หวัง 'บสย.' ปลดล็อกสินเชื่อเอสเอ็มอี

หวัง 'บสย.'  ปลดล็อกสินเชื่อเอสเอ็มอี

หวัง "บสย." ปลดล็อกสินเชื่อเอสเอ็มอี "กสิกร" คงเป้าโต 4-6% ด้าน ‘เอสเอ็มอีแบงก์’ หั่นค่าฟีให้ลูกค้าเพิ่ม

แบงก์คาดมาตรการค้ำประกันบสย.หนุนสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้เติบโต เชื่อผู้ประกอบการเร่งเข้ามาใช้ เพราะวงเงินมีจำกัดเพียง 8 หมื่นล้านบาท “กสิกร” ยังคงเป้าหมายปีนี้ 4-6% ด้านเอสเอ็มอีแบงก์ควักกระเป๋าออกค่าธรรมเนียมค้ำประกันเพิ่มให้อีก 3%

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของรัฐบาล ที่ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มการค้ำประกันจาก 23.5% เป็น 30% พร้อมการยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ น่าจะมีส่วนทำให้สินเชื่อในกลุ่มเอสเอ็มอีในปีนี้เติบโตมากขึ้น

เนื่องจากการเพิ่มวงเงินค้ำประกัน ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียให้กับธนาคาร หากเกิดความเสียหาย ธนาคารพาณิชย์ก็แบกรับความเสียหายน้อยลง ก็จะสามารถช่วยให้ธนาคารรับความเสี่ยงได้มากขึ้น สามารถปล่อยกู้ให้กับบางกลุ่มที่ก่อนหน้านี้อาจจะถูกปฏิเสธสินเชื่อไป

อย่างไรก็ตามแม้ว่ามาตรการนี้อาจจะทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีมีโอกาสเติบโตมากขึ้น ซึ่งตามโครงการค้ำประกันของบสย.วงเงิน 1 แสนล้านบาท ใช้ไปแล้วประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เหลืออีก 8 หมื่นล้านบาท แต่การปล่อยกู้ก็คงไม่ได้เพิ่มขึ้นในทันที

“ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย ก็ยังคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้ไว้ที่ 4-6% ก็คงจะไม่เร่งให้มีการเติบโตเร็ว เพราะอะไรก็ตามที่โตเร็ว มักจะไม่แข็งแรง ดังนั้นการเติบโตในระดับ 4-6% ก็น่าจะเป็นระดับที่ทำได้ และเหมาะสม”

นายปรีดี กล่าวว่า ในส่วนของการปรับอัตราดอกเบี้ยนั้น ขอดูในภาพรวมก่อนว่าจะเป็นอย่างไร และขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าต้องการอะไร ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้ารายย่อยรวมถึงเอสเอ็มอีไปแล้ว

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า การปรับปรุงเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการพีจีเอส 6 ของบสย. มีส่วนช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งธนาคารทั้งธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์ก็จะพยายามช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้มากขึ้น และมีภาระต้นทุนที่ลดลง

ในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์นั้นจะช่วยลดภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อให้กับลูกค้าเพิ่มเติมด้วย จากเดิมค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของบสย.เฉลี่ยอยู่ที่ 1.75% ต่อปี หรือรวมแล้ว 4 ปี อยู่ที่ 7% ในส่วนนี้รัฐบาลออกให้ 4% เหลือ 3% ที่เอสเอ็มอีต้องจ่ายเอง แต่หากมาขอสินเชื่อกับทางเอสเอ็มอีแบงก์จะฟรีค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ไป เพราะธนาคารจะออกให้ เพื่อภาระลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ

ส่วนการเพิ่มวงเงินค้ำประกันเป็น 30% นั้นถือว่าช่วยลดความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียให้กับภาระธนาคารได้ ในภาวะที่เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีอยู่ในระดับสูง จากปกติเอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอีโดยภาพรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อปี แต่ปีนี้ปรับขึ้นมากมาอยู่ที่ระดับ 8.5% ทำให้แบงก์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

“การออกค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี เราไม่ได้ต้องการแข่งขันดึงลูกค้ากับแบงก์พาณิชย์ เพราะคนละกลุ่มเป้าหมายกันอยู่แล้ว ลูกค้าเอสเอ็มอีแบงก์เป็นรายเล็ก เฉลี่ยกู้ต่อรายประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น แต่เป็นเพราะต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กในการลดภาระต้นทุนจริงๆ”

ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ก็จะมีส่วนช่วยให้สินเชื่อปีนี้เติบโตได้ดี เพราะวงเงินการค้ำประกันมีจำกัด เอสเอ็มอีก็คงต้องรีบเข้ามา เพราะหมดแล้วหมดเลย โดยในช่วง 7 เดือนของปีนี้ธนาคารปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1.84 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 3 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ในปีนี้ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารดูแลลูกค้าใกล้ชิด ให้คำปรึกษาช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ และหากคิดตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นปี เอ็นพีแอลสินเชื่อปล่อยใหม่ก็อยู่ในระดับต่ำ เพียง 2.5% เท่านั้น