เชี่ยวหลาน...พระบารมีปกเกล้า

เชี่ยวหลาน...พระบารมีปกเกล้า

‘รัชชประภา’ แปลว่าแสงสว่างแห่งราชอาณาจักร แสงสว่างที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่แผ่บารมีปกเกล้าคุ้มเกศ นำความร่มเย็น การอยู่ดีกินดีของราษฎร

            ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือ ‘ตะกอนป่า’ ถึงความผูกพันระหว่าง นักศึกษาอนุรักษ์ฯ ที่เรียกว่า คอทส.ที่บางคนได้ลงมาช่วยคุณสืบ นาคะเสถียร ช่วยสัตว์ป่าที่ถูกน้ำท่วม กับเคยเล่าเหตุการณ์ที่เรือหางยาวลำที่ผมเช่านั่งเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน จมลงไปใต้เขื่อนทันทีที่คณะเราคนสุดท้ายขึ้นจากเรือได้ อันเป็นผลมาจากการขับเรือฝ่าสายฝนและคลื่นลมในเขื่อน เหล่านี้จึงเป็นความตรึงใจและผูกพันที่ผมมีให้เขื่อนแห่งนี้

            30 ปีผ่านไปที่เขื่อนแห่งนี้กำเนิดขึ้นมาในสุราษฏร์ธานี แน่นอนว่าต้องเสียพื้นที่ป่าส่วนหนึ่ง สำหรับเป็นที่กักกันน้ำ แต่ก็ได้อะไรกลับมามากมาย เขาสก-เชี่ยวหลาน กลายเป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งที่คนเดินทางมักจะต้องไปเมื่อมาสุราษฏร์ธานี ที่เขาสกนั้น ส่วนใหญ่คนต่างชาติจะไป แต่สำหรับที่เชี่ยวหลาน ทั้งคนไทยและคนต่างชาติก็มักจะมาให้ได้สักครั้งหนึ่งเมื่อมาสุราษฎร์ธานี

            ตัวเขื่อนสร้างกั้นคลองแสง ในบ้านเชี่ยวหลาน ต.เขาพัง อ.ย่านตาขุน เป็นเขื่อนแบบหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 94 เมตร สันเขื่อนยาว 761 เมตร มีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาอีก6 แห่ง อยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ 1 แห่ง และฝั่งขวาของแม่น้ำ 5 แห่ง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 5,639 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ย ปีละ 3,057ล้านลูกบาศก์เมตรนี่คือข้อมูลของเขื่อนที่แจ้งไว้

            พื้นน้ำที่กักเก็บภายใต้สันเขื่อนสูง 94 เมตรนี้ ทำให้ผืนน้ำ ลัดเลาะเข้าไปในหุบห้วยที่แต่เดิมเป็นป่าอุดมสมบูรณ์อยู่ในเทือกเขาหินปูนอันสลับซับซ้อน หมู่เขาหินปูนที่ส่วนใหญ่เป็นทรงยอดแหลม และไร้รูปแบบที่แน่นอน ครั้นผืนน้ำกลบกลืนผืนป่า ซอกซอนไปในหุบห้วยที่เคยอยู่ลึกจนสุดเดิน มาบัดนี้...ผืนน้ำสามารถพาให้ผู้คนเดินทางไปเยือนยอดเขาสูงที่อวดโฉมตระหง่านเหนือผืนน้ำ โดยเฉพาะในวันที่ฟ้าใส แดดจัด น้ำภายในเขื่อนจะเป็นสีเขียวใส ช่วยขับให้ยอดเขาหินปูนที่มีรูปทรงสวยงามนั้น เด่นตระหง่านกลางผืนน้ำนั้นสวยงามสะดุดตายิ่งขึ้น ผมไม่ยอมรับฉายาที่ใครต่อใครตั้งให้ที่นี่ว่าคือ “กุ้ยหลินเมืองไทย” เพราะตามสายตาผม ที่นี่สวยกว่ากุ้ยหลินที่เมืองจีนอย่างมากมาย

            การนั่งเรือล่องชมความงามของปะติมากรรมเขาหินปูน ที่คล้ายดั่งทะลุน้ำขึ้นมานั้น เป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนจากทุกสารทิศ หลังไหลมาชื่นชมความงามเหล่านี้ ในแต่ละวันที่ท่าเรือทางลงของอุทยานแห่งชาติเขาสก จะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ ที่บ้างก็เพียงนั่งเรือชมความงามในผืนน้ำหรือเปลี่ยนอิริยาบถป่ายปีนขึ้นไปบนน้ำตกเก้าเซียนที่ตกลงในผืนน้ำสีเขียวใส หรือถ้าจะให้อิงแอบแนบชิดบรรยากาศของผืนน้ำกว้างและอ้อมกอดของขุนเขา ก็มักจะพักแรมบนแพพักต่างๆ ที่กระจายกันอยู่ตามมุมต่างๆ ในอ่างเก็บน้ำ แต่ละแห่งสร้างรูปแบบที่พักให้แตกต่างกันออกไป แต่ล้วนแล้วแต่ลอยอยู่บนน้ำทั้งนั้น...

            ในสายตาของผม...แพพักของหน่วยพิทักษ์อุทยานเขาสก (คลองคะ) เป็นทำเลที่ตั้งที่สวยงามที่สุด อาจจะเป็นของหลวงด้วยกระมัง ทำให้ได้ทำเลที่ดีและสวยงาม และแน่นอนว่าที่พักเขาไม่แพง ราคาแค่หลักร้อยเท่านั้น

            แต่ไม่ว่าคนจะแค่มาล่องเรือชมความงามของเขื่อนเชี่ยวหลาน หรือคนจะมาพักแรม ก็ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งเศรษฐกิจของพื้นที่ ที่นักท่องเที่ยวล้วนนำเงินมาจับจ่ายใช้สอย จนปลายทางที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ทำเงินให้กับสุราษฏร์ธานีมากมาย ปีหนึ่งหลายล้านบาท นี่เป็นเม็ดเงินที่รัฐบาลดูจะพอใจอยู่ในที เพราะปี 2559 ที่ผ่านมาทั้งปี รัฐบาลรายงานว่ามีเงินที่มาจากการท่องเที่ยว 2.2 ล้านล้าน แต่ในปี 2560 เพียงครึ่งปี รัฐทำเงินจากการท่องเที่ยวได้แล้ว 1.7 ล้านล้าน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็มาจากเขื่อนที่ชื่อเชี่ยวหลานนี่เอง

            ในเอกสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บอกเล่าถึงที่มาของเขื่อนแห่งนี้ว่า

            ”...การพัฒนาพลังงานและแหล่งน้ำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงสนพระราชฤทัยเกี่ยวกับงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าให้แก่ราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารที่อยู่ห่างไกล ซึ่งถ้าจะต่อไฟฟ้าเข้าตามระบบปกติจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงได้พระราชทานพระราชดำริ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และผลิตไฟฟ้าไปพร้อมๆ กัน ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการผลิตขนาดเล็กได้กระแสไฟฟ้าไม่มากแต่มีปริมาณเพียงพอใช้ในหมู่บ้าน โดยน้ำที่ผ่านการผลิตไฟฟ้าจะเข้าสู่ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร อุปโภค บริโภค ต่อไป ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน หรือเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโครงการ กฟผ. พระองค์ทรงสอบถาม และเสนอแนะว่าจุดไหนควรได้รับการพัฒนาให้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการโครงการพัฒนาพลังงาน และแหล่งน้ำนับสิบโครงการทั่วทุกภูมิภาคของประเทศที่ กฟผ. ได้ดำเนินการเพื่อเสนอพระราชดำริ

            และเขื่อนรัชชประภาแห่งนี้ก็เป็นเขื่อนหนึ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มาทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2530 และทรงพระราชทานนามเขื่อนว่า “เขื่อนรัชชประภา" ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่รัฐบาลสร้างถวายในวโรกาสพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ หรือพิธีรัชมังคลาภิเษกและได้อำนวยประโยชน์ในด้านต่างๆให้แก่ประชาชน...”

          ‘รัชชประภา’ แปลว่าแสงสว่างแห่งราชอาณาจักร แสงสว่างที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่แผ่บารมีปกเกล้าคุ้มเกศ นำความร่มเย็น การอยู่ดีกินดีของราษฎร์ ที่มาจากโครงต่างๆ จากเขื่อนเชี่ยวหลาน มาสู่ ‘รัชชประภา’ 30 กันยายนนี้ จะครบ 30 ปีของเขื่อนแห่งนี้   ไม่ว่าคืนวันจะผ่านไปกี่ปี เขื่อนจะอายุครบเท่าใดก็ตามในอนาคต ทว่า...”ในหลวงในดวงใจ” พระองค์นี้ จะสถิตในดวงใจของพสกนิกรของพระองค์ไปตราบนานเท่านาน...