น้ำกัดเท้าและอื่นๆ โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม

น้ำกัดเท้าและอื่นๆ โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงปัญหาของโรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วมและน้ำท่วมขังตามที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ รวมถึง เรื่องของแมลงและสัตว์มีพิษต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย              

      ในแต่ละปีเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ประเทศไทยมักจะประสบกับปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมอยู่เสมอ แทบจะทั่วทุกภาคของประเทศ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงปัญหาของโรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วมและน้ำท่วมขังตามที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ รวมถึง เรื่องของแมลงและสัตว์มีพิษต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย              


       โรคน้ำกัดเท้า ถือเป็นอันดับ 1 ของโรคที่มากับน้ำท่วม เรียกเดิม ๆ ว่า ฮ่องกงฟุต น้ำกัดเท้า คือ การติดเชื้อรา  ในกลุ่มเดียวกันกับโรคขี้กลาก (Tinea) ซึ่งได้แก่ เชื้อราในสายพันธุ์ Dermatophytes ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ย่อย เชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น บนพื้นที่เปียกชื้น จากการลุยน้ำท่วมขังรองเท้า พื้นห้องอาบน้ำหรือใส่รองเท้าที่มีเชื้อราอยู่  เชื้อราจึงเข้าสู่ผิวหนังและก่อให้เกิดโรคน้ำกัดเท้าได้  


อาการในระยะแรก ๆ เชื้อราจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อผิวหนังเกิดการระคายเคือง ซึ่งสังเกตง่าย ๆ ผิวหนังจะแห้ง ๆ ย่น ๆ  เริ่มมีอาการคัน มีสีแดง บางครั้งเริ่มมีตุ่มน้ำบริเวณตรงซอกนิ้วเท้า หรือตรงซอกเท้า เป็นสีขาว ๆ และเริ่มเป็นแผล  ผิวหนังจะแห้ง ตกสะเก็ด แตกเป็นร่อง แผลสด บวม เจ็บและคัน บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ อาการที่เพิ่มขึ้นจะอักเสบบวมแดง ร้อน หรือเป็นหนอง ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงขึ้นตามลำดับ

การรักษาโรคน้ำกัดเท้า จะต้องหมั่นทำความสะอาดเท้า ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและใช้แป้งโรยที่เท้าได้  เพื่อไม่ให้อับชื้น หรือถ้าต้องย่ำน้ำควรทาโลชั่น วาสลีน ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคือง และล้างเท้าด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งทุกครั้ง แต่เมื่อเป็นโรคน้ำกัดเท้าแล้ว จะต้องรักษาด้วยยารักษาเชื้อราเฉพาะที่ อาจจะเป็นยาทา ประเภทครีม เจล  ขี้ผึ้ง หรือสเปรย์ ซึ่งโรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาให้หายขาดหรืออาจจะต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วย แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่อันตราย แต่หากไม่รักษาอาการอาจเกิดอาการเรื้อรังเป็นเดือนหรือหลายเดือนได้  ที่สำคัญอย่าทายาแก้แพ้ ที่มีสเตอรอยด์เพราะ จะทำให้ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ 


  โรคติดเชื้อราที่ขาหนีบ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสังคัง มักเกิดจากการเป็นเชื้อราที่เท้า แล้วเวลาสวมกางเกงในจะนำเชื้อราที่เท้าไปสัมผัสขาหนีบ มักมีอาการคันมาก โรคนี้เป็นได้ทั้งเพศชายและหญิงอากาศร้อนชื้น จึงทำให้บริเวณใต้ร่มผ้าอย่างบริเวณขาหนีบเกิดความอับชื้นได้ง่าย จนกลายเป็นผดผื่นแดง และมีอาการคันตามมา ทั้งนี้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา เชื้อราก็อาจจะลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ก็เป็นได้


ลักษณะอาการของหลายๆ คนที่เป็นมักจะอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเกาอยู่ตลอดเวลา และยิ่งเกามาก ๆ ผิวหนังก็จะยิ่งถลอก กลายเป็นว่าปวดแสบปวดร้อนไปซะอีก นอกจากจะทรมานแล้ว ยังทำให้เสียบุคลิกอีกด้วย สำหรับยาที่รักษาเชื้อราที่ขาหนีบ มักจะเป็นยาประเภท Ketoconazole หรือ Clotrimazole โดยให้ทาบริเวณที่เป็นผื่นทุกเช้าเย็นหลังอาบน้ำ  ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็จะค่อยๆ หายไปเอง  แต่หากทายาแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจและรักษาทันที ทั้งนี้แพทย์อาจจะให้ยามารับประทานหรือให้ยาตัวใหม่มาทา ซึ่งก็ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และเมื่ออาการค่อย ๆ ทุเลาลงแล้ว แนะนำให้ทานยาหรือทายาต่ออีกสักระยะ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อรากลับมาเป็นซ้ำอีก อย่างไรก็ตามโรคผิวหนังบางอย่าง อาจเกิดจากเชื้อยีสต์ บางคนเกิดอาการแพ้บริเวณใต้ราวนม มีอาการผื่นแดง  คัน ที่เกิดจากการอับชื้นในร่มผ้า 


  โรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis) จะมีลักษณะผิวหนังเป็นรู ๆ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะพบบ่อยในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ชอบใส่ถุงเท้าอับนาน ๆ มีเหงื่อออกมาก มักจะเป็นโรคนี้ บางครั้งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ชอบเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำ เมื่อเท้าเปียกจนชื้นจากเหงื่อหรือน้ำที่เจิ่งนอง จะทำให้ผิวหนังยุ่ยและติดเชื้อแบคทีเรีย แล้วก็โชยกลิ่นเหม็นออกมา  ลักษณะของอาการที่พบบ่อยเกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรียแกรมบวก เห็นเป็นรูพรุนเล็กๆ ที่เท้า บางครั้งเห็นเป็นแอ่งเว้าแหว่งตื้นๆ ที่ฝ่าเท้า มีน้ำเหลืองซึม และเท้ามีกลิ่นเหม็นมาก เวลาถอดถุงเท้า นอกจากได้กลิ่นเหม็นแล้ว ยังรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้าแบคทีเรียบางตัว เช่น Aeromonas hydrophila อาจทำให้เกิดการอักเสบลุกลามทั้งเท้าและขาจนถึงขั้นเสียชีวิต


  โรคฉี่หนู ไข้ฉี่หนูหรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)  เป็นอีกโรคหนึ่งที่น่ากลัว เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิต เชื้อชนิดนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเป็นโรครับจากสัตว์ชนิดหนึ่ง สามารถติดโรคได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์เลี้ยงในบ้าน เป็นต้น แต่พบมากในหนู ซึ่งเป็นแหล่งรังโรค ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน มักจะพบการระบาดในช่วงฤดูฝนต่อจนถึงในฤดูหนาว และในพื้นที่ ๆ มีน้ำท่วมขัง  เชื้อแบคทีเรียจะผ่านเข้าไปทางแผลหรือคนที่มีบาดแผล แล้วไปเดินลุยน้ำ  อาการจะมีไข้หรือปวดเมื่อยตามตัวค่อนข้างมาก  ซึ่งเมื่อเกิดอาการดังกล่าวให้รีบไปหาแพทย์โดยทันที  ส่วนวิธีการป้องกันโรคฉี่หนู ง่าย ๆ คือการใส่รองเท้าบูธ หรือหุ้มเท้าด้วยถุงพลาสติก  


  โรคฉี่หนู ติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ติดต่อกันโดยการสัมผัสกับปัสสาวะ เลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ  เช่น  การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป  การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะหรือของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และเข้าผ่านเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตา ปาก หรือไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน บางครั้งเชื้อชนิดนี้สามารถมีชีวิตได้นานหลายเดือน หลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อโดยจะไม่แสดงอาการ แต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิตสัตว์ 


อาการของโรคเล็ปโตสไปโรซิสนั้น  เริ่มตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยจนถึงมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต  โดยกว่า 90  เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย จะมีอาการเล็กน้อยและมักเป็นแบบไม่เหลือง ส่วนเล็ปโตสไปโรซิสที่มีอาการรุนแรงนั้น พบได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ โรคฉี่หนูจะแพร่กระจายและเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงปลายฤดูฝน พบบ่อยในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน เพราะช่วงนี้พื้นดินแฉะ มีน้ำขัง เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและสะสมของเชื้อในธรรมชาติ พบโรคนี้ได้มากตามจังหวัดที่ทำการปลูกข้าว บริเวณที่ต้องย่ำน้ำ หรือแหล่งน้ำขังที่มีพาหะนำโรคชุกชุม อาจรวมถึงบ่อน้ำขนาดใหญ่ด้วย  


ส่วนวิธีการรักษานั้นจะใช้ยาปฏิชีวนะ ควรให้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการเป็นอย่างช้า ระยะเวลาที่ให้นานอย่างน้อย 7 วัน โดยชนิดของยาปฏิชีวนะจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.dst.or.th

*บทความโดย ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์  ประธานฝ่ายกิจกรรมสังคมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย