สิ่งแวดล้อมภาค10 ห่วงบ.ยักษ์ใหญ่แย่งน้ำชาวบ้านใช้หน้าแล้ง

สิ่งแวดล้อมภาค10 ห่วงบ.ยักษ์ใหญ่แย่งน้ำชาวบ้านใช้หน้าแล้ง

ผอ.สิ่งแวดล้อมภาค10 ห่วงบริษัทยักษ์ใหญ่หากได้ตั้งโรงงาน จะแย่งน้ำชาวบ้านใช้หน้าแล้ง หลังขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินของรัฐที่ห้วยเม็ก

จากกรณีที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินของรัฐ แปลงห้วยเม็ก อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่นจำนวน 31 ไร่ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุดทางสิ่งแวดล้อมหวั่น การใช้น้ำของโรงงานจะกระทบกับความต้องการน้ำของประชาชนในพื้นที่ช่วงฤดูแล้งด้วย

นายวิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 10 เปิดเผยว่า การที่มีบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง มีการขออนุญาต การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของรัฐนั้น ในส่วนของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เนื่องจากเมื่อมีโรงงานข้ามาก็จะมีการเจริญเติบโต ในส่วนของโรงงานเองก็จะมีการปลูกสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ เนื่องจากจะต้องมีพนักงานจำนวนมาก ซึ่งในมุมของของสิ่งแวดล้อมมองว่าในพื้นที่ของต้นน้ำของลำน้ำพอง ควรมีพื้นที่ที่ควรกันไว้สำหรับการรักษาระบบนิเวศน์ เนื่องจากจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีความบริสุทธิ์ เพราะจะส่งผลกระทบต่อคนที่ใช้น้ำด้านล่างซึ่งเป็นพื้นที่ ที่คนในหลายจังหวัดได้ใช้น้ำจากลำน้ำพอง

เมื่อมีการตั้งโรงงาน ก็จะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ชุมชนที่อยู่ละแวกใกล้เคียงหากไม่มีการวางแผนที่ดีก็อาจจะมีมลพิษ ซึ่งอาจจะมีการปล่อยน้ำเสียหรือขยะลงปนเปื้อนกับลำน้ำพอง ซึ่งทางโรงงานเองก็อาจจะมีระบบการป้องกันอย่างดี แต่ชุมชนใหม่ที่เกิดขึ้นอาจจะดูแลได้ไม่ดีเท่ากับส่วนของโรงงาน

“ส่วนเขตของการที่จะตั้งโรงงาน ถือว่าเป็นเขตที่มีน้ำดีที่สุด เพราะอยู่ใกล้กับเขื่อนอุบลรัตน์ แหล่งจ่ายน้ำสู่จังหวัดต่างๆ ซึ่งถ้าหากมีการใช้น้ำในช่วงที่ฤดูน้ำมาก ก็ไม่น่าจะกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำ แต่ถ้ามาแย่งใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งในช่วงที่น้ำขาดแคลน ก็จะมีปัญหา และกระทบต่อคนใช้น้ำด้านล่าง เพราะส่วนใหญ่คนท้ายน้ำจะทำการเกษตร ซึ่งปกติทุกปี เขื่อนอุบลรัตน์จะขอความร่วมมือในช่วงฤดูแล้งกับเกษตรให้ใช้น้ำอย่างประหยัดอยู่แล้ว” นายวิรุณภพ กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 10 ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนสภาพป่าที่มีการขออนุญาตตั้งโรงงานนั้น ความจริงแล้วสภาพป่าทางภาคอีสานนั้นเป็นป่าเต็งรัง ที่ค่อนข้างจะผูกพันกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ถือเป็นซูปเปอร์มาร์เก็ตอย่างดีของชาวบ้านแถบนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินตรงนี้ ชาวบ้านบางคนอาจจะไม่มีภูมิต้านทานในการดำรงชีวิต ไม่มีที่เก็บของป่าและพื้นที่เลี้ยงวัว เลี้ยงควายก็อาจจะเดือดร้อนเพิ่มอีก