'นามยง' ฟ้อง 'กทม.' เรียกค่าเสียหายพันล้าน

'นามยง' ฟ้อง 'กทม.' เรียกค่าเสียหายพันล้าน

"นามยง" ฟ้อง "กทม." อีกรอบ!! เรียกค่าเสียหาย 1,040 ล้านบาท หลังกทม.ยื่นเอกสารขอรับรถดับเพลิงทั้ง 139 คัน แสดงเจตจำนงค์ขอรับสินค้าจากบริษัท ถือว่ามีสิทธิ์ชำระภาระต่างๆได้

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นคดีแพ่งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญหาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หมายเลขคดีดำที่ กค. 137/2560 ขอให้กทม.ชำระเงินค่าภาระยกขนสินค้าขาเข้า ยกขนสินค้าเพิ่มเติมและค่าภาระฝากสินค้า เป็นค่าเก็บรักษาสินค้า ที่ไม่ได้นำออกนอกเขตศุลกากร รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,040.81 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีของต้นเงิน 972.72 ล้านบาทนับจากวันฟ้องจนกว่าการชำระหนี้จะแล้วเสร็จ พร้อมชำระค่าฝากรถวันละ 272,817 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะนำรถดับเพลิงทั้งหมดออกจากท่าเรือ ด้วย

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กทม.ได้ทำสัญญาซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์กับบริษัท สไตเออร์-เดมเลอร์-พุค สเปเชียล ฟาห์รซอย เอจี แอนด์ โค เคอี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2547 โดยผู้ขายได้ส่งมอบรถดับเพลิง 67 คันและรถบรรทุกน้ำ 72 คัน ผ่านเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเดินทางมาถึงท่าเทียบเรือสินค้ากอง เอ5 ที่อยู่ภายใต้บริหารจัดการของบริษัท แต่กทม.ไม่ได้ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรเพื่อขอรับสินค้าไป บริษัทจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าและระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ให้ชำระหนี้ฐานผิดสัญญา เป็นเงินรวม 530.37 ล้านบาท เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ กค. 108/2555 และศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 18 มีนาคม 2556 เป็นคดีแดงหมายเลขที่ กค.34/2556 เนื่องจากเห็นว่า คดีขาดอายุความแล้ว

ต่อมาบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา และเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ศาลฎีกามีคำพิพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยศาลเห็นว่า กทม.แม้จะเป็นผู้ซื้อ แต่ยังไม่ได้ติดต่อขอรับเอกสารที่เกี่ยวกับการขนส่งและดำเนินการพิธีการศุลกากร เพื่อขอรับสินค้าไปทั้งหมดจากบริษัท ดังนั้นเมื่อยังไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ เพื่อขอรับสินค้าที่บริษัทเก็บรักษาไว้ กทม.จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาระฝากสินค้าเข้าตามที่บริษัทเรียกร้อง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ 2 ปีแล้ว เพราะไม่ได้ทำให้ผลเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 กทม.ได้ขอนำรถรถดับเพลิงทั้งหมด 139 คันออกจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยอ้างว่าเป็นยุทธภัณฑ์ จึงได้รับการยกเว้นอากรตามกฎหมาย โดยได้ดำเนินการพิธีการศุลกากรและนำสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแนบรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มมาแสดงด้วย จึงแสดงถึงเจตจำนงค์ที่สมบูรณ์ในการขอรับรถดับเพลิงทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้ กทม.จึงมีหน้าชำระ ค่าภาระต่างๆก่อน จึงจะสามารถนำรถออกไปจากท่าเรือได้ แต่กลับเพิกเฉยหลายครั้ง แม้จะได้รับหนังสือทวงถามจากฝ่ายกฎหมายของบริษัทก็ตาม

"บริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิเรียกร้องของบริษัทที่มีต่อ กทม.ยังมีอยู่เต็มจำนวนและยังไม่ขาดอายุความ ประกอบกับเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงใหม่ที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย จึงได้ยื่นฟ้องกทม.ต่อศาลอีกครั้งหนึ่ง เพราะบริษัทไม่มีหนทางอื่นที่จะบังคับให้กทม.ชำระหนี้ค่าภาระต่างๆที่เกิดขึ้นได้"