ตลาดไร้พรมแดน โอกาสทอง ‘เอสเอ็มอีไทย’

ตลาดไร้พรมแดน โอกาสทอง ‘เอสเอ็มอีไทย’

ยุคดิจิทัลที่การค้า การลงทุน อยู่บนโลกไร้พรมแดน เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการทุกระดับรวมไปถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีโอกาสแจ้งเกิดด้วยพลังเทคโนโลยี แม้เงินลงทุนไม่มาก หากแน่จริงสามารถไปต่อได้ไกลถึงระดับเวิลด์ไวด์...

“ชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทยและภาคพื้นอินโดจีน เปิดมุมมองว่า “อีคอมเมิร์ซ” กำลังมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก อ้างอิงจากรายงาน “21st Century Spice Trade” ของ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส มีการคาดการณ์ไว้ว่า ระหว่างปี 2558 จนถึงปี 2563 มูลค่าการค้าปลีกระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 25% หรือคิดเป็น 2 เท่าของการเติบโตอีคอมเมิร์ซในประเทศ

ตามรายงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. ระบุไว้ด้วยว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2560 จะมีมูลค่า 2.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 มากถึง 12.4% โดยมากกว่า 80% ของการเติบโตตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมาจากการค้าในประเทศเป็นหลัก

“นับเป็นการเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อีกจากการทำตลาดต่างประเทศของกลุ่มเอสเอ็มอีไทย”

เขตการค้าเสรีเปิดช่อง

เธอกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศได้ลดลงอย่างมาก และประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลประโยชน์ เนื่องจากมีปัจจัยบวกของมาตรการสนับสนุนในระดับโลกโดยอยู่ระหว่างการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ภายใต้พันธะสัญญาร่วมกันว่าจะลดอุปสรรคสำหรับการขยายตลาดไปยังประเทศที่มีปริมาณการบริโภคสูงดังกล่าว

ดังนั้น ทำให้เอสเอ็มอีในประเทศไทยมีโอกาสเข้าไปแข่งขัน โดยการซื้อผลิตภัณฑ์จากหลากหลายผู้ผลิตเพื่อขายต่อให้กับตลาดขนาดใหญ่ในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้ประโยชน์จากต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ลดลง (Economy of Scale) เพื่อให้ขายสินค้าได้อย่างรวดเร็วในราคาที่แข่งขันได้

ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีไทยควรมีการทดลองตลาดอย่างจริงจัง ผ่านการขายบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ หรือแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส

กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นหนึ่งในแกนหลักที่จะมีส่วนในการปฏิรูปประเทศไทย ภายใต้นโยบาย “อินดัสตรี 4.0” ของรัฐบาลซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไปสู่ดิจิทัล พร้อมผลักดันให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก กลยุทธ์นี้คล้ายคลึงกับการดำเนินการในระดับภูมิภาคด้วยการมุ่งเน้นการเปิดรับนวัตกรรม พัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญและความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆ มีโอกาสในการสำรวจตลาดใหม่ๆ

ด้วยเหตุดังกล่าว การร่วมมือกับองค์กรผู้นำระดับภูมิภาค เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) รวมถึงผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซระดับโลก ที่มีความเชี่ยวชาญจะช่วยผลักดันให้เกิดความเป็นไปได้

ประเมินขณะนี้ ประเทศไทยได้เริ่มผลักดันให้เกิดโครงการต้นแบบต่างๆ เช่น ตลาดอีคอมเมิร์ซสำหรับการขายข้าว ต่อไปเมื่อมีการใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้อย่างแพร่หลาย เอสเอ็มอีไทยย่อมสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเข้าถึง สร้างประสบการณ์ในการขายออนไลน์ และใช้ประโยชน์จากเงินทุนของภาครัฐที่ให้การสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพิ่มพูนทักษะของแรงงานอย่างเต็มที่

เข้าใจการค้าระหว่างประเทศ

ชนัญญารักษ์ชี้ว่า การทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ของโครงสร้างอีคอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จอาจเป็นเรื่องซับซ้อนสำหรับเอสเอ็มอีตั้งแต่เริ่มต้น ทว่ามีความจำเป็นที่เอสเอ็มอีต้องเข้าใจถึงการสร้างดีมานด์ หรือความต้องการให้เกิดขึ้นด้วยการตลาดดิจิทัล การบริหารจัดการธุรกรรมออนไลน์ และการชำระเงิน การรับคำสั่งซื้อ การบริหารจัดการลอจิสติกส์ข้ามพรมแดน การปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับทางศุลกากร รวมถึงการให้บริการลูกค้าและการบริหารจัดการส่งคืนสินค้า

โดยปกติแล้ว ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ มักต้องติดบ่วงอยู่กับ “การชำระเงิน” และ “การขนส่ง” มากที่สุด เป็นสองปัจจัยหลักที่สามารถสร้างประสบการณ์การซื้อขายที่ดี และสร้างโอกาสในการซื้อซ้ำ

ดังนั้น วิธีการชำระเงินออนไลน์ต้องสะดวกสำหรับผู้ซื้อ ได้ทราบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องจ่าย รวมถึงภาษีอากรและค่าจัดส่งสินค้า ทั้งหมดนี้จะสร้างความสะดวกสบายและประสบการณ์ที่ดีตั้งแต่การซื้อขายครั้งแรก

ขณะที่ หลังจากเสร็จสิ้นการทำธุรกรรมออนไลน์ เอสเอ็มอีต้องบริหารจัดการคำสั่งซื้อให้เรียบร้อยสมบูรณ์ พร้อมส่งมอบสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับผู้ซื้อจากทั่วทุกมุมโลก เอสเอ็มอีต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในท้องถิ่นนั้นๆ ว่าสินค้าที่ส่งไปยังที่ต่างๆ ต้องผ่านกฏระเบียบข้อบังคับที่แตกต่างกันไป

ยกตัวอย่างเช่น พิธีการทางศุลกากรสำหรับสินค้าประเภทอาหาร ที่อาจต้องการใบอนุญาตจากหน่วยงานด้านการเกษตร หรือสินค้าประเภทเทคโนโลยี ที่ต้องการใบอนุญาตจากหน่วยงานด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ดังนั้นการทำความเข้าใจหลักเกณฑ์และกฎระเบียบของตลาดเป้าหมายจึงสำคัญมาก เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงของต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ลดความล่าช้าในการขนส่ง รวมถึงค่าปรับ หรือบทลงโทษต่างๆที่เกิด จากความผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ

แกร่งก่อนโกอินเตอร์ 

สำหรับอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่จะเปลี่ยนจากตลาดที่มีศักยภาพ ไปสู่ตลาดที่เฟื่องฟูได้อย่างแท้จริงนั้น ความท้าทายด้านต่างๆ ต้องได้รับการแก้ไขเสียก่อน อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีไม่สามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านั้นได้เพียงลำพัง วันนี้จึงมีการพยายามสร้าง ‘อีโคซิสเต็มส์’ จากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ

โดยการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในรูปแบบดิจิทัล (e-facilitator) ให้ผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อให้กิจกรรมและการดำเนินการอีคอมเมิร์ซทั้งหมดอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ทำให้ใช้งานได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ การประสานงานร่วมกับหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ในการดำเนินงานด้านภาษี พิธีการศุลกากร ที่มีความแตกต่างกันในตลาดแต่ละแห่งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือฝันร้ายของเอสเอ็มอี ฉะนั้นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ควรเลือกเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการลอจิสติกส์ที่มีให้บริการตั้งแต่หน้าประตูบ้านผู้ส่งจนถึงมือผู้รับ (Door-to-Door)

โดยปล่อยให้กระบวนการทางศุลกากรเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์บริหารจัดการแทน ทำให้เอสเอ็มอีมีเวลาในการคิดวางแผนและขยายธุรกิจได้อย่างเต็มที่

“อีคอมเมิร์ซเป็นตลาดที่กำลังพัฒนา แต่ยังคงความซับซ้อนในหลายด้าน ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันและความสลับซับซ้อนเหล่านี้ อย่างไรก็ตามความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ จะนำโอกาสมหาศาลมาสู่เอสเอ็มอีไทย ทั้งยังเป็นกลไกขับเคลื่อนที่มีพลังในการช่วยให้เอสเอ็มอีไทยก้าวสู่ระดับสากลได้อย่างยั่งยืน” เอ็มดีดีเอชแอลเอ๊กซ์เพรส กล่าว