ล่อง " กอและ " จากบางนรา สู่เจ้าพระยา

ล่อง " กอและ " จากบางนรา สู่เจ้าพระยา

อุปสรรคที่ก่อให้เกิดมิตรภาพริมเส้นขอบฟ้า

ย่างเข้าวันที่ 23 แล้วที่ "เกริ่น เขียนชื่น" ชายชาวกรุงร่างสูงโปร่งวัย 65 ปี ได้นำเรือใบกอและลำน้อยนาม ญีวอยังซามอ "หัวใจเดียวกัน" ที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษโดยฝีมือช่างต่อเรือพื้นบ้านชาวปัตตานี แล่นลัดเลาะโต้ลมไปตามชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เริ่มจากหาดยาว อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อไปสิ้นสุดปลายทางที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ เป้าหมายคือต้องการเรียงร้อยเรื่องราวของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีกมิติหนึ่งที่ตนเองได้สัมผัสตลอดการเดินทางจากประสบการณ์ตรงใส่ลำเรือ ไปบอกกล่าวแก่โลกภายนอก

แต่ยามนี้เขาเดินทางมาถึงแค่จังหวัดสงขลา ยังไม่ถึงครึ่งทางเมื่อเทียบกับจุดหมายที่ยังเหลืออีกยาวไกล เนื่องจากเกิดอุปสรรคหลายๆอย่างเช่น ลมฟ้าอากาศแปรปรวน เรือมีปัญหา และตัวเขาได้รับบาดเจ็บเนื่องจากเหยีบเปลือกหอยจนเท้าอักเสบต้องพักยาวเกือบสิบวัน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่มาบั่นทอนกำลังใจ เพราะมีกำลังใจมาเติมเต็มให้ตลอดเส้นทางจากผู้คนที่ได้เข้ามาสัมผัสและได้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นของเขา

ครั้งนี้ก็เช่นกันเมื่ออาการบาดเจ็บหายสนิทการเดินทางก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากหนีคลื่นลมแรงจากอ่าวสงขลามาหลบภัยอยู่ที่ ธรรมสถานหาดทรายแก้ว ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งอยู่ติดกับชายทะเลหนึ่งคืน ซึ่งเขาได้รับการดูแลจากญาติโยม และชาวบ้านที่นั่นเป็นอย่างดีทั้งเรื่องอาหารที่หลับนอน เช้าขึ้นอีกวันพระอาจารย์เล็ก ขันติวโร เจ้าอาวาส ก็อาสาขึ้นนั่งบนเรือลำเดียวกันเพื่อไปเป็นเพื่อนพูดคุย และส่งไปยังที่หมายต่อไปคืออำเภอสะทิงพระเป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร สร้างความประทับใจให้กับชาวบ้านที่คอย มาส่งอยู่บริเวณชายหาดเป็นอย่างมากบางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

ซึ่งภาพเหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาการเดินทาง โดยเฉพาะการแล่นเรือผ่านหมู่บ้านชาวประมงและบ้านเรือนชาวไทยมุสลิมที่อยู่ติดชายทะเลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือสิ่งที่เขาได้รับมากกว่าอุปสรรค คือ มิตรภาพ เขาได้มีโอกาสได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ทุกเพศวัย ขณะล่องเรือชักใบอยู่กลางทะเล บางครั้งชาวประมงพื้นบ้านที่กำลังหาปลาอยู่ก็นำเรือเข้ามาเทียบทักทายด้วย บ้างก็มีชาวบ้านมาขอขึ้นเรือไปด้วยเป็นเพื่อเป็นคลายเหงา อย่างเช่นขณะนี้ บ้างก็ไปเรียนรู้การเแล่นเรือใบ บ้างไปเพื่อช่วยวิดน้ำออกจากเรือ ซึ่งมีตั้งแต่วัยรุ่น ชาวบ้าน โต๊ะอิหม่าม ยันข้าราชการระดับสูงและผู้นำชุมชนในพื้นที่

แม้การเดินทางไกลของ "เกริ่น เขียนชื่น" ในครั้งนี้จะมีการเตรียมตัวทั้ง คนและเรือ ไว้เป็นอย่างดีรวมถึงทีมผู้ช่วยซึ่งเป็นเยาวชนชายแดนใต้ " เฌอบูโด " ที่คอยประสานงานบนฝั่งคู่ขนาน กันไป แต่ปัญหาและอุปสรรคก็เกิดขั้นตลอดเวลาเช่นกัน โดยเฉพาะความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ หากวันไหนฝนฟ้าคะนองจะเกิดคลื่นลมแรง ต้องนำเรือกลับเข้าฝั่งก่อนเวลาที่กำหนด บางวันถูกคลื่นซัดไปไกลเกือบ 10 กิโลเมตรต้องโบกเรือประมงพื้นบ้านของชาวบ้านช่วยลากกลับเข้าฝั่ง

สิ่งหนึ่งที่สร้างปัญหาให้เขาไม่น้อย แม้เรือจะไม่คว่ำเมื่อถูกคลื่นลมแรง คือการบังคับเรือให้ไปในทิศทางที่กำหนดไว้ ซึงเดิมทีต้องการใช้เพียงใบในการรับแรงลมเป็นพลังขับเคลื่อนเท่านั้น แต่เมื่อกระแสลมเปลี่ยนทิศทางใบเรืออย่างเดียวไม่สามารถบังคับ ต้องอาศัยตัวช่วยคือนำเครื่องยนต์ขนาดเล็กมาติดไว้ยามนำเรือเข้าฝั่ง

โชคดีที่เขามีโอกาสได้พบผู้เชี่ยวชาญเรื่องเรือกอและ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้านไทยมุสลิม คอยให้ความช่วยเหลือ ซ่อมแซมเรือ และให้คำแนะนำจากประสบการณ์ตรง ตลอดเส้นทางตามหมู่บ้านชาวประมงที่เขาแวะค้างแรม

ประสบการณ์และเรื่องราวดีๆในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ไม่เฉพาะการแล่นเรือที่ชายต่างถิ่นคนนี้อยากจะบอกเล่าให้สังคมเข้าใจอย่างลึกซึ้งเท่านั้น แต่เขาคนนี้ได้ลงมือทำให้เห็นว่าทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้น่ากลัวและไม่ได้ปรุงแต่งจัดฉากสร้างเรื่องราวเพียงแค่ฉาบฉวย แต่ทุกสถานการณ์คือเรื่องจริงที่ได้เรียนรู้และสัมผัสอัตลักษณ์ชุมชนบนเส้นทางเดินเรือไปยังเป้าหมายสูงสุด

จากนี้ไปประมาณสองเดือนเรือกอและลำน้อย "ญีวอยังซามอ" ก็จะทำหน้าที่นำชายหัวใจแกร่งผู้นี้เดินทางโต้คลื่นลมแรงข้างหน้าไปด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เขาได้รับนอกเหนือจากความเหนื่อยล้า นั่นคือประสบการณ์ใหม่ๆที่น้อยคนในวัย 65 ปีจะได้รับ นั่นคือมิตรภาพที่คอยอยู่ท่ามกลางอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟันริมเส้นขอบฟ้า