‘ทุนวิจัยลอรีอัล’ประตูสู่นวัตกรรม

 ‘ทุนวิจัยลอรีอัล’ประตูสู่นวัตกรรม

3 สตรีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ทุนวิจัยลอรีอัล ปี 2560ช่วยแก้ปัญหาระดับประเทศทั้งเรื่องราคายางพารา ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย-วัณโรคและพลังงานทดแ

เปิดตัว 3 สตรีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ทุนวิจัยลอรีอัล ปี 2560 จาก 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วัสดุศาสตร์และวิทยาศาสตร์เคมี หลังจากทุ่มเทค้นคว้าวิจัยเพื่อหาคำตอบที่จะช่วยแก้ปัญหาระดับประเทศทั้งเรื่องราคายางพารา ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย-วัณโรคและพลังงานทดแทน   โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ภายใต้ความร่วมมือยูเนสโก เพื่อเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีนักวิจัยสตรีได้รับทุนทั้งสิ้น 61 คน ตั้งแต่ปี 2545


วิจัยสยบเชื้อโรคดื้อยา


ผศ.มาริสา พลพวก อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษากระบวนการออโตฟาจีซึ่งเป็นกลไกทางภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ เพื่อค้นหาเป้าหมายของยาตัวใหม่ที่สามารถใช้ในการฆ่าเชื้อมาลาเรียและวัณโรค” เป็นการศึกษาหาสารสกัดจากธรรมชาติที่ออกฤทธิ์คุ้มกันระดับเซลล์
จากการทดสอบพบว่า สารจากธรรมชาติดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อวัณโรคและมาลารียได้สูงขึ้น 50-70% ภายใน 4 ชั่วโมงเมื่อเทียบการทำงานปกติของร่างกาย จึงอาจทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพก่อนในเวลา 3-5 ปี ส่วนการพัฒนาเป็นยาใหม่นั้นต้องใช้เวลานาน และคาดว่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นยาต้านโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันได้ในอนาคต


ส่วนทุนสาขาวัสดุศาสตร์ เป็นผลงานวิจัยของ รศ.นพิดา หิญชีระนันทน์ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “การประยุกต์ใช้ยางธรรมชาติเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและพลังงานทางเลือกอย่างครบวงจร” มุ่งแก้ปัญหาราคายางพาราด้วยนวัตกรรม
นักวิจัยนำยางธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างทางเคมีและนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งยังพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ด้วยการพัฒนาเป็น “สารเสริมความเข้ากันได้” เพื่อผสมยางกับยางหรือยางกับพลาสติกผลิตเป็นพลาสติกที่มีความทนทานและยืดหยุ่นสูง เหมาะนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าขณะเดียวกันขยะยางจากภาคการขนส่งหรืออุตสาหกรรมยาง นำมาแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่บริสุทธิ์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือก ที่เสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศและสามารถแก้ปัญหายางได้ครบวงจร


วัสดุศาสตร์ลดโลกร้อน


ส่วนงานวิจัยของ นางสาวผุศนา หิรัญสิทธิ์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้รับทุนสาขาวัสดุศาสตร์ จากการประยุกต์ใช้การคำนวณด้วยระเบียบวิธี Solid-State DFT สำหรับออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนและวัสดุโครงสร้างนาโน ให้สามารถใช้เพื่อพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ช่วยลดการพึ่งพาเครื่องมือการทดลองที่มีราคาสูงรวมถึงขั้นตอนการทดลองที่ซับซ้อน


ในระยะยาว การวิจัยนี้สามารถพัฒนาเปลี่ยนกลีเชอรอลจากไขมันพืชและสัตว์ไปเป็นสารสกัดโปรเพน ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยาและเครื่องสำอาง ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก 3-4 เท่า และสามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์เคมีที่มีมูลค่าสูง ลดปริมาณก๊าซโลกร้อนในชั้นบรรยากาศ ทั้งยังช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นอีกด้วยงานวิจัยนี้ยังเกี่ยวเนื่องต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทดแทนให้มีความยั่งยืน และสนับสนุนความมั่นคงทางด้านพลังงานด้วยเช่นกัน


ทั้งนี้ เพื่อฉลองครบรอบปีที่ 15 จึงได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L'Oréal Woman Scientist Crystal Award” แก่ 2 นักวิจัยที่เคยได้รับทุนไปแล้ว ได้แก่ ศ.พิมพ์ใจ ใจเย็น มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนปี 2546 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มโครงการในไทย กับงานวิจัยเปลี่ยนของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรให้เป็นสารเคมีและพลังงานที่มีมูลค่าสูงขึ้น ช่วยลดการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ขณะที่ อัญชลี มโนนุกุล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ทุนวิจัยในปี 2551 กับงานวิจัย “การพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์ด้วยการขึ้นรูปโลหะผง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนโลหะของไทย” โดยตัวอย่างผลงานที่สำเร็จและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม คือ ชุดโครงการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไททาเนียม ที่ปัจจุบันบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สามารถผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้แล้วทั้ง 2 คนจะได้เข้าร่วมประชุมกับ 30 นักวิจัยทั่วโลกที่ฝรั่งเศสในปีหน้า เพื่อฉลองครบรอบ 20 ปีทุนวิจัยลอรีอัล