ข้างหลังภาพพิมพ์

ข้างหลังภาพพิมพ์

มีโอกาสได้พบคุณพินิตย์ พันธประวัติ เจ้าของผลงานภาพพิมพ์บนโปสเตอร์นิทรรศการพระราชาในดวงใจ ขณะชมนิทรรศการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ได้รู้เรื่องราวข้างหลังภาพที่น่าสนใจยิ่ง

ใครที่ได้เห็นผลงานภาพพิมพ์ของคุณพินิตย์คงรู้สึกคล้ายๆว่าเคยเห็น หรือไม่ก็คุ้นเคยอย่างบอกไม่ถูก ลองหยิบธนบัตรออกมาจากกระเป๋าสตางค์ค่อยๆพิจารณาแล้วคุณจะพบความเชื่อมโยงระหว่างภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปรากฏในธนบัตรกับภาพพิมพ์ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการพระราชาในดวงใจ

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเป็นผลงานภาพพิมพ์ที่เกิดจากภาพแม่พิมพ์แกะสลัก (Engraving: เทคนิคการแกะสลักแม่พิมพ์ ลักษณะเดียวกับการทำแม่พิมพ์ธนบัตรไทย)

“แม่พิมพ์แกะสลักจากทองแดง การแกะสลักจะเป็นภาพกลับเพื่อที่เวลาพิมพ์จะเป็นภาพตรง” คุณพินิตย์ กล่าวถึงขั้นตอนการพิมพ์ของเทคนิค Engraving สำหรับแม่พิมพ์ธนบัตรที่เขานำมาใช้ในการทำงานศิลปะยามว่าง โดยตั้งใจนำออกแสดงหลังเกษียณจากงานประจำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (นิทรรศการจัดแสดงไปเมื่อปี 2558 ในชื่อ “ภาพพิมพ์ใจหทัยดวงราษฎร์” ที่อาร์เดลแกลลอรี)

      “งานของผมเกิดจากเส้นกับจุด แกะสลักร่องลึกลงบนแม่พิมพ์ วิธีการทำค่อนข้างยาก เวลาแกะต้องใช้แว่นขยายช่วย” คุณพินิตย์ อธิบายให้เราเข้าใจก่อนบอกเล่าถึงความรู้สึกในการทำงานภาพพิมพ์ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 13 ผลงานในนิทรรศการพระราชาในดวงใจ

       “ประทับใจพระองค์ท่านมาตั้งแต่เด็ก สมัยเด็กๆชอบวาดรูป ผมชอบนำพระบรมฉายาลักษณ์มาเป็นต้นแบบในการวาดรูปเสมอ หลังจากมาเรียนเพาะช่าง เข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องทำงานเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ยิ่งศึกษาข้อมูลมากเท่าไหร่ยิ่งรู้ว่าพระองค์ทำเพื่อคนไทยมากมาย มีโครงการพระราชดำริ 4,000 กว่าโครงการ เราได้ทำงานเกี่ยวกับในหลวง รู้สึกมีความสุข

ช่วงที่พระองค์สวรรคต ผมไม่อยากทำอะไรเลย จนพักหนึ่งเมื่อคิดถึงว่าเราจะทำงานเพื่อพระองค์ท่าน เราต้องทำงานต่อไป

       ผมมีความสุขที่ได้ทำรูปพระองค์ท่าน เทคนิคการทำงานของผมเป็นเทคนิคชั้นสูงที่ใช้เวลานาน 5-6 เดือนในแต่ละภาพ แต่ผมก็อยากคงเทคนิคนี้ไว้ การที่ได้นำผลงานมาร่วมแสดงครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจเล็กๆของเราที่มีโอกาสน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์มีต่อคนไทยมาโดยตลอด”

      น่ายินดีที่ผลงานในชุดนี้ได้รับเลือกให้จัดพิมพ์เป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์นิทรรศการ ซึ่งจัดแสดงให้ชมที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไปจนถึง 26 พฤศจิกายน ศกนี้ พร้อมทั้งจัดพิมพ์โปสเตอร์จำหน่ายในราคา 190 บาท (ขนาด 16นิ้ว x24 นิ้ว) สอบถามได้ที่ Bacc shop ชั้น 5