กฎระเบียบภาครัฐ ท้าทายอนาคต ‘อีคอมเมิร์ซ’

กฎระเบียบภาครัฐ ท้าทายอนาคต ‘อีคอมเมิร์ซ’

หากเอสเอ็มอีต้องการเติบโตในตลาดระดับโลก สิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่าความสามารถทางด้านดิจิทัล คือความคล่องตัวด้านศุลกากรและระเบียบข้อบังคับต่างๆ

ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของธุรกิจขนาดเล็กและเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 98.5% ของธุรกิจในประเทศ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จัดอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี มีส่วนสำคัญช่วยหนุนภาคการส่งออกไปต่างประเทศมากกว่า 30%

อย่างไรก็ตามหากเอสเอ็มอีต้องการเติบโตในตลาดระดับโลก สิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่าความสามารถทางด้านดิจิทัล คือความคล่องตัวด้านศุลกากรและระเบียบข้อบังคับต่างๆ

“ชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์” กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าลงทุนอย่างเต็มที่ในการปฏิรูปธุรกิจและเศรษฐกิจไปสู่ดิจิทัล รับโอกาสตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 15.9% และมีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 2.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560

อย่างไรก็ดี การลงทุนเพื่อปฏิรูปสู่ความเป็นดิจิทัล หรือ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ไม่สามารถเป็นจริงได้หากโครงสร้างพื้นฐานการเติบโตของเอสเอ็มอียังถูกเพิกเฉย เช่น ด้านโลจิสติกส์ รวมถึงพิธีการทางศุลกากรที่เป็นทั้งส่วนสนับสนุนสำคัญและเอื้อต่อการเติบโต

“ถ้าปัญหาเหล่านี้ถูกจัดการโดยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก็จะช่วยให้เอสเอ็มอีและเศรษฐกิจของประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตได้อย่างเต็มที่”

ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่

ชนัญญารักษ์แสดงทัศนะว่า ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจำนวนมากในประเทศไทยมีแผนขยายธุรกิจไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตามพวกเขาต้องเอาชนะความท้าทายที่เกิดขึ้นให้ได้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ เอสเอ็มอีในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นว่า ทีมงานของพวกเขามักใช้เวลายาวนานกับกระบวนการด้านโลจิสติกส์ ไม่เพียงมีทีมงานจำนวนน้อยยังมีเพียงส่วนน้อยที่เชี่ยวชาญ

ที่ผ่านมา กฏระเบียบข้อบังคับต่างๆ มักมีรายละเอียดเชิงเทคนิคขั้นสูง บทลงโทษและค่าปรับสูงมากหากไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดเหล่านั้น รวมถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาต และการลงทะเบียน มักสร้างความสับสนให้กับเอสเอ็มอีรายใหม่ และก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึงมากมาย หลายครั้งที่เอสเอ็มอีไม่แน่ใจว่า หน่วยงานใดรับผิดชอบต่อการจัดเก็บภาษี รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านศุลกากรต่างๆ

“เมื่อต้องเจอกับแนวทางและกฏระเบียบที่ไม่ชัดเจน หรือความต้องการด้านเอกสารที่ไม่จบสิ้น เอสเอ็มอีมักพบว่าพวกเขามีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ และมักเจอปัญหาด้านภาษีที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลกำไรของธุรกิจ”

อย่างไรก็ดี โดยธรรมชาติของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เอสเอ็มอีไทยต้องจัดการกับกฎระเบียบศุลกากรที่หลากหลายของประเทศปลายทางแต่ละประเทศ รวมทั้งอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่ส่งคืน เผชิญกับความซับซ้อนด้านการคำนวณภาษีจากสินค้าที่ถูกส่งคืนเมื่อกลับเข้ามาภายในประเทศ บ่อยครั้งพวกเขาจึงเลือกที่จะสละสินค้าของตัวเอง มากกว่าที่จะนำสินค้าที่ผู้ซื้อปฏิเสธการรับกลับเข้ามาและต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดคิดไว้ในตอนต้นซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนของพวกเขาในภายหลัง

ดึงมือโปรลดภาระ

ปัจจุบันเอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกระบวนการศุลกากรที่ซับซ้อนของประเทศไทย การมีระเบียบข้อบังคับข้ามพรมแดนที่ยืดหยุ่นจะช่วยปลดเปลื้องภาระของเอสเอ็มอีออกไป ทำให้เอสเอ็มอีมีเวลาวางแผนและหากลยุทธ์สร้างการเติบโตของธุรกิจไประดับโลกผ่านอีคอมเมิร์ซ และช่องทางอื่นๆทั้งนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือในการทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันในตลาดโลกได้

ภาคเอกชนสามารถช่วยแบ่งเบาภาระในการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในนามของเอสเอ็มอีได้ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์นั้นจำเป็นต้องมีความรู้และแสวงหาความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนด้านศุลกากรจากทั่วทุกมุมโลก

ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มมูลค่าด้วยการให้บริการที่น่าเชื่อถือ เช่น การจัดส่งสินค้าตามความต้องการ การบริหารจัดการคลังสินค้า หรือการคำนวณอากรขาเข้าด้วยเครื่องมือทางออนไลน์ รวมถึงต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อลดความซับซ้อนของกฎระเบียบข้ามพรมแดน

หวังรัฐชัดเจน-ยืดหยุ่น 

เธอกล่าวว่า สิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ที่รัฐบาลควรพิจารณาทำ คือ การขจัดข้อสงสัยต่างๆ ในการปฏิบัติตามข้อบังคับ รัฐบาลควรจัดทำข้อแนะนำที่ชัดเจนในภาษาที่เข้าใจง่าย ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าใจและตอบสนองความต้องการในการส่งออกโดยมีปัญหาให้น้อยที่สุด

รวมถึงการให้บริการ เช่น การเคลียร์สินค้าแบบไม่ต้องพึ่งพาเอกสาร (Paperless Clearance) กระบวนการผ่านพิธีการศุลกากรก่อนพัสดุถึงประเทศปลายทาง การใช้เกณฑ์ขั้นต่ำในการผ่อนปรน (De Minimis) หรือ เกณฑ์ที่อนุโลมให้สินค้าสามารถได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหากมูลค่าของสินค้านั้นไม่สูงมากนัก

โดยทั้งหมดนี้เป็นพันธะสัญญาขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ไม่เพียงช่วยให้กระบวนการโปร่งใสมากยิ่งขึ้น แต่ยังช่วยเร่งและลดความซับซ้อนในการขนส่งสินค้าของพวกเขา รวมถึงการยึดตามแนวทางอีคอมเมิร์ซที่ข้อมูลและการชำระค่าภาษีอากรสามารถดำเนินการได้ผ่านเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น พร้อมกับขั้นตอนการคืนภาษี เมื่อมีการส่งคืนสินค้า

“เอสเอ็มอีจะสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ หากรัฐบาลสามารถทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์และเอสเอ็มอี ไม่เพียงเข้าใจว่า ธุรกิจขนาดเล็กกำลังเผชิญกับอุปสรรคอะไร แต่รวมถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไรด้วย”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการปรับกฎระเบียบข้อบังคับให้เกื้อหนุนการทำการค้าระหว่างประเทศหรือการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ผ่านออนไลน์ หรือโทรศัพท์มือถือ การปฏิรูปไปสู่ระบบดิจิทัลโดยอุตสาหกรรม4.0 นั้นจะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มศักยภาพโดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของศุลกากร และกฎระเบียบข้อบังคับ ถ้าสิ่งเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจขนาดเล็กและเอสเอ็มอีจะมีศักยภาพและทำกำไรจากการค้าขายระหว่างประเทศง่ายขึ้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป