ทาเลนท์โมบิลิตี้ ประตูเชื่อมรัฐ-เอกชน

ทาเลนท์โมบิลิตี้ ประตูเชื่อมรัฐ-เอกชน

ความสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดของ “อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง” อย่างต่อเนื่อง ทำให้ “เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร” กรรมการผู้จัดการ ยึดเป็นแนวทางสำคัญในการทำวิจัย หรือร่วมวิจัยกับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านโครงการทาเลนท์ โมบิลิตี้

หรือ “โครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน”
ฐานรากเสริมแกร่งเอกชน
“ระยะเวลา 10 ปีตั้งแต่ปี 2550-2560 อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง มีงานวิจัยกว่า 75 โครงการ และยังอยู่ระหว่างพัฒนาอีกไม่น้อย ยกตัวอย่าง นมข้าวกล้องงอก V-Fit ที่ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ใช้เอนไซม์มาช่วยแก้ปัญหาเนื้อสัมผัสที่ข้นหนืดให้ลดลง และตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารกาบ้าในข้าวกล้องงอกอีกด้วย” เกรียงศักดิ์ กล่าว
บริษัทยังมีโจทย์วิจัยอีกมากที่จะเชื่อมโยงนักวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ล่าสุดคือ ความร่วมมือกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำเศษวุ้นที่เป็นของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นสารคงตัวสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์อื่น เช่น น้ำจิ้ม ซอส ทำให้ของเหลือทิ้งสามารถเพิ่มมูลค่าในราคากิโลกรัมละหลายร้อยบาท ขณะที่บริษัทสามารถประหยัดได้หลายล้านบาทต่อปี
“ปีนี้ เราทำวิจัยเกือบ 20 โครงการ ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัยที่พร้อมเข้ามาร่วม โดยเฉพาะโครงการร่วมกับโปรแกรมไอแทป สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำให้เห็นว่า ทาเลนท์โมบิลิตี้เป็นโครงการที่ดีมาก แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่คิดในช่วงแรก แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มองเห็นความสำคัญที่อาจารย์และภาคเอกชนจะทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงองค์ความรู้และโจทย์ในสถานการณ์จริง”
ด้านกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า โครงการทาเลนท์ โมบิลิตี้ ถือว่าประสบความสำเร็จโดยสามารถผลักดันให้สถานบันการศึกษาที่ไม่เคยทำงานร่วมกับเอกชน เข้าใจและสร้างนโยบายที่สนับสนุนการทำวิจัยร่วมกับเอกชน สร้างระบบเคลียริ่งเฮาส์ขึ้นมาอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงบุคลากรภาครัฐให้ไปช่วยภาคเอกชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ 21 มหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการ และมีศูนย์ทาเลนท์ฯ กว่า 20 แห่งกระจายทั่วประเทศ ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมให้กับนักวิจัยภาครัฐก่อนเข้าร่วมงานกับภาคเอกชน
เร่งวางนโยบายสร้างกำลังเสริม
“ในปี 2561 สวทน.จัดสรรงบ 60 ล้านบาท สมทบงบของ สกอ. 90 ล้านบาท รวมจะมีงบสำหรับทาเลนท์โมบิลิตี้ประมาณ 150 ล้านบาท จะสามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรที่ไปทำงานกับเอกชนเป็น 2 พันคนในปี 2562 ขณะเดียวกันคาดหวังจะเพิ่มบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมในปี 2561 ให้เป็น 500 บริษัท” กิติพงค์ กล่าว
ภายใต้โครงการทาเลนท์ฯ มีบุคลากรเคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนแล้ว 993 คน แบ่งเป็น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย 466 คน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยของรัฐ 83 คน และผู้ช่วยนักวิจัย 280 คน (นักศึกษา ป.เอก 51 คน ป.โท 101 คน ป.ตรี 292 คน) มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 292 บริษัท จาก 366 โครงการ แบ่งเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 90% (263 แห่ง) ประเภทอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการมากที่สุดคือ เกษตรและอาหาร 37% และเป็นกิจกรรมการวิจัยและพัฒนามากถึง 61%
กิติพงค์ กล่าวอีกว่า ทาเลนท์ฯ ในปีต่อไปจะเดินหน้าดึงเอกชนรายใหญ่เข้ามาร่วม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและซับซ้อน โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ คาดว่าจะมีบริษัทรายใหญ่เป็น 25% ของ 500 บริษัทที่เข้ามาร่วมโครงการในปีนี้
นอกจากนี้ สวทน.เตรียมที่จะสร้างกลไกพัฒนากำลังคน โดยสร้างโอกาสให้นักเรียนทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลับมาทำงานในสถานศึกษาทั่วประเทศกว่า 3 พันราย พร้อมกันนี้ก็จะทำ Cross-Border Mobility ดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติหรือนักวิจัยไทยในต่างประเทศ เข้ามาทำงานกับเอกชนไทย โดยร่วมมือกับบีโอไอปลดล็อคเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงเป็นตัวกลางรับรองคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญในการขอวีซ่าหรือเวิร์คเพอร์มิตอีกด้วย