'ดิเอราวัณกรุ๊ป'ชู“ฮ็อปอินน์”หัวหอกเจาะลูกค้าองค์กร

'ดิเอราวัณกรุ๊ป'ชู“ฮ็อปอินน์”หัวหอกเจาะลูกค้าองค์กร

ในสถานการณ์ที่กำลังการซื้อภายในประเทศยังเป็นประเด็นที่หลายคนกังวล และไม่แน่ใจในทิศทางที่แน่ชัด 

แต่ภาคการท่องเที่ยวกลับสวนทางหลายๆ อุตสาหกรรม การใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวในประเทศยังขยายตัวได้ดี ซึ่งรวมกับการเติบโตของตลาดต่างประเทศที่สดใส จึงถือว่าอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” และน่าจะต่อเนื่องถึงปี 2561 ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตตามไปด้วย รวมถึงกลุ่มโรงแรมอย่างเช่น ดิ เอราวัณ กรุ๊ป 

กมลวรรณ วิปุลากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากฐานข้อมูลของธุรกิจโรงแรมในเครือ พบว่าตลาดในประเทศยังมีบทบาทสำคัญ โดยสร้างรายได้สัดส่วนสูงสุด 17% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตามด้วยตลาดจีน 16% และสหรัฐ 11% 

เหตุผลที่ทำให้ลูกค้าคนไทยยังเป็นกำลังซื้อหลัก ยังเป็นผลจากที่ผ่านมากลุ่มลงทุนพัฒนาโรงแรมใหม่มุ่งเป้าจับ “ตลาดในประเทศ” โดยเฉพาะ ได้แก่ ฮ็อป อินน์ โรงแรม บัดเจ็ท ที่กำลังขยายสาขาตามแผนเปิดบริการ 50 แห่งภายในปี 2563 ส่วนปีนี้คาดว่าจะเปิดเพิ่มได้ 10 แห่ง รวดเร็วกว่าเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 8 แห่ง ส่งให้ยอดรวมอยู่ที่ 32 แห่ง ใน 28 จังหวัด

บัดเจ็ทโฮเท็ลเจาะลูกค้าคนทำงาน องค์กร

“สาเหตุที่ ฮ็อป อินน์ เปิดใหม่ได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ และสามารถทำกำไรได้ดี เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์เรียนรู้จากการเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2557 และมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจน คือ คนทำงานที่ต้องเดินทางติดต่องานต่างจังหวัดประจำสม่ำเสมอ และแบรนด์สามารถตอบสนองความต้องการห้องพักในระดับราคาราว 1,000 บาท และมีมาตรฐานที่ดีได้"

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ฮ็อป อินน์ สร้างฐานตลาดคอร์ปอเรท หรือลูกค้าองค์กร ได้สูงถึง 65% แต่สำหรับบางทำเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย ก็อาจมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวมาเสริมเท่ากันที่ 50%”

ดังนั้นจำนวนห้องพักที่เปิดใหม่ปีนี้จึงเป็นปีที่ยังทุ่มเทให้กับ ฮ็อป อินน์ อย่างมาก โดยเริ่มเปิดโรงแรมแห่งที่ 2 ในจังหวัดเดียวกัน เช่น ขอนแก่น, แม่สอด, กาญจนบุรี เพื่อตอบรับกับเศรษฐกิจภูมิภาคที่ขยายตัวในพื้นที่ดังกล่าวต่อเนื่อง และกำลังทยอยรุกเข้าสู่ “เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ อีอีซี ต่อเนื่อง ด้วยการเข้าไปเปิดฮ็อป อินน์ ในระยอง, ชลบุรี และจันทบุรี ด้วย และในปี 2561 คาดว่าจะยังเปิดให้บริการเพิ่มได้อีกราว 8 แห่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาฮ็อป อินน์ จะใช้กลยุทธ์เติบโตในต่างจังหวัด แต่ในปี 2561 เป็นต้นไป จะเป็นครั้งแรกที่เริ่มขยับตลาดเข้ามาเกาะทำเลในกรุงเทพฯ เช่น แจ้งวัฒนะ, รัชดาภิเษก, บางนา เพื่อรองรับกลุ่มคน

ทำงานที่ต้องเข้ามาติดต่อศูนย์ราชการ หรือทำธุรกิจในเมืองหลวงมากขึ้น

นักท่องเที่ยวโตร่วมดันยอดพัก

นอกจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักแล้ว การที่ท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็ช่วยผลักดันยอดเข้าพักให้สูงขึ้นเช่นกัน โดยอัตราเข้าพักของโรงแรมในกลุ่มทั้งหมดช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา สูงถึง 81% รายได้จากห้องพักในไทยเติบโต 9% โดย ฮ็อป อินน์ เติบโตสูงสุด 39% รองลงมา 11% ได้แก่ กลุ่มอีโคโนมี ที่มีแบรนด์อย่าง ไอบิส และ ไอบิส สไตล์ ให้บริการส่วนกลุ่มลักชัวรี ที่มีแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ และเจดับบลิว แมริออท เป็นหัวหอกหลัก เติบโต 7% และกลุ่มมิดสเกล ที่มีเมอร์เคียว, โนโวเทล เป็นหลัก เติบโตราว 5%

“ไตรมาส 3สถานการณ์ท่องเที่ยวใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ และยังอยู่ในแนวโน้มการทำรายได้เติบโต 10% ตามที่ตั้งเป้าซึ่งความมั่นใจด้านการท่องเที่ยว ที่ดีกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ"

กมลวรรณ กล่าวว่า องค์ประกอบขับดัน หรือ Key Drivers ที่มีผลบวกมากต่อธุรกิจโรงแรมปีนี้ที่สุดคือ การเดินทางที่เติบโตต่อเนื่อง อย่างเช่นไตรมาส 3 มีชาวต่างชาติเข้ามา 8.8-8.9 ล้านคน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มี 8.2 ล้านคน และคาดการณ์ว่าไตรมาส 4 จะยิ่งเติบโตสูง เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซัน และหลุดพ้นจากผลกระทบของมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญแล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวจีนที่มีกำลังซื้อกลับมาเข้ามาทุกช่องทาง กระจายเข้าพักในโรงแรมทุกเซกเมนต์

สานต่อแผนลงทุนหมื่นล้าน

ดังนั้นนอกจากฮ็อป อินน์แล้ว ในกลุ่มอีโคโนมีและมิดสเกล ที่ดิ เอราวัณ จะยังไม่ทิ้งความถนัดของตัวเองลงไป โดยในปี 2561 จะตอกย้ำการลงทุนในกรุงเทพฯ ด้วยการเปิดโรงแรมโนโวเทล และไอบิส สไตล์ ในซอยนานาเปิดคู่ในอาคารเดียวกัน และปี 2562 เปิดอีก 2 โรงแรมในอาคารเดียวกัน คือ เมอร์เคียว และ ไอบิส บนทำเลทอง สุขุมวิท 24 ตรงข้ามกับห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม ซึ่งทั้งหมดอยู่ในงบราว 3,000 ล้านบาทที่ระบุไปข้างต้น

“วันนี้เรามีโรงแรมในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว 8 แห่ง ซึ่งทุกแห่งมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยเฉพาะตลาดลักชัวรีที่พบว่ามีการฟื้นตัวของตลาดไมซ์ที่ดีมาก หลังจากได้รับผลกระทบจากช่วงปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้ แม้จะไม่ใช่กลุ่มใหญ่ แต่มีการประชุมย่อยที่เข้ามาเสริมตลาดต่อเนื่อง สังเกตได้จากรายได้ห้องพักที่ยังสูงขึ้น ทั้งที่โรงแรมแฟลกชิพมีการปิดบางส่วนปรับปรุง ขณะที่เซกเมนต์ระดับกลางลงไป ที่เป็นโฟกัสหลักของดิ เอราวัณ ในแผน 5 ปีนี้ ก็ได้อานิสงส์จากตลาดท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างมาก จึงทำให้ยังมั่นใจในกรุงเทพฯ แม้จะมีการแข่งขันสูงก็ตาม”

ทั้งนี้ จำนวนโรงแรมของดิ เอราวัณ กรุ๊ป ทั้งหมดในปีนี้ จะอยู่ที่ 52 โรงแรม 7,315 ห้อง ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายปี 2563 ที่ตั้งไว้ที่ 85 โรงแรม มากกว่า 1 หมื่นห้อง การขยายโรงแรมดังกล่าวเป็นไปตามแผนงาน 5 ปี ที่จะลงทุน 1 หมื่นล้านบาท โดย 55% หรือราว 5,500 ล้านบาท ใช้ลงทุนในประเทศผ่านโครงการโรงแรมระดับมิดสเกลและอีโคโนมีประมาณ 3,000 ล้านบาท และฮ็อป อินน์ 2,000 ล้านบาท ขณะที่อีก 15% จะใช้สำหรับการปรับปรุงโรงแรม (รีโนเวท) ซึ่งส่วนใหญ่จะทุ่มให้กับการปรับ “เจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ” แฟลกชิพระดับ 5 ดาวใจกลางกรุงเทพฯ ที่เข้าสู่การทยอยปรับปรุงใหญ่ 3 ปี โดยใช้วิธีปิดบางส่วนเฉพาะช่วงโลว์ซีซัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการลูกค้า ทั้งนี้ ปีนี้เป็นการดำเนินการแผน 5 ปี เป็นปีที่ 2

รุกต่างประเทศขยับราคาห้องพัก

กมลวรรณ กล่าวว่า สำหรับ ฮ็อป อินน์ นอกจากในไทยแล้ว ยังมีแผนรุกตลาดฮ็อป อินน์ ในฟิลิปปินส์มากขึ้น โดยจะเปิดเพิ่ม 3 แห่ง จากปัจจุบัน 2 แห่ง มีพื้นที่เป้าหมายใน 2 เมืองหลัก คือ มะนิลา และ เซบู และกำหนดเป้าหมายปี 2563 จะเปิดให้ได้ 10-12 แห่ง ซึ่งการขยายตลาดต่างประเทศนั้นบริษัทคาดหวังจะได้เห็น ราคาห้องพัก ที่สามารถถีบตัวจากระดับบัดเจ็ท ขึ้นมาใกล้เคียงกับกลุ่มอีโคโนมีในไทย ที่ 1,200-1,300 บาท/คืน และสามารถสร้างในขนาดใหญ่กว่าคือ 150 ห้องขึ้นไป ต่างจากในไทยที่เฉลี่ยไม่เกิน 100 ห้อง/แห่ง