมาชิก 51 ครอบครัว 28 ครอบครัว เป็นคนเวียดนาม และอีก 23 ครอบครัวเป็นกลุ่มชาวเขา ซึ่งมีชาวถิ่นรวมอยู่ด้วย ปีที่แล้วทางกลุ่มขายเมล็ดกาแฟได้ 331 ตัน มีรายได้ประมาณ 178,572 บาท ซึ่งถือว่ารายเพิ่มมาก เพราะไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง"

หากพูดถึงประเทศที่มีการปลูกและส่งออกเมล็ดกาแฟติดอันดับโลก เพื่อนบ้านของเราอย่างเวียดนาม ดูจะเป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกมากที่สุดติดอันดับ 2 ของโลกและอยู่อันดับ 1 ด้านการส่งออกกาแฟโรบัสตา แต่เวียดนามส่งออกเมล็ดกาแฟดิบมากกว่าการแปรรูป ทำให้มูลค่าการส่งออกไม่มากนัก

โดยเวียดนามมีพื้นที่ปลูกกาแฟกว่า 6 แสน 5 หมื่นเฮกตาร์ ซึ่งส่วนใหญ่ในเขตที่ราบสูงเตเงวียนและส่งออกกาแฟไปยังกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ตัวเลขเมื่อปี 2014 มูลค่าการส่งออกกาแฟของเวียดนามอยู่ที่ 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปัญหาของเวียดนามที่พบคือ ผลผลิตไม่แน่นอน คุณภาพของเมล็ดกาแฟยังด้อยอยู่ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนของเกษตรกรก็มีน้อยด้วยเช่นกัน

348607

สาเหตุนี้เอง ที่ทำให้สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute-MI) โดยการสนับสนุนขององค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss Agency for Development and Cooperation-SDC) ซึ่งได้ดำเนินโครงการส่งเสริม การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขง (RLED-EWEC) มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2013 โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และสนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโต ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก- ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) ให้เป็นไปอย่างทั่วถึง และร่วมมือแก้ไขอุปสรรคปัญหา 2 ประการด้วยกันคือ การเตรียมความพร้อมของเกษตรกรรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ให้สามารถเข้าถึงตลาดในระดับภูมิภาคและระดับสากลเพื่อที่จะสามารถแข่งขันในตลาดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการนี้คือเกษตรกรรายย่อย SMEs สมาคมนักธุรกิจ และ หน่วยงานรัฐบาลระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

348632

ด้วยเหตุนี้ ทาง MI จึงได้เข้าให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวเวียดนาม โดยเฉพาะเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกกาแฟที่จังหวัดกวางตรี ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟกว้างขวางและมีเมล็ดพันธุ์กาแฟที่ดี เป็นที่ต้องการของตลาด แต่เกษตรกรยังขาดความรู้ในการปลูก เก็บเกี่ยว และ ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2013 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ชุมชนเหืองฟุ่ง อำเภอเหืองฮว๋า จังหวัดกวางตรี ( Huong Phung commune, Huong Hoa district, Quang Tri Province ,Vietnam) ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มเจรจากับธนาคารเวียดนามเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบท และประสานกับโรงงานแปรรูปเมล็ดกาแฟ รวมถึงโรงงานปุ๋ยในพื้นที่ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 3 ปี เกษตรกรที่นั่นเกิดการรวมกลุ่มกันถึง 17 กลุ่มและมีอำนาจต่อรองกับโรงงานรับซื้อเพื่อต่อรองราคา รวมไปถึงสามารถมีเงินลงทุนได้อย่างคล่องตัว และที่สำคัญที่สุดรายได้ดีกว่าแต่ก่อนมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์

348602

นายโห่ ลา งาน เกษตรกรกลุ่มปลูกกาแฟซารี ชุมชนเหืองฟุ่ง อำเภอเหืองฮว๋า จังหวัดกวางตรี (Mr. Ho La Ngan, Sa Ry farmer group member, Huong Phung commune, Huong Hoa district, Quang Tri province ,Vietnam) หนึ่งในเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการ บอกว่า ปลูกกาแฟมานานแล้วก่อนที่ MI จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งก่อนหน้านี้ปลูกแบบอาศัยฟ้าดินเป็นหลัก ไม่ได้มีความรู้อะไรมากนัก ทำให้เวลาเก็บผลผลิตไปขายกับคนรับซื้อ ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางจะถูกกดราคามาก ขายได้เงินน้อย แต่หลังจากทาง MI มาให้การช่วยเหลือ มีรายได้มากขึ้น และมีความรู้เรื่องการปลูก การดูแลรักษา พร้อมกับได้เข้าร่วมกลุ่มกับสมาชิกในหมู่บ้าน มีรถของกลุ่มมารับผลผลิตจากบ้าน ไม่ต้องขนส่งไปเอง แถมราคาก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยก่อนหน้านี้ราคาขายอยู่ที่ประมาณ กิโลกรัมละ 7.85 บาท (5,500 ด่ง) แต่พอ MI มาส่งเสริมราคาเพิ่มขึ้นเป็น 8.30 บาท (5,800 ด่ง) ต้นทุนการผลิตลดลง ทำให้รายได้มากขึ้น

348609

ด้านหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรซารี นายเล ดึ๊ก บิ่ง หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟของที่นี่ (Mr. Le Duc Binh, Sa Ry farmer group leader, Huong Phung commune, Huong Hoa district, Quang Tri province, Vietnam) บอกว่า ครอบครัวปลูกกาแฟมาตั้งแต่ปี 1985 แต่เข้าร่วมโครงการกับ MI เมื่อ ปี 2016 ที่ผ่านมา ผลที่เห็นได้ชัดเจนคือ ลดต้นทุนและมีรายได้ดีกว่าเดิม โดยกลุ่มของเขามีสมาชิก 51 ครอบครัว 28 ครอบครัว เป็นคนเวียดนาม และอีก 23 ครอบครัวเป็นกลุ่มชาวเขาซึ่งมีชาวถิ่นรวมอยู่ด้วย ปีที่แล้วทางกลุ่มขายเมล็ดกาแฟได้ 331 ตัน มีรายได้ประมาณ 178,572 บาท (125 ล้านด่ง) ซึ่งถือว่ารายเพิ่มมาก เพราะไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

“พอมี MI เข้ามาช่วยเหลือ ได้มีการอบรมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรอง และร่วมกันผลิตและจัดส่ง ไม่ต้องแยกกันทำ ทำให้ลดต้นทุนได้เยอะ ทั้งค่าขนส่ง ค่าปุ๋ย ค่าจัดการต่างๆ และการมีกลุ่มทำให้สามารถกู้เงินมาเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตได้ง่าย ทั้งค่าปุ๋ยและอื่น ๆ ตอนนี้รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว" นายเล ดึ๊ก บิ่ง บอก

348612

โดยเขาได้ยกตัวอย่างการเก็บผลผลิตใน 1 วันว่า มีเมล็ดกาแฟของสมาชิกนำมาส่งรวมกัน 8,170 กิโลกรัม และพอนำไปขายที่โรงงานมีการคัดคุณภาพ โดยนำเมล็ดกาแฟไปลอยน้ำ พบว่ามีเมล็ดกาแฟลอยน้ำ 13 เปอร์เซ็นต์ และตรวจพบมีเมล็ดสีเขียว 7 เปอร์เซ็นต์ซึ่งจะถูกหักคุณภาพ พอนำเมล็ดกาแฟทั้งหมดไปขายได้เงินมาสำหรับวันนั้น 78,571 บาท (55 ล้านด่ง) พอหักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินเหลือแจกจ่ายคืนสมาชิก 75,714 บาท (53 ล้านด่ง) แบ่งแล้วจะได้คนละ 9.39 บาทต่อกิโลกรัม (6,570 ด่งต่อกิโลกรัม) ซึ่งก่อนเข้าร่วมโครงการจะได้ราคาต่ำกว่ามาก จะอยู่ที่ประมาณ 5.29 บาทต่อกิโลกรัม (3,700 ด่งต่อกิโลกรัม) เท่านั้น

348617

ในขณะที่ เจ้าของโรงงานแปรรูปเมล็ดกาแฟ ที่รับซื้อเมล็ดกาแฟสดจากเกษตรกร และเป็นโรงงานขนาดใหญ่ของเมืองดองฮา ที่รับซื้อเมล็ดกาแฟสดมากระเทาะเปลือก ก่อนจะอบแห้งและส่งขายที่ฮานอย เพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก อย่าง นายดิง วัน เตี๋ยน (Mr. Dinh Van Tien) ผู้อำนวยการบริษัทนำเข้าและส่งออกกาแฟมิงเตี๋ยน (Minh Tien Coffee Import-Export Co, Ltd.) บอกว่า การที่ MI เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะก่อนหน้านี้เขารับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรรายย่อย แล้วเกิดปัญหาเนื่องจากเกษตรกรไม่มีความรู้ หวังเพียงอยากจะเก็บผลิตได้เยอะ โดยไม่มีการคัดแยกหรือคัดคุณภาพ บางคนเก็บเมล็ดสีเขียวที่ยังไม่สุก บางคนเอาดิน เอาทรายผสม บางคนเอาไปแช่น้ำเพื่อให้หนัก หวังให้ชั่งแล้วได้น้ำหนักมาก ทำให้ตนต้องจ้างคนมาคัดแยก เสียเวลา เพิ่มต้นทุน ทำให้เกษตรกรขายได้ราคาต่ำ แต่พอ MI เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้เกษตรกรมีความรู้เก็บผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ราคาก็ดีตามไปด้วย

348620

“ผมเข้าร่วมโครงการกับ MI มา 2 ปีแล้ว คุณภาพกาแฟที่นำมาส่งเข้าโรงงานดีมาก โดยขณะนี้โรงงานรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มกันจากการดำเนินการของ MI จำนวน 5 กลุ่ม แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะตลาดกาแฟเวียดนามเป็นตลาดใหญ่ ส่งออกไปขายทั่วโลก ผมยังต้องการเมล็ดกาแฟเพิ่มอีก อยากให้ทาง MI มาส่งเสริมอีก เพื่อจะได้มีคนปลูกกาแฟคุณภาพดีเพิ่มขึ้น และที่สำคัญอยากให้ MI มาให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูกกาแฟออแกนิคเพื่อจะได้ราคาดีและคุณภาพดีขึ้นด้วย”นายดิง วัน เตี๋ยน บอก

ด้านผู้บริหารภาครัฐอย่าง นายเหงียน กวน จิ๋ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกวางตรี ( Mr.Nguyen Quan Chinh, Vice Chair person of Quang Tri People’s Committee) กล่าวถึงการที่ MI เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ว่า เป็นโครงการที่ดีมาก ที่ทำให้เกษตรกรมีความรู้และมีรายได้เพิ่มขึ้น ซ้ำคุณภาพกาแฟที่ได้ก็มีคุณภาพดี เป็นที่พูดถึงไปทั่วประเทศ ที่สำคัญที่สุดการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรทำให้ มีอำนาจในการต่อรอง และสามารถรวมกลุ่มในการกู้เงินได้ เมื่อเกษตรกรมีปัจจัยในการผลิตเพียงพอ ก็สามารถผลิตเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพได้เป็นอย่างดี เสียดายเพียง MI มีระยะเวลาในการช่วยเหลือเหลืออีกเพียง 2 ปีเท่านั้น หากมีโครงการต่อดีมาก เพราะยังมีชาวบ้านยากจนอีกเยอะ

348625

ส่วนบริษัทผู้ผลิตปุ๋ย และส่งออกปุ๋ยไปขายทั่วอาเซียนอย่าง นายเล ต๋วน ยู๊ง ผู้จัดการโรงงานผลิตปุ๋ยบิ่งเดี่ยน กวางจริ ( Mr. Le Tuan Dung, Director, Binh Dien-Quang Tri Fertilizer, Quang Tri Province, Vietnam.) บอกว่า หลังจาก MI เข้ามาหนุนเสริม ทำให้เกิดการรวมกลุ่มทำให้โรงงานกล้าปล่อยสินเชื่อและกล้าที่จะตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตกร โดยกองทุนนี้ให้เกษตรกรกู้เงินด้วยการมาเอาปุ๋ยไปใช้ก่อนได้ แล้วพอขายผลผลิตค่อยเอาเงินมาชำระคืน โดยก่อนหน้านี้ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะเกรงจะไม่ได้เงินคืน โดยขณะนี้มีเงินในกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนประมาณ 1 ล้านดอนล่าร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทปุ๋ยของเขานั้น เป็นบริษัทใหญ่ที่ส่งออกปุ๋ยไปขายทั่วกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง ส่งออกไปที่ลาว 1 หมื่นตันต่อปี โดยส่งออกทาง สาละวัน อัตปือ และจำปาสัก, กัมพูชา 1 แสนตันต่อปี, พม่า 5 พันตันต่อปี ราคาปุ๋ยประมาณ (11,428 บาทต่อกระสอบ) (8 ล้านด่งต่อกระสอบ) น้ำหนักกระสอบละ 50 กิโลกรัม

348740

ส่วนนายวัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง หรือ MI กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นของโครงการว่า การเข้ามาส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่นี่มีทั้งหมด 17 กลุ่ม โดยทาง MI มีสำนักงานอยู่ที่เมืองดองฮา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ 3 คน ที่เป็นคนคอยขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ การมาดูผลสัมฤทธิ์ในครั้งนี้ ภูมิใจที่เกิดผลอย่างดีเยี่ยม สิ่งที่อยากจะทำให้เกิดผลต่อเนื่องคือหลังจากนี้ หาก MI ถอนการช่วยเหลือออกมา อยากให้เกษตรกรและโรงงาน พร้อมทั้งกลุ่มองค์กรด้านการเงินอยู่ร่วมกันต่อไปได้ เกื้อหนุนกันต่อได้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ที่ดีและมีอาชีพที่ยั่งยืน พร้อมกับอยากจะให้มีการขยายพื้นที่การปลูกกาแฟโดยใช้โมเดลที่ทาง MI ได้สร้างไว้ออกไปอีก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาส ซึ่งยังมีอีกมาก

“ตอนนี้ MI ได้หารือเรื่องสินค้าผ่านแดน ระหว่างแขวงสะหวันนะเขต ของสปป.ลาว กับจังหวัดกวางตรี ของเวียดนาม ในการขนผลผลิตด้านเกษตรผ่านด่านต่างๆ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าธรรมเนียม พัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกและให้เกษตรกรได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกสู่ตะวันออกที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วด้วย”นายวัชรัศมิ์ กล่าว ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ในอนาคต