เดือนหน้าลุ้น 'ต่างชาติ' Comeback 'วิกิจ ถิรวรรณรัตน์'

เดือนหน้าลุ้น 'ต่างชาติ' Comeback 'วิกิจ ถิรวรรณรัตน์'

สำรวจตลาดหุ้นไทย 5 เดือนสุดท้ายของปี ผ่านคำทำนาย 'วิกิจ ถิรวรรณรัตน์' แห่งหลักทรัพย์บัวหลวง ระบุหากเดือนก.ย.นี้ 'เงินบาทอ่อนค่า' ฟันด์โฟลว์โยกเงินเข้าหุ้นไทยแน่นอน

เงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 7% นับตั้งแต่ต้นปี 2560 อาจเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมาซื้อหุ้นไทย หลังก่อนหน้านี้ทยอยขายออกไปแล้วค่อนข้างมาก สอดคล้องกับผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยในช่วง 6 เดือนแรกที่ทำได้ดีสุดเพียงระดับ 2.06% ส่งผลให้ดัชนีมาไกลสุดระดับ 1,590 จุด เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่เหล่ากูรูต่างออกมาฟันธงว่า หุ้นไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 มีโอกาสวิ่งแตะระดับ 1,600 จุด

'วิกิจ ถิรวรรณรัตน์' ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง หรือ BLS วิเคราะห์แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 2560 ผ่าน 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา กระแสลงทุนต่างชาติวนเวียนในหุ้นไทยลักษณะหมุนเข้าหมุนออก ตามสตอรี่ของหุ้นรายกลุ่ม ส่งผลให้ดัชนีไม่ขยับไปไหนไกล ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ปัจจุบันต่างชาติถือครองหุ้นไทยในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำมากแตกต่างจากในอดีต เพราะหากกลับมาซื้อหุ้นไทยในช่วงก่อนหน้านี้อาจทำให้ต้นทุนในการซื้อหุ้นอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับตอนเงินบาทอ่อนค่า

'หากต่างชาติยังครองหุ้นไทยในสัดส่วนที่สูงบวกกับค่าบาทแข็งค่า วันนี้น่าจะได้กำไรสองเท่า'

เมื่อถามว่า นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้าตลาดหุ้นไทยช่วงไหน กูรูหลักทรัพย์บัวหลวง เชื่อว่า ตอนนี้ต่างชาติกำลังรอดูสถานการณ์ค่าเงินบาท หากมีแนวโน้ม 'อ่อนค่า' ฟันด์โฟลว์คงกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยเหมือนเดิมแน่นอนได้
ส่วนตัวมั่นใจว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าในเดือนก.ย.นี้ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับลดขนาดงบดุล ฉะนั้นเมื่อนโยบายการเงินสหรัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกเหนือจากนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อาจขยับขึ้นอีก 1 ครั้ง ภายในปี 2560 อาจส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์เปลี่ยนทิศทางเป็นแข็งค่า และเงินบาทจะกลับสู่ระดับอ่อนค่า

ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่อาจส่ง 'ผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย' เพราะจะเป็นการเปิดทางให้ต่างชาติเข้าซื้อหุ้นไทย ส่วนดัชนีจะขยับขึ้นมากน้อยระดับใดคงต้องพิจารณาพื้นฐานเศรษฐกิจของเมืองไทยด้วย หาก 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)' เติบโตตามที่หลายฝ่ายประเมินระดับ 3.4-3.6% ต่างชาติคงหันกลับมามองหุ้นไทยเร็วขึ้น หลังลดน้ำหนักการลงทุนไปนานพอสมควร

'ไม่ต้องกังวลว่าหากค่าเงินบาทอ่อนต่างชาติจะขายหุ้นไทย เพราะตอนนี้ต่างชาติมีหุ้นไทยเหลือน้อยมากแล้ว ฉะนั้นเมื่อค่าเงินบาทอ่อนน่าจะเป็นโอกาสให้ฝรั่งกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยใหม่อีกครั้ง' 

ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวิจัย เล่าต่อว่า สำหรับมุมมองที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทย ส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลและมั่นใจว่า ตัวเลขจีดีพีจะได้ตามเป้าหมาย ฉะนั้นภาพรวมเศรษฐกิจคงจะเริ่มทยอยฟื้นตัว
ยิ่งพิจารณาการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่จะออกมาในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องไปถึงปี 2561 ที่มีมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ ,รถไฟฟ้า ,มอเตอร์เวย์ และโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยิ่งไม่น่าเป็นห่วง เมื่อมีการลงทุนการจ้างงานก็จะตามมาอย่างแน่นอน

ทว่าสำหรับ 'กลุ่มภาคการผลิต' (Real Sector) ต้องยอมรับว่า อาจยังไม่ใช่เวลาของสดใส สะท้อนผ่านเสียงบ่นเรื่องภาวะฝืดเคืองของกำลังซื้อ เรื่องนี้คงต้องใช้เวลา เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่จะทำกันได้ในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งการประมูลโครงการต่างๆ ในช่วงครึ่งปีแรกที่เกิดสะดุดไปหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ยิ่งทำให้ต้องใจเย็นๆ

'เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในระดับทรงตัวไม่ได้เติบโตมากอย่างที่คาด ส่งผลให้ภาคส่งออกฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ แม้จะมีลักษณะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ไม่รวดเร็ว คาดว่าจะได้เห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวปลายปีนี้เป็นต้นไป'

เมื่อถามถึงปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องจับตา เขา อธิบายว่า คงเป็นเรื่อง 'ราคาน้ำมันดิบ' หากราคาปรับลดต่ำกว่าตอนนี้จะกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย เพราะกลุ่มดังกล่าวเป็นภาคใหญ่ของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าจะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เข้ามาช่วยกระตุ้น แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการขยายตัว

ฉะนั้นหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อาจเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี อย่างไรก็ดีเชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบคงไม่ปรับลดลงต่ำกว่า 30 เหรียญต่อบาร์เรล เบื้องต้นมองว่า ปีนี้ราคาน้ำมันดิบน่าจะยืนระดับ 40 เหรียญต่อบาร์เรล

ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวิจัย ไม่ลืมที่จะวิเคราะห์พื้นฐานกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ว่า มีโอกาสที่จะปรับลดประมาณการกำไรรวม 'กลุ่มธนาคารและค้าปลีก' ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยกลุ่มแบงก์คาดว่าจะปรับกำไรลงมาราว 3% เหลือ 2.12 แสนล้านบาท จาก 2.17 แสนล้านบาท เนื่องจากกำไรรวมกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 2 ปี 2560 ประกาศออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ หลักๆมาจาก ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP)

ทั้งนี้การปรับประมาณการกลุ่มแบงก์ลงจะมีผลต่อดัชนีเป้าหมายของหลักทรัพย์บัวหลวงที่มองไว้เล็กน้อย ซึ่งกลุ่มแบงก์มีสัดส่วนประมาณ 14% ของ SET Index แต่จะลดลงเท่าไหรนั้น ต้องรอประเมินในอุตสาหกรรมกลุ่มอื่นๆประกอบด้วยว่าจะมีการปรับประมาณการกำไรลดลงอีกหรือไม่

ส่วน 'กลุ่มค้าปลีก' อาจมีการปรับกำไรรวมลดลงเช่นกัน (ค้าปลีกมีสัดส่วนประมาณ 4% ของ SET Index) เนื่องจากกำไรรวมไตรมาส 2 ปี 2560 น่าจะออกมาผิดความคาดหมาย ขณะที่ไตรมาส 3 อาจยังไม่เห็นการฟื้นตัว

'ครึ่งปีหลังจะมีการปรับกำไรลงในกลุ่มแบงก์และค้าปลีก ซึ่งจะกระทบต่อดัชนี SET Index ไม่มากนัก เมื่อต้นปี 2560 มองเป้าดัชนี 1,627 จุด อ้างอิง P/E 15.8 เท่า ถ้าปรับกำไรกลุ่มแบงก์และค้าปลีกลงคิดเป็น 1.9% สิ้นปีเป้าดันชีน่าจะอยู่ 1,600 จุด และดาวน์ไซด์ของตลาดคงไม่น่าหลุด 1,550 จุด'

สำหรับกลุ่มอื่นๆ อย่าง 'กลุ่มพลังงาน' หากราคาน้ำมันไม่ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า 30 เหรียญต่อบาร์เรล เขาย้ำ โอกาสที่จะปรับประมาณการกำไรรวมกลุ่มพลังงานก็จะน่าจะจำกัด ยกตัวอย่าง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กำไรครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งปีนี้ประเมินกำไรที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีกำไรรวมแล้ว 70% ดังนั้นกำไรไม่น่าจะหลุดเป้าหมาย ส่วน 'กลุ่มสื่อสาร' คาดว่าน่าจะได้เห็นแนวโน้มกำไรของกลุ่มดีกว่าคาดการณ์ อย่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จำนวนของ services income ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นรายได้หลักของดีแทค ฉะนั้นในกลุ่มสื่อสาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ,บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) น่าจะเป็นตัวนำในอุตสาหกรรม (กลุ่มสื่อสารเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีผลต่อดัชนี SET Index)

ทั้งนี้เอกชนน่าจะมีการลงทุนมากขึ้น หลังจากมีการประมูลใบอนุญาต (ไลน์เซนส์) ไปแล้ว ฉะนั้นเอกชนอาจเร่งลงทุนโครงข่ายเร็วขึ้น และในปี 2561จะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3 คลื่น ประกอบด้วย คลื่น 850 MHz ,1,800 MHz และ 2,600 MHz หากเปิดประมูลรวดเร็วเท่าไหร่ การลงทุนของเอกชนก็จะเกิดขึ้นเร็วเท่านั้น คาดว่าน่าจะได้เห็นกลุ่มสื่อสารกลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพราะว่าความต้องการใช้ดาต้า บนมือถือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับ 'กลุ่มอสังหาริมทรัพย์' ส่วนตัวมั่นใจว่า กำไรผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปี2560 ดังนั้นกำไรรวมของกลุ่มอสังหาฯไม่น่ามีโอกาสปรับลดลงแล้ว

อย่างไรก็ดีแม้ครึ่งปีแรกหุ้นขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบหลายตัว แต่มองว่าในครึ่งหลังโมเมนตัม ของผลกระทบจะไม่รุนแรงเหมือนครึ่งปีแรก เบื้องต้นคาดว่า อาจมีแรงเทขายในหุ้นขนาดเล็กบางตัวที่ประกาศผลดำเนินงานออกมาแล้วผิดความคาดหมาย แต่ยังพอลงทุนได้เป็นรายตัว

'ครึ่งปีแรกหุ้นที่พยุงตลาด คือ หุ้นขนาดใหญ่ เพราะที่ผ่านมานักลงทุนเข็ดกับหุ้นขนาดเล็ก ซึ่ง 6 เดือนหลักก็ยังคงเป็นเช่นนั้น'

'วิกิจ' ย้ำทิ้งท้ายว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังยังคงเป็นลักษณะ 'หมุนกลุ่มเล่น' ไปจนถึงสิ้นปี 2560 อาจจะหนักทาง 'กลุ่มพลังงาน' และ 'กลุ่มค้าปลีก' มากกว่ากลุ่มอื่น และอาจเห็นหุ้นไทยขึ้นไปแตะระดับ 1,590-1,600 จุด ได้ไม่ยาก แม้เศรษฐกิจนอกบ้านยังมีเรื่องให้ต้องจับตามองอย่างเศรษฐกิจยุโรป แต่คงไม่กระทบไทยมากนัก

ลุ้นผลตอบแทนพันธบัตร 'ทรงตัว'

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์บัวหลวง ระบุถึงแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในเดือนส.ค.นี้ว่า ตลาดคาดว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่ง หลังจากที่ได้ปรับขึ้นในการประชุมวันที่14 มิ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนั้นอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวจะทําให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำในช่วงสองเดือนข้างหน้า

จากบันทึกการประชุมเดือนมิ.ย.ของคณะกรรมการกําหนดนโยบายการเงินชี้ว่า เฟดยังคงมีแผนในการลดขนาดงบดุล โดยการหยุดการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน(MBS) และพันธบัตรรัฐบาลที่หมดอายุ ซึ่งน่าจะเริ่มในปีนี้ และจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปี 2561

การรับรู้ของตลาดต่อประเด็นดังกล่าวน่าจะหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในช่วงเดือนข้างหน้า การลดขนาดงบดุลแบบค่อยเป็นค่อยไป (มากกว่าที่ขายอย่างรุนแรง) บ่งชี้ถึงแนวโน้มอัตราผลตอบแทนที่ทรงตัวไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยตราบเท่าที่อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัว

ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปีปัจจุบันอยู่ในระดับแคบมากเพียง 12bps (ค่าเฉลี่ยในอดีตอยู่ที่ระดับ 64bps) ) และน่าจะยังคงแคบต่อไปอีกระยะหนึ่งในช่วงเดือนข้างหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับใกล้ศูนย์ (-0.05% ในเดือน มิ.ย.) ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯอย่างชัดเจน (1.6% ในเดือน มิ.ย.)

อย่างไรก็ดีการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและการเทขายพันธบัตรไทย โดยนักลงทุนต่างชาติในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา (เทียบกับตอนครึ่งปีแรกของปี 2560 ที่มีการซื้อสุทธิ) อาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีเงินไหลออกแรง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ตลาดเริ่มสะท้อนนโยบายของเฟดที่รัดกุมและเงินเฟ้อที่กําลังเพิ่มสูงขึ้น ธปท. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมตราบเท่าที่การเติบโตของเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ในระดับปานกลาง และมีความเสี่ยงด้านเงินฝืดมากกว่าเงินเฟ้อ (เป้าหมายเงินเฟ้อของธปท.ที่ 2.5% ไม่น่าจะเป็นไปได้ในปีนี้)