สกว.ถอดรหัสน้ำท่วมซ้ำซาก หวังแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

สกว.ถอดรหัสน้ำท่วมซ้ำซาก หวังแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

สกว. ผนึกภาคีเครือข่ายนักวิจัย จัดเวทีสาธารณะ “ถอดรหัสน้ำท่วมซ้ำซาก สู่ทางออกด้วยงานวิจัย” หวังเกิดแนวทางการปฏิบัติ และแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน และในทุกมิติ

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิจัย จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “ถอดรหัสน้ำท่วมซ้ำซาก...สู่ทางออกด้วยงานวิจัย” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 อาคาร SM Tower พญาไท กรุงเทพฯ โดยมี ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเชิงพื้นที่ ดร.วิเชียร เกิดสุข นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.อนิศรา เพ็ญสุข ติ๊บแก้ว คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และ ดร.จิระวัฒน์ กณะสุต นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูล

โอกาสนี้ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ฉายภาพปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยที่กำลังเผชิญว่า ในช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมาหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัดต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝนตกหนัก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำไหลหลากและอุทกภัย ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่อย่างร้ายแรง และสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรกหากแต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และนับวันขนาดของปัญหาตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

“อย่างไรก็ดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจสนับสนุนทุนวิจัยให้เกิดข้อมูลและความรู้สู่การขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น และมุ่งหมายที่จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหา ผ่านการสนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ โดยการทำงานของสกว. ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิจัยตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง หลายร้อยโครงการ พบปัญหาการจัดการน้ำของประเทศ 3 ประเด็น คือ 1.นโยบายและแผนบริหารจัดการน้ำของชาติ 2.กฎหมาย ระเบียบ และกลไกการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และ3.ผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดด เช่น การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น”

ทั้งนี้ สกว. เห็นว่าองค์ความรู้จากงานวิจัย ไม่ควรถูกเก็บไว้แต่เพียงในตำรา แต่ควรที่จะถูกนำมาผลักดันสู่การแก้ปัญหาของประเทศได้จริง สกว. จึงได้จัดเวทีสาธารณะครั้งนี้ขึ้น พื่อเป็นพื้นที่ในการสื่อสารข้อมูล ความรู้ ทางเลือกและทางออกของ “ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก” พร้อมทั้งเสนอตัวอย่างของผลงานวิจัยกับการแก้ไขปัญหาและสร้างทางออกของปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตรวมถึงการใช้กระบวนการวิจัยสร้างกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เกิดการบูรณาการการใช้ความรู้และข้อมูล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง อย่างยั่งยืนต่อไป

จากนั้น รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์น้ำและกลไกบริหารจัดการน้ำของประเทศ ว่า ปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งส่งผลให้ขนาดของปัญหาตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น สวนทางกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ยังเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น รศ.ดร.สุจริต กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องการขณะนี้ คือ การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ โดยใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ

“ต้องมีการจัดการบูรณาการกันมากขึ้น ทั้งช่วงน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยมุ่งพัฒนาแผนการปรับตัว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาหนุนเสริมช่วยกันพัฒนา ต้องมีการจัดการข้อมูล อุปกรณ์ การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุ และต้องเพิ่มการซ้อมหลบภัย อีกทั้งควรมีการจัดให้มีศูนย์พักพิงชั่วคราว และเพิ่มจิตอาสาสำหรับช่วยเหลือ นอกจากนั้นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างและระบบสำหรับอนาคต โดยข้อมูลต่างๆ ต้องอาศัยงานวิจัยในการรวบรวม เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบ เป็นข้อมูลสารสนเทศ ในการวางแผนพัฒนาต่อไป”

ในส่วนที่จะต้องนำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ การปรับเกณฑ์การควบคุมการปล่อยน้ำเขื่อน จะต้องอาศัยการคำนวณที่แม่นยำ เพราะหากมีการระบายมากเกินไปก็จะกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำ (เว้นแต่มีความจำเป็น) หรือหากปล่อยออกมากเกินก็อาจส่งผลต่อน้ำไม่เพียงพอใช้ในช่วงหน้าแล้ง อีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องมีการเตรียมการรองรับ คือ พื้นที่กักเก็บน้ำ หรือรับน้ำ โดยการควบคุมและกำหนดแนวทางการใช้ที่ดินในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม โดยใช้ข้อมูลการเกิดน้ำท่วมร่วมกับผลการวิเคราะห์แบบจำลอง จัดทำแผนที่ที่มีแนวโน้มต่อการเกิดอุทกภัยรอบ 5 ปี และแผนที่แสดงความเสียหายจากอุทกภัย โดยใช้ผลการคำนวณความเสียหายที่ได้มาจากความลึกของน้ำที่ท่วมขังร่วมกับค่าความสัมพันธ์ความลึกน้ำที่ท่วมขังกับความเสียหายจากอุทกภัย ทั้งนี้จะต้องประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนรับทราบ และยอมรับแผนที่แสดงพื้นที่ล่อแหลมต่ออุทกภัย ได้แก่ แผนที่เสี่ยงต่อการเกิดสภาวะน้ำท่วม (flood risk map) และแผนที่เสี่ยงอันตรายจากภัยน้ำท่วม (flood hazard map) รวมถึงจัดทำแผนที่การใช้ที่ดิน ให้คำแนะนำและประสานงานในกรณีที่จะมีการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค

ด้าน ดร.วิเชียร เกิดสุข กล่าวว่า จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกปี เนื่องจากพายุฝนที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น น้ำในแม่น้ำสายสำคัญเอ่อล้น และระดับน้ำในแม่น้ำโขงระบายไม่ทัน และระหว่างที่พื้นที่มีการสะสมของปริมาณน้ำ ไม่มีการแจ้งเตือนภัยพิบัติตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทำให้เมื่อฝนตกลงมามากและต่อเนื่องภายใน 2-3 ชั่วโมง ปริมาณน้ำจากภูเขาไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และไม่สามารถอพยพหรือขนย้ายสิ่งของได้ทัน สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน

ประกอบกับ ลำน้ำคดเคี้ยวและตื้นเขินทำให้การระบายน้ำทำได้ช้า ที่สำคัญเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางและรุกล้ำลำน้ำ ปิดขวางเส้นทางระบายน้ำตามธรรมชาติและเข้าไปในพื้นที่ลุ่มและพื้นที่แก้มลิงเดิม และปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับน้ำสูงส่งผลให้เกิดน้ำหนุนและระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมไม่สะดวก ทั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่สกลนครและนครพนมนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการป้องกัน แก้ไข และเยียวยา อาทิ การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า การใช้เครื่องสูบน้ำและเรือผลักดันน้ำ การสำรวจพื้นที่ความเสียหาย และการมอบของยังชีพเยียวยาผู้ประสบภัย

ทั้งนี้ที่ผ่านมางานวิจัยขอ สกว. มีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนากลไกและกระบวนการเพื่อสนับสนุนการทำงานของทางจังหวัด รวมถึงพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เช่น การจัดทำระบบเตือนภัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อพร้อมรับมือและเตรียมการอพยพ การจัดทำเขตน้ำท่วมซ้ำซากเป็นเขตภัยพิบัติ การลดการชดเชยความเสียหายเมื่อเกิดภัย และใช้งบประมาณดังกล่าวมาพัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาสถานีสูบน้ำ และการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ตลอดจนการปรับแผนบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น