งานเข้าแน่!! ผลตรวจรถหรู101คัน ภาษีหายไปกว่า1,839ล้าน

งานเข้าแน่!! ผลตรวจรถหรู101คัน ภาษีหายไปกว่า1,839ล้าน

อธิบดีดีเอสไอ เผยศุลกากรแจ้งตรวจรถหรู101คัน ภาษีหายไปกว่า1,839ล้าน จ่อเรียกผู้ประกอบการนำเข้ารับทราบข้อหาสำแดงเท็จ ขณะที่กรมการค้าต่างประเทศเตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษขบวนการเลี่ยงภาษี เวอร์ชั่น"รถนักเรียน"

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีการนำเข้ารถยนต์หรูหลบเลี่ยงภาษี ว่า ล่าสุดกรมศุลกากรได้ส่งรายการประเมินชำระภาษีล็อตที่ 2 ให้ดีเอสไอแล้ว โดยในวันที่ 1 ส.ค. นี้ จะมีแถลงข่าวร่วมกันอย่างเป็นทางการ

เบื้องต้นพบว่าการตรวจสอบรถยนต์ที่นำเข้าล็อตที่ 2 จำนวน 101 คัน ชำระภาษีขาดไปประมาณ 1,000 ล้านบาท หลังจากนี้ดีเอสไอจะออกหมายเรียกผู้นำเข้ารถยนต์ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาสำแดงนำเข้ารถหรูอันเป็นเท็จ ส่วนกรณีที่ผู้นำเข้าอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินคดีล่าช้าจากดีเอสไอ อยากชี้แจงอีกมุมหนึ่งว่าหลังพนักงานสอบสวนเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่ายผู้ประกอบการก็ใช้สิทธิ์เลื่อนนัดการรับทราบข้อกล่าวหาและการส่งเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาเช่นกัน ในส่วนของพนักงานสอบสวนยืนยันว่าได้เร่งรัดสอบสวนให้เร็วที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ได้รับการประสานจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จะเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดีเอสไอตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์ของกลุ่มเกรย์มาเก็ตโดยใช้รูปแบบสำแดงการนำเข้าเป็นรถนักเรียนด้วย

แหล่งข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยว่า สำหรับการประเมินภาษีรถยนต์หรูล็อตที่ 2 จำนวน 101 คันที่กรมศุลกากรประเมินภาษีแล้วเสร็จ พบว่าชำระภาษีขาดไป 1,839 ล้านบาท แบ่งเป็นรถเฟอร์รารี่ 14 คัน รถมาเซราติ 49 คัน ส่วนที่เหลือเป็นรถลัมโบร์กินี่ทั้งหมด โดยการะประเมินภาษีล็อตแรกจำนวน 30 คัน กรมศุลกากรได้ประเมินภาษีขาดไป 650 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรูปแบบการนำเข้าโดยสวมสิทธินักเรียนไทย หรือ คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ เป็นการสำแดงนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วของนักเรียนไทยในต่างแดนหรือคนไทยในต่างแดนที่ประสงค์จะนำรถยนต์ที่เคยใช้งานในต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า 170 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามปกติผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีการนำเขารถเต็มจำนวน 200 เปอร์เซ็นต์ กรณีดังกล่าวเคยถูกผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์ร้องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบตั้งแต่ยุคพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็น รมว.ยุติธรรม โดยข้อมูลในชั้นสืบสวนพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการจะโอนเงินให้นักเรียนไทยซื้อรถยนต์ใหม่ส่งกลับเข้ามาในไทย แต่การขายจะติดเงื่อนไขทางกฎหมายว่าห้ามโอนเปลี่ยนมือภายใน 3 ปี ดังนั้น ผู้ซื้อรถยนต์ในรูปแบบนี้จะต้องมีความเชื่อใจกันสูง เพราะจะต้องจ่ายเงินไปก่อนได้รับโอนกรรมสิทธิ์ ที่ผ่านมาจึงมีการเรียกร้องขอให้ตรวจสอบกระบวนการนำเข้ารถนักเรียนจากอังกฤษและญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยม เนื่องจากมีระบบขับขี่พวงมาลัยด้านขวาเหมือนรถยนต์ในไทย