แก้ปัญหาพาสู่ความสำเร็จ

แก้ปัญหาพาสู่ความสำเร็จ

การแก้ปัญหาทุกครั้งย่อมทำให้เกิดความรู้ใหม่ และเห็นแนวทางใหม่ๆ ในการทำงาน ถ้าไม่อายที่จะถามและขอความรู้จากคนรอบข้างก็ยิ่งได้แนวทางใหม่ๆ ยิ่งเรียนรู้จากคนอื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งได้กำไรชีวิตมากเท่านั้น

การสร้างคนให้พร้อมทั้งมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและมีทักษะในการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดีจำเป็นต้องพัฒนาทั้งในแง่ RQ (Resilience Quotient) และ AQ (Adversity Quotient) ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงานในทศวรรษนี้

และการทำงานดังกล่าวก็ไม่จำกัดว่าต้องเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นกิจวัตร แต่ธุรกิจใด ๆ ก็ตามล้วนได้รับผลกระทบจากความผันผวนของโลกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกวินาที

คนเรียนเก่งที่ประสบความสำเร็จมาตลอดชีวิตบางคนจึงอาจมีความต้านทานต่อความล้มเหลวต่ำ นั่นจึงเป็นเหตุให้คนเก่งจำนวนมากเมื่อทำผิดพลาดแล้วสักครั้งจะไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ อีกเลย เพราะเข็ดเขี้ยวกับความล้มเหลวที่ประสบมาและแรงสะท้อนกลับของความล้มเหลวในธุรกิจปัจจุบันนั้นรุนแรงมาก 

ในขณะที่คนเก่งที่มี RQ ที่หมายถึงความยืดหยุ่นปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้เสมอ และ AQ ที่ช่วยให้แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดี ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูงกว่า ซึ่งนักธุรกิจและเจ้าของกิจการ ที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ล้วนเป็นผู้ที่มีที่ RQ และ AQ ด้วยกันทั้งนั้น

เช่นเดียวกับดารานักแสดงนักร้อง ที่เราเห็นเขามีชื่อเสียงโด่งดังได้นั้นก็เป็นผลมาจากความทุ่มเทอย่างหนักในอดีต และคนที่ประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ก็ล้วนพบเจอกับความล้มเหลวและความผิดพลาดในอดีตมากมายหลายครั้งแต่ AQ และ RQ ทำให้เขาฮึดและลุกขึ้นสู้จนประสบความสำเร็จได้ในทุกวันนี้

ไม่ต่างอะไรกับนักกีฬาที่ใช้เวลาฝึกฝนมาอย่างยาวนานเพื่อพบกับความพ่ายแพ้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนที่จะพบกับชัยชนะในอีกหลายปีต่อมา หากเขาไม่มีทั้งความยืดหยุ่นและความกล้าท้าทายกับปัญหาก็ยากที่เขาจะกลับมามีกำลังใจแข่งต่อไปได้

ส่วนตัวผมเองแม้เพื่อนฝูงในวัยเดียวกันส่วนใหญ่ จะมีชีวิตที่ดีและพบกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเหมือนค่าเฉลี่ยที่ไม่แตกต่างกันมากนัก หากจะมีคนที่ประสบความสำเร็จโดดเด่น จนเป็นนักธุรกิจระดับประเทศได้จริงๆ เราก็จะเห็นว่าเขามีทั้ง AQ และ RQ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็กนักเรียนอย่างเห็นได้ชัด

เพราะแม้จะไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แต่เราจะเห็นความมุ่งมั่นของเขาทุกครั้งที่ทำกิจกรรมด้วยกัน แม้จะเกิดปัญหาก็ไม่ย่อท้อแต่ใช้ทุกวิถีทางเพื่อจัดการและทำให้ทุกอย่างลุล่วงไปได้ ซึ่งนั่นเป็นนิสัยพื้นฐานของคนที่มีทักษะในการแก้ปัญหาและกล้าท้าทายโจทย์ยากๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง

แต่การจะได้ลงมือทำงานต่างๆ นั้นก็ต้องมีความมุ่งมั่นและไม่เกี่ยงงานที่ได้รับมอบหมาย และต้องรู้สึกมีส่วนร่วมกับทุกงานที่ทำเพื่อเป็นโอกาสในการได้แสดงฝีมือ และต้องไม่ทิ้งงานเมื่อเกิดปัญหาขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

การแก้ปัญหาทุกครั้งย่อมทำให้เกิดความรู้ใหม่ และเห็นแนวทางใหม่ๆ ในการทำงาน ซึ่งถ้าเราไม่อายที่จะถามและขอความรู้จากคนรอบข้างเราก็ยิ่งได้แนวทางใหม่ๆ มากมายเพื่อให้เลือกใช้ในอนาคต ยิ่งเรียนรู้จากคนอื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งได้กำไรชีวิตมากเท่านั้น

การที่ Jensen Huangผู้ก่อตั้ง Nvidia เน้นย้ำในเรื่องนี้ก็เพราะความคาดหวังต่อเทคโนโลยีเอไอนั้นมีสูงมาก และกว่าที่จะสำเร็จในวันนี้ได้ก็ต้องอาศัยความ Resilience ทั้งของตัวเขา ของหุ้นส่วน และของพนักงานทุกคนอย่างเต็มที่เพื่อก้าวข้ามความล้มเหลวจนกลายเป็นเบอร์หนึ่งด้านเอไอของโลกได้