“กูรู” เชียร์ปรับพอร์ต เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย

“กูรู” เชียร์ปรับพอร์ต เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย

“เศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น”ขาขึ้น “กูรู”แนะปรับพอร์ตลงทุนใหม่ เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย หลังความเสี่ยงถูกจำกัด ดันดัชนี SET Index ปีนี้พุ่งทำ“นิวไฮ”รอบ 23 ปี แตะ 1,726.67 จุด

แม้สภาพคล่องทั่วโลกจะมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยกลับสร้างผลตอบแทนได้เพียง “2%” ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้าน สวนทางกับตลาดพันธบัตร ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น 

สอดคล้องกับยอดซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปี 2560 มูลค่าเกิน 1.3 แสนล้านบาท “มากกว่า” การเข้าซื้อปีที่แล้วทั้งปี และหากเทียบกับ “ยอดซื้อสะสม” ของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย มูลค่าสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท 

สะท้อนว่า เงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย แต่กลับลงทุนใน“หุ้นไทย” ไม่มาก

ทว่า พลันที่ ความเสี่ยงทางการเมืองถูกกำจัด” หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยกำลังจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งโดยน่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือนพ.ย.2561 แน่นอนทุกภาคส่วนต่างออกมาขานรับแนวทางการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ว่าจะมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอีกในปี 2561 

โดย หุ้นไทย ซึ่งถือเป็นตลาดลงทุนแรกๆ ที่มีปฏิกิริยาในเชิงบวก เห็นได้จาก SET INDEX  ในวันเดียวกัน พุ่งทำจุดสูงสุดในรอบ 23 ปี ทะลุ 1,700 จุด  เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนแรก  (ม.ค.-ก.ค.2560) ที่ตลาดหุ้นตกอยู่ในอาการ ซบเซาจาก จุดต่ำสุด1,535.51 จุด (ตัวเลขเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2560) และมาสร้าง จุดพีทระดับ 1,726.67 จุด (ตัวเลข ณ วันที่ 16 ต.ค.2560) แม้จะยังไม่สามารถขยับไปยืน จุดสูงสุดเก่าที่เคยทำได้เมื่อเดือนม.ค.2537 ในระดับ 1,789 จุด ก็ตาม

ดัชนีหุ้นที่พุ่งขึ้น ยังบ่งบอกว่า กระแสเงินต่างชาติ (Fund Flow) ที่กำลังไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets)ในภูมิภาคนี้กำลังเคลื่อนย้ายเข้าตลาดหุ้นไทย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา Fund Flow เข้าหุ้นไทยค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับตลาดหุ้น อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ เป็นต้น 

สะท้อนผ่านผลตอบแทนหุ้นไทยในปัจจุบันขยับขึ้น 20% ถือว่าขยับเข้ามาใกล้เคียงกับผลตอบแทนตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้แล้ว 

ดร.สันติ กีระนันทน์” ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนต.ค. 2560 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 31.02% อยู่ในเกณฑ์ ร้อนแรงอย่างมาก" (Very Bullish) หรือ ในช่วงค่าดัชนีระหว่าง 161-200 นับเป็นครั้งแรกนับจากที่มีการเผยแพร่ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนม.ค.2558

เนื่องจากเงินต่างชาติไหลเข้า และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการส่งออก (ล่าสุดก.ย.ส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 มีมูลค่า 2.18 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์) และการท่องเที่ยว แต่นักลงทุนจะต้องติดตาม“ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ” และ“นโยบายทางการเงินของสหรัฐ” ที่ส่งผลถึงการคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุน

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายกลุ่ม นักลงทุนต่างประเทศและกลุ่มสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับร้อนแรงมาอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก ขณะที่กลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศและกลุ่มสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มมาเป็นระดับร้อนแรง

ขณะที่สินทรัพย์ประเภท ทองคำ” ในปี 2560 ตั้งแต่ต้นปีราคาทองคำอยู่ที่ 1,151 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ระหว่างทางราคาทองคำมีลักษณะ “ปรับขึ้น-ลง ตลอด และขึ้นไปทำ จุดสูงสุด” (New High) ของปีนี้อยู่ที่ 1,358 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (เมื่อกลางเดือนก.ย.) ทว่า ในช่วงที่เหลือ 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.) ของปีนี้ ทิศทางราคาทองคำน่าจะเป็นลักษณะ ขาลงมากกว่า ขาขึ้น

ขณะที่ระหว่างทาง 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.) ผลตอบแทนในสินทรัพย์ลงทุนยังตกอยู่ในลักษณะผันผวน ทำให้นักลงทุนเริ่มลังเลว่า ควรเลือกลงทุนสินทรัพย์ประเภทใดระหว่าง ตลาดหุ้น-พันธบัตร-ทองคำ” ความผันผวนที่ว่าเริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือนส.ค.2560

เมื่อสถานการณ์เป็นจริงเช่นนั้น นักลงทุนอาจต้อง ปรับพอร์ตฟอลิโอ"ใหม่ เพราะเมื่อมีอะไรผิดไปจากที่คาดการณ์ นักลงทุนจำเป็นต้องปรับมุมมองการลงทุนรอบใหม่ เพื่อสร้าง “รีเทิร์น” (ผลตอบแทน) สูงสุด !! 

ภรณี ทองเย็น” อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดมุมมองผลสำรวจ “การจัดสรรแบ่งเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ” หรือ Asset Allocation ว่า มีการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย เป็น44%” จากเดิมที่ 42% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนการลงทุนที่“สูงสุด”ในพอร์ต และปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตราสารหนี้เพิ่ม เป็น18%” จากเดิม 14% จากเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทั้งในระยะสั้นและกลาง ทำให้มีเงินต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่อง

ส่วนการลงทุนในทองคำให้น้ำหนักการลงทุน 10% ปัจจัยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาทองคำมีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ประเด็นความขัดแย้งของเกาหลีเหนือและสหรัฐ ยังเป็นตัวสนับสนุนต่อการลงทุน ส่วนลงทุนหุ้นต่างประเทศอยู่ที่ 18% ที่เหลือเหลือเงินสดและ อื่น เช่น กองทุนน้ำมัน กองทรัสต์

หากพิจารณาจากโมเมนตัมเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น นำทีมโดยเศรษฐกิจพี่ใหญ่สหรัฐอเมริกา สะท้อนผ่านการปรับดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมาฉะนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทย ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปี 2560 ยังเป็นประเภทสินทรัพย์ที่มีเสน่ห์ในการลงทุน

ภรณี ยังบอกว่า จากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันเดือนต.ค.2560 มีมุมต่อดัชนีตลาดหุ้นไตรมาส 4 ปี 2560 มีทิศทางขาขึ้นไปแตะระดับ 1,750 จุด แต่ระหว่างทางอาจจะเจอแรงเทขายหุ้นออกมาบ้าง หลังตลาดปรับขึ้นมาแพงแล้ว คาดว่าเฉลี่ยดัชนีปลาย 1,700 จุด ส่วนในปีหน้าคาดว่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ 1,810 จุด

จากปัจจัยบวกในแง่ความชัดเจนในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้่นราวเดือนพ.ย.2561 และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4% รวมทั้งผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส4 ปี 2560 ส่วนอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยลบเป็นเรื่องความกังวลในเรื่องคาบสมุทรเกาหลี การลดงบดุลของสหรัฐฯและทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจมีผลทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกได้

สำหรับในมุมมองส่วนตัวเธอเชื่อว่า เม็ดเงินต่างชาติยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2560 ต่างชาติซื้อสะสมอีก 1-1.5 หมื่นล้านบาท จากต้นปีถึงปัจจุบันมียอดซื้อสุทธิ1.79 หมื่นล้านบาท และคาดว่าครึ่งปีแรก 2561 ต่างชาติจะซื้อสะสมอีก 3-4 หมื่นล้านบาท ฉะนั้น ยอดซื้อสะสมของต่างชาติอยู่ที่ระดับ1.6-1.7 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือการเลือกตั้ง เศรษฐกิจขยายตัวจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) และกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโต 

ดังนั้น ปีนี้หุ้นที่มีกำไรต่อหุ้น (EPS) เติบโตสูง คือ กลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี และค้าปลีก ส่วนปี 2561 กลุ่มที่มี EPS เติบโตสูงคือ กลุ่มค้าปลีก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และสื่อสาร โดย หุ้นเด่นแนะนำการลงทุนในไตรมาส 4 ปี 2560 คือ หุ้น CPALL , ADVANC , IVL , IRPC , IVL และ PTT

ส่วนทิศทางราคาทองคำส่วนใหญ่มีมุมมองว่า แนวโน้มจะเป็นลักษณะปรับตัวลดลง โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 โดยมองราคาเป้าหมายราคาทองคำเฉลี่ยปลายปีนี้อยู่ที่ระดับ 20,129 บาท เนื่องจาก แนวโน้มเศรษฐกิจและดอกเบี้ยโลก มีแนวโน้มขาขึ้น และขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงขาขึ้น ด้านทิศทางผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) มีทิศทาง ทรงตัว

ขณะที่ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง  ระบุว่า แม้ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนดีในช่วงนี้ แต่ยังคงเน้นใช้กลยุทธ์ “ลดความเสี่ยง” มากกว่า “เพิ่มผลตอบแทน” ดังนั้นยังคงแนะนำน้ำหนักการลงทุนสำหรับสินทรัพย์เสี่ยงเป็น UNDERWEIGHT ในพอร์ตการลงทุนเชิงเทคนิค เนื่องจาก 1.มูลค่าตลาดหุ้นไทย ณ ระดับปัจจุบันอยู่ในระดับแพง,การปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทยทำให้ระดับ PER คาดการณ์ปรับขึ้นสู่ระดับที่สะท้อนการคาดการณ์การเติบโตของผลประกอบการไตรมาส 3 ปี2560 แล้ว 2.ความวุ่นวายทางการเมืองในสหรัฐฯได้ฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุน ,ระดับ PER คาดการณ์ในปัจจุบันที่สูงถึง 19.1 เท่า คาดว่า ตลาดหุ้นสหรัฐจะเปลี่ยนเป็นขาลง เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศและต่างประเทศอันเกิดจากความขัดแย้งของผู้นำของสหรัฐฯและเกาหลีเหนือ

3.การเติบโตของจีดีพียุโรปน่าจะชะลอตัว คาดว่าจะชะลอตัว จาก 2.1% ในปี 2560 สู่ระดับ 1.8% ในปี 2561 4.มูลค่าตลาดหุ้นอินเดีย ซึ่งอยู่ในระดับแพงเป็นประเด็นที่กังวล การเติบโตเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไตรมาส 2 ปี 2560 ชะลอตัวลงสู่ระดับ 5.7% ซึ่งทำให้ดัชนีที่อยู่ที่ระดับ PER คาดการณ์สูงถึง 20.4 เท่านั้นไม่น่าจะยืนได้ 5.การเติบโตของเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เนื่องจากนโยบายด้านอุปสงค์ การเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง เนื่องจากการควบคุมจากภาครัฐที่เข้มงวดขึ้นและการลดการสนับสนุนทางการคลัง การควบคุมจากภาครัฐที่จะยังคงเข้มงวดต่อไปจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

6.ภาวะอุปทานล้นตลาดยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯอยู่ที่ระดับ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับสูงสุดเดิมที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ และ 7.ทองคำมีความน่าสนใจมากขึ้นในเดือนนี้ เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะปรับฐาน นักลงทุนจึงมีแนวโน้มหันมาลงทุนในทองคำในฐานะสินทรัพย์ทางเลือก

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ หรือ TISCO วิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทย ว่า สภาพคล่องทั่วโลกที่มีอยู่ค่อนข้างมาก ฉะนั้น ตลาดหุ้นทั่วโลกมีโอกาสปรับตัวขึ้นแม้ว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลาดหุ้นไทยอาจเจอแรงเทขายออกมาบ้าง หลังดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 1,724 จุด และนักลงทุนต่างชาติทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายระดับ 20% (กำไรค่าเงินและดัชนีเพิ่มขึ้น)

ทว่า ในปี 2561 คาดว่าดัชนี SET Index จะทำสถิติสูงสุดใหม่ 1,850 จุด ด้วยปัจจัยสนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโต และเงินลงทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย เพราะสภาพคล่องระบบการเงินตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง แม้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดจะประกาศการลดงบดุลเดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ว่าสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่นยังคงอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing - QE) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเงินมากกว่าสหรัฐฯ ทำให้คาดว่าในอีก 2ปีหน้า (2561-2562) ตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น

ตั้งแต่สหรัฐฯ อัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบคิดเป็นจำนวน 14.2 ล้านล้านดอลลาร์ จาก 3.39 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 4 เท่าตัว และปัจจุบันเฟดจะลดงบดุลเดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เชื่อว่าจะไม่กระทบสภาพคล่องระบบเงินโลก เพราะว่ายังมี ยุโรปและญี่ปุ่น ที่ยังอัดเม็ดเงินเข้ามาในระบบทำให้คาดว่า ในปีหน้าเม็ดเงินในตลาดโลกราว 14.8 ล้านล้านเหรียญจึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคง Bullish ไปอีก 2 ปี" 

ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด บอกว่า สำหรับมุมมองนักลงทุนสถาบันตลาดหุ้นไทยในระยะยาวยังมีทิศทางเติบโต แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง ฉะนั้นต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน” แต่อย่างไรก็ตาม ในระดับดัชนี SET Index เกิน 1,700 จุดขึ้นไปถือว่าตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาสูง 

แต่ในแง่ของนักลงทุนสถาบันเห็นว่า ยังมีหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งขนาดใหญ่ที่อยู่ใน SET 50 อีกจำนวนมากที่มี P/E อยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้น หุ้นที่เห็นว่าวันนี้ราคาไม่ขยับอาจจะเพราะว่าปัจจัยพื้นฐานยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเพียงพอ แต่ในระยะยาวจะเป็นหุ้นที่เติบโตดี

หากเข้าไปดูในรายละเอียดจะพบว่าแม้ดัชนี SET Index จะไต่ระดับขึ้นมาพอสมควร แต่หุ้นขนาดใหญ่บางตัวราคาไม่ขยับขึ้นมาก ฉะนั้นในตลาดยังมีหุ้นดีพื้นฐานแกร่งราคาถูกให้ซื้ออีกมาก เพียงแต่หุ้นดังกล่าวไม่ได้หวังผลในระยะสั้น

สำหรับ เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2561 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 1,600-1,900 จุด โดยประเมินจากค่า P/E ที่ 15-18 เท่า ขณะที่กำไรบจ.เติบโต 10% หรือ อยู่ที่ 110 บาทต่อหุ้น จากปัจจัยบวกที่มองว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ดี หลังรัฐบาลมีการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาการลงทุนสูงมากเป็นประวัติการณ์ ส่งออกมีการฟื้นตัวที่ดี ทำให้เศรษฐกิจปี 2561 อาจเติบโต“ระดับ4%” 

ดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นมาอยู่เหนือเกิน 1,700 จุด ในปัจจุบันถือว่าไม่น่ากังวล เพราะมีปัจจัยพื้นฐานรองรับ และยังมีหุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 หลายบริษัทยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมี P/E ต่ำ ยังสามารถเข้าลงทุนได้อีกมาก

ส่วนในช่วงปลายปีนี้คาดมีเม็ดเงินซื้อ LTF และ RMF ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท แต่ผู้จัดการกองทุนอาจจะนำเงินมาลงทุนในหุ้น 1-2 หมื่นล้านบาท เพราะเก็บเงินไว้เพื่อรองรับการไถ่ถอนกองทุน LTF ในต้นปี 2561 ทำดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันยังมีนักลงทุนสถาบันในประเทศใส่เงินเข้ามาซื้อกองทุนเรื่อยๆ 

ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยก็ยังมีเม็ดเงินลงทุนจากสถาบันเหล่านี้เรื่อยๆ ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าสถาบันเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่านักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปแสนล้านบาท แต่ในแง่ของเศรษฐกิจเชื่อว่า 2-3 ปีข้างหน้า พัฒนาการการฟื้นตัวจะดีขึ้นเรื่อยๆ และช่วยเติมให้การเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ในระยปานกลางยังดีได้ต่อเนื่อง