เมดิคอลทัวริสซึ่ม ขุมทรัพย์ 'รพ.วัฒนแพทย์ ตรัง'

เมดิคอลทัวริสซึ่ม ขุมทรัพย์ 'รพ.วัฒนแพทย์ ตรัง'

โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง ชูคอนเซ็ปต์ 'ทีมแพทย์เฉพาะทาง-เครื่องมือทันสมัย' เรียกเรตติ้งนักชอปหุ้น 'เชน เหล่าสุนทร' หัวเรือใหญ่ ย้ำแผนธุรกิจเร่งขยาย 2 แห่ง รับกลุ่มคนไข้ต่างชาติ-ไทยพุ่ง พร้อมรักษามาร์เก็ตแชร์เบอร์หนึ่ง จังหวัดตรัง 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่

'ประสบการณ์ให้บริการด้านการรักษาพยาบาลยาวนานกว่า 60 ปี และมีทีมแพทย์เฉพาะทางครอบคลุมสาขาต่างๆ บวกกับเครื่องมือที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพ…!'  

'เชน เหล่าสุนทร' รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฝ่ายการเงิน บมจ.โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง หรือ WPH หุ้นน้องใหม่ไอพีโอที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ จำนวน 150 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 3.90 บาท บอกถึง 'จุดเด่นหุ้นโรงพยาบาล' ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟัง

โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่ม 'ตระกูลลีละวัฒน์' สัดส่วน 71.92% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ) เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่และทันสมัยครบวงจร ที่เปิดบริการคนไข้อยู่คู่ชาวตรังและชาวจังหวัดใกล้เคียงมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเพียง 'คลินิกหมอวิทย์' ของ 'นายแพทย์วิทยา ลีละวัฒน์' ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2500 จนเติบโตเรื่อยมา 

จากคลินิกหมอวิทย์ที่เป็นสถานพยาบาลเมื่อปี 2505 กลายมาเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อปี 2520 และต่อมาเป็นโรงพยาบาลสมบูรณ์แบบเมื่อปี 2534 ในปัจจุบันโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง เติบโตเรื่อยมาจนบัดนี้ และมาเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง 

ปัจจุบัน รพ.วัฒนแพทย์ ตรัง ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนเพียงแห่งเดียวในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียงที่ได้รับการรับรองคุณภาพ Hospital Accreditation (HA) ขั้นที่ 3 รวมถึงได้รับการรับรองจากบริษัทประกันภัยรายใหญ่ให้เข้าร่วมโครงการ Pilot Preferred Provider ด้วย 

สอดคล้องกับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2557-2559) มีรายได้อยู่ที่ 430.86 , 476.54 และ 542 ล้านบาท ตามลำดับ และ 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ (-16.61) , 43.37 และ 72.24 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 1/60 มีรายได้ 145.75 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 12.83 ล้านบาท

เมื่อเป้าหมายต้องการให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง แผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จึงเกิดขึ้น 'เชน เหล่าสุนทร' หลานชาย 'หุ้นใหญ่' บอกเช่นนั้น แม้ปัจจุบัน รพ.วัฒนแพทย์ ตรัง เป็นโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เบอร์ 1 ในจังหวัดตรัง ในด้านความพร้อมบุคลากรเฉพาะทางหลากหลาย มีเครื่องมือทางการแพทย์ทันสมัยสุด 

ทว่า หากไม่ต้องการเสีย 'ส่วนแบ่งทางการตลาด' หรือ 'มาร์เก็ตแชร์' บริษัทจำเป็นต้องเติบโต ฉะนั้น ในแผนธุรกิจจึงมุ่งขยายธุรกิจจำนวน  2 แห่ง นั่นคือ ในส่วนของ 'โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง' และ 'โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง' ในฐานะบริษัทย่อย ถือหุ้น 90.03% เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับเงินจากการระดมทุนกว่า 565.48 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถรองรับการขยายธุรกิจของโรงพยาบาลได้ในอนาคต

สำหรับโครงการขยาย 'โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง' บริษัทมีแผนก่อสร้างเป็นอาคารแห่งใหม่ 2 อาคาร และอาคารจอดรถ 300 คัน รวมถึงปรับปรุงอาคารเดิม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการจากปัจจุบันจำนวน 120 เตียง มาเป็น 212 เตียง และมีห้องตรวจเพิ่มขึ้นอีก 33 ห้อง จากเดิมมี 34 ห้อง ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้ 800 คนต่อวัน คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดประมาณไตรมาส 3 ปี 2563 

นอกจากนี้ หลังมีตึกใหม่ รพ.วัฒนแพทย์ ตรัง จะเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น เช่น ศูนย์ตรวจสุขภาพทั่วไป ,ศูนย์เวชศาสตร์ความงาน ,ศูนย์ชะลอวัย เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมทั้งจะพัฒนาส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อเปิดร้านค้า ร้านกาแฟ และร้านอาหาร ที่จะให้บริการกับผู้ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยด้วย

ขณะที่โครงการสร้าง 'โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง' โดยเป็นการขยายขอบเขตการให้บริการจากเดิมที่เปิดเป็น 'คลินิกเวชกรรม อินเตอร์เนชั่นแนล' โดยจะสร้างเป็นโรงพยาบาลบนพื้นที่จำนวน 9 ไร่ เป็นอาคารขนาด 4 ชั้น พื้นที่ 8,000 ตารางเมตร ขนาด 59 เตียง ด้วยมูลค่าลงทุน 450 ล้านบาท ปัจจุบันมีการลงทุนก่อสร้างอาคารไปแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ไตรมาส 4 ปี 2561 และจะถึง 'จุดคุ้มทุน' ภายใน 1 ปี ขณะที่พื้นที่ทั้งหมดมีศักยภาพที่จะขยายได้ถึง 120 เตียง  

'ตามสถิติของโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้คนไข้ต่างชาติเป็นสัดส่วนใหญ่ มีโอกาสที่จะถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วกว่าสัดส่วนคนไข้ที่เป็นคนไทยอย่างเดียว เพราะว่าคนไข้ต่างชาติมีความซับซ้อนในการรักษาโรคมากกว่า'

เขา บอกต่อว่า รพ.วัฒนแพทย์ ตรัง ถือหุ้นในรพ.วัฒนาแพทย์ อ่าวนาง สัดส่วน 90.03% และอีก 10% ถือหุ้นโดยพันธมิตรในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งพันธมิตรดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ ฉะนั้น เมื่อมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมีอาการเจ็บป่วย เขาจะส่งตัวมารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล สะท้อนผ่านการเติบโตของสัดส่วนรายได้จาก 'คนไข้ต่างชาติ 80-90%'  

พื้นที่อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรป และ จีน สะท้อนภาพให้เห็นชัดเจนแม้ว่าในช่วง 'นอกฤดูท่องเที่ยว' (โลซีซั่น) ยังมีเที่ยวบินขึ้นลงท่าอากาศยานกระบี่วันละ 80 เที่ยวต่อสัปดาห์  ขณะที่ช่วง 'ฤดูท่องเที่ยว' (ไฮซีซั่น) มีเที่ยวบินขึ้นลงมากกว่า 100 เที่ยวต่อสัปดาห์ รวมทั้งจังหวัดกระบี่สร้างรายได้มากสุด 'ติดTOP 5' ของประเทศไทย  

'ฉะนั้น พื้นที่ดังกล่าวยังมีโอกาสให้เราเติบโตอีกมาก ประกอบกับพื้นที่อ่าวนางเราเป็นโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวด้วย'

'เชน' กล่าวต่อว่า เดิมในพื้นที่อ่าวนาง บริษัทได้เข้าไปศึกษาตลาดด้วยการเปิดเป็น 'คลินิกเวชกรรมอินเตอร์เนชั่นแนล' ในอ่าวนาง แต่กลับพบว่าคลินิกกลับได้รับความไว้วางใจจากคนไข้จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการคุณภาพในการรักษาที่มีมาตรฐานสูง แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถรับผู้ป่วยใน (IPD) ได้ บริษัทจึงตัดสินใจลงทุนสร้างเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา

'รายได้หลักรพ.ตรังจะเป็นผู้ป่วยในพื้นทีและจังหวัดใกล้เคียง ขณะที่รายได้หลักรพ.อ่าวนาง จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะว่าทั้งสองแห่งเป็นเครือเดียวกัน เปรียบเหมือนกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา'

เงินระดมทุนอีกส่วนจะนำไปใช้สำหรับชำระคืนเงินกู้ยืม ซึ่งทำให้ภาระจ่ายดอกเบี้ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเงินที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และเงินลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการแพทย์ 

'เป้าหมาย 3 ปี (2561-2563) หลังเปิดให้บริการโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง รายได้แตะระดับ 1,000 ล้านบาท และสัดส่วนคนไข้ต่างชาติเพิ่มเป็น 40% จากปัจจุบัน 16% และภายใน 3 ปี สัดส่วนเพิ่มเป็น 70-80% เนื่องจากการให้บริการกับลูกค้าต่างชาติให้อัตรากำไรสูงกว่าลูกค้าคนไทย'

สำหรับปี 2560 ผลประกอบการมีทิศทางชะลอตัว โดยต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้โต 15% เหลือเติบโต 3% จากปีก่อนที่มีรายได้ 542 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ทำให้กำลังซื้อหดหายไปมาก ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเกิดภาวะเงินฝืดในภาคใต้หลังจากปัญหาน้ำท่วมผ่านพ้นไป เพราะว่าประชาชนนำเงินไปใช้ซ่อมแซมบ้านเรือน ขณะที่การรักษาพยาบาลได้หันไปรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาลแทน ส่งผลทำให้จำนวนผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลของบริษัทลดลงไปส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังซึ่งเข้าสู่ไฮซีซั่นของธุรกิจโรงพยาบาลรายได้น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นมา  

อย่างไรก็ตาม มองว่ายังมีปริมาณการรักษาชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น สามารถช่วยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังให้เติบโตได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ประกอบกับแนวโน้มของอัตราค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) ยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 1,813 บาทต่อคนต่อบิล ในช่วงครึ่งปีแรก จากสิ้นปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,706 บาทต่อคนต่อบิล ซึ่งเป็นผลมาจากความซับซ้อนของโรคที่เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม ผลประกอบการจะกลับมาเติบโต “โดดเด่น” ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป หลังรับรู้รายได้โรงพยาบาลอ่าวนางเต็มปี โดยรายได้เฉลี่ย 3 ปี เติบโตราว 12% ขณะที่อุตสาหกรรมเติบโตเป็นตัวเลขไม่ต่ำกว่า 10% มาโดยตลอด 

เขา บอกต่อว่า ในแผนธุรกิจนอกจากเติบโตด้วยธุรกิจเดิม บริษัทยังใช้กลยุทธ์ 'ยืดหยุ่น' ด้วยการเปิดโอกาสเติบโตในช่องทางใหม่ ๆ เช่น การสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ หรือ ลงทุนเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาล (M&A) ปัจจุบันมีการเจรจากันอยู่หลายราย ซึ่งหากอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในเขตจังหวัดภาคใต้ และอยู่ห่างจากรพ.วัฒนแพทย์ ตรัง ประมาณ 200-250 กิโลเมตร เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายพื้นที่การให้บริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและครบวงจร

'เรามองจังหวัดที่อยู่เหนือกระบี่-ตรังขึ้นไป เช่น นครศรีธรรมราช ,กระบี่ ,พัทลุง ,สตูล เป็นต้น เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เพราะเราค่อนข้างมีชื่อเสียงในหมู่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ'

ท้ายสุด 'เชน' พูดทิ้งท้ายว่า ด้วยความโดดเด่นในแง่ของทีมบริหารทำให้แบรนด์ 'วัฒนแพทย์' มีชื่อเสียงและความแข็งแกร่ง ทำให้ได้รับการยอมรับจากลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมาก และยังเป็นรพ.ที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่ไม่ด้อย ขณะที่อนาคตยังขยายธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มอีก