“New York” มหานครล่าฝัน สู่ Creative Economy

“New York” มหานครล่าฝัน สู่ Creative Economy

“นิวยอร์ค” มหานครที่ทั่วโลก ส่องสปอร์ตไลท์ให้เป็นผู้นำ ครีเอทีฟ อีโคโนมี ถอดรหัสความสำเร็จ จากนิวยอร์ค ถึง ไทยแลนด์ 4.0 จะไปได้ไกลแค่ไหน ? เริ่มต้นนับหนึ่ง จาก"สภาพแวดล้อมที่ใช่..!!”

นิวยอร์ค” ได้ชื่อว่าเป็นมหานครที่ไม่เคยหลับใหล เมืองนี้เกิดสิ่งแปลกใหม่วิ่งล้ำนำเทรนด์โลกทุกเมื่อ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางทางความคิด และการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ เป็นเมืองหลวงด้านแฟชั่น ร้านอาหารระดับมิชลิน มิวเซียมเต็มเมือง วัฒนธรรมหลากหลายเชื้อชาติภาษา ไม่นับตลาดหุ้นนิวยอร์ค ที่ชี้นำความเป็นไปของธุรกิจโลก

เมืองที่มีสัญลักษณ์ ตึกสูงระฟ้า อย่างตึกเอ็มไพร์ สเตท และตึกไคร์สเลอร์ แห่งนี้ จึงเป็นเมืองแห่งโอกาส ที่เปล่งแสงเป็นจุดรวมพลคนบ้าพลังไอเดีย สร้างสรรค์ มาสร้างฝันปั้นธุรกิจ จะเห็นได้วจากเจ้าของแบรนด์ระดับโลก ถือกำเนิดเกิดมาจากเมืองแห่งนี้มากมาย อาทิ วิคตอเรีย ซีเคร็ท, บลู บอทเทิล ,ดีเคเอ็นวาย ฯลฯ 

ทว่า ในช่วงที่สหรัฐเผชิญวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger crisis)ในปี 2007-2008 วิกฤติครานั้นกลับกลายเป็นโอกาส สำหรับการแตกไอเดียใหม่ของเหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่ สู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Creative Economy โดยมีมหานครนิวยอร์ก เป็นทำเลทอง 

นุวีร์ เลิศบรรณพงษ์” หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์และนวัตกรรมดิจิทัล บริษัท มายด์แชร์ เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสารในเครือ WPP เขายังเป็นอาจารย์พิเศษด้านโฆษณาและการสร้างแบรนด์ให้กับมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ หอการค้า และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขาคือผู้ชายผู้หลงไหล เมืองชิค คูลๆ ดูดีมีสไตล์อย่าง “มหานครนิวยอร์ค”

จนรวบรวมไอเดียสร้างสรรค์ธุรกิจผ่านหนังสือ "Passion Crazy Startup Ideas"  บ่มเพาะความเจ๋งที่ได้จากวัตถุดิบรอบเมืองนิวยอร์คล้วนๆ มาสร้างเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนมีฝัน ลุกขึ้นมาสร้างฝันจากไอเดียตัวเอง ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลไทย 

เขาเล่าว่า นิวยอร์คถือเป็นศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง เพราะสภาพแวดล้อมของเมืองเอื้อให้คนออกมาปล่อยพลังใส่กัน ทุกปีๆ ที่เขาเดินทางไปเยือนนิวยอร์ค จึงเหมือนเป็นการไปแสวงหาไอเดียใหม่ๆ มาเพิ่มเติมรอยหยักสมอง ทั้งธุรกิจใหม่ๆ แคมเปญการตลาดใหม่ๆ แฟชั่นใหม่ๆ ที่เปิดตัวในนิวยอร์ค

เขาเล่าว่า หากจะเปิดตัวสินค้าแบรนด์ต่างๆให้โลกกล่าวขวัญถึง จึงต้องมาเปิดตัวที่นิวยอร์ค เช่น ไอโฟนรุ่นใหม่ ซัมซุงรุ่นใหม่ หรือ แบรนด์แฟชั่น อย่าง ปราด้า (Prada) ลีวายส์ (Levi’s) ความแรงของแฟชั่นที่นี่ยั่วยวนกิเลสคน มีอิทธิพลถึงขั้นทำให้เงินที่เก็บหอมรอมริบกินอาหารราคาถูก เพื่อนำเงินมาซื้อสินค้าแบรนด์เนม เขายกตัวอย่าง

ไปนิวยอร์คจะได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ที่เอามาเป็นวัตถุดิบสร้างสรรค์การทำงานทุกปี เพราะธุรกิจจะในนิวยอร์คไม่หยุดนิ่ง มีการแข่งขันสูง คนที่เกิดที่นั่นจึงต้องมีไอเดียเจ๋งๆ มาสาดพลังใส่กัน ไม่งั้นเจ๊ง

สภาพแวดล้อม หรือบรรยากาศ ทางธุรกิจ สำหรับเขาแล้ว จึงจำเป็นมากในการผลักดัน เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ให้ปรากฎขึ้น !

เขายกตัวอย่าง แบรนด์ วิคตอเรีย ซีเคร็ท แม้จะเป็นสัญชาติอังกฤษ แต่มาแจ้งเกิด ปักธงที่นิวยอร์ค เปิดตัวสวยๆ ด้วยการเดินแบบแฟชั่นบนเส้นที่ 34 กลางมหานครนิวยอร์ค อย่างฮือฮา แบบท้าชนเดินผ่านชอปแบรนด์ดังอย่าง GAP,Banana Republic , H&M ด้วยการพานางแบบร่างสะโอดสะอง สูงโปร่ง หุ่นเซ็กซ์ซี่ เดินใส่ชุดชั้นใน กลางถนนอย่างไม่แคร์คนบนถนน แบบเป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์

วิคตอเรีย ซีเคร็ท คือแบรนด์ที่ขายค่านิยมของแบรนด์จากอินไซท์ของผู้หญิง ที่ทำให้ผู้หญิงเชื่อได้ว่า "ผู้หญิงทุกคนมีความเซ็กซี่ในตัว” 

นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้งัดไอเดียให้นางแบบโชว์ความเผ็ด เปรี้ยว เซ็กซี่ผ่านรันเวย์ กลางมหานครนิวยอร์ค จนทำให้แคมเปญที่คนพูดถึง สร้างชื่อกระฉ่อนโลก

แบรนด์ชุดชั้นนำยังฉายความแซ่บผ่านดิสเพลย์ร้านตกแต่งด้วยสวาร๊อฟสกี้และพื้นเป็นหินอ่อน

ดิสเพลย์ร้านดีไซน์หุ่นที่ม็อคอัพมาจากนางแบบจริง ไม่ได้ใช้หุ่นแบบสำเพ็ง จัดไลท์ติ้งไฟสวยๆ มีกิจกรรมเดินแบบให้คนพูดถึงกลางกรุง ในระหว่างที่คนกำลังเดินวุ่นๆ ไปทำงานกันปกติ แต่มีนางแบบมาเดินอวดชุดชั้นในกลางสี่แยก" เขาเล่าความสำเร็จนิวยอร์คเป็นนครสร้างชื่อคนด้านแฟชั่น ดีไซน์เนอร์ระดับโลกมากที่สุด ศูนย์กลางแฟชั่นที่แท้จริงจึงเป็นมหานครแห่งนี้

อีกตัวอย่างของแบรนด์ที่ถือกำเนิดสร้างชื่อบนนครนิวยอร์ค จนมืชื่อเสียงแพร่กระจายไปทั่วโลก คือ บลู บอทเทิล (Blue Bottle) คาเฟ่ต์คูลๆ ที่เกิดมาเพื่อฆ่าสตาร์ บัค โดยการขายความยูนิค ชิคในขณะที่สตาร์บัคได้ขายแฟรนไชส์ร้านกาแฟไปทั่วโลกจนมีความเป็นแมส ในหมู่นักท่องเที่ยว

แต่บลู บอทเทิล เป็นกาแฟที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ และเป็นกาแฟแนวเอาใจคนแต่ละท้องถิ่น กาแฟ เกรดพรีเมี่ยม ที่ปรับให้เข้ากับพฤติกรรมมาเสพกาแฟแนวไหน ชอบละเมียดดื่มด่ำกับบรรยากาศ หรือชอบดิ๊ป กาแฟ ก็จัดหาให้กับตรงกับรสนิยมคนเสพ

กาแฟเจาะกลุ่มวิถีไลฟ์สไตล์ออกแบบกาแฟ ให้เหมาะสมกับคนในย่างนั้น เช่น ย่านแมนฮัตตัน เมืองเศรษฐกิจกินกาแฟผ่านเมล็ดออแกนิก มีกาแฟหลากหลายสายพันธุ์สำหรับคอกาแฟ นี่คือโมเดลธุรกิจที่ไม่มีในตำรา แต่คิดขึ้นมาจากสภาพแวดล้อม ใครจะคิดว่าจะมีการออกแบบวิธีการชงกาแฟแบบมานั่งดิ๊ปกาแฟเอง ปัจจุบันกาแฟนี้ก็ขยายไปในโตเกียว

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแบรนด์ที่ถือกำเนิดขึ้นสร้างโมเดลธุรกิจใหม่จากเมืองแห่งนี้ เมืองที่คนต้องคิดสิ่งใหม่ๆ ทุกปี ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ และอีกมากมาย 

ย่านไทม์สแควร์ ยังเป็นจุดกำเนิดที่ดีของการโชว์ลูกเล่นบนในแบบดิจิทัล ซึ่งสี่แยกไทม์สแควร์มีจอแอลอีดีขนาดใหญ่ ที่ร่วมแคมเปญกับร้านแบรนด์เนมให้ซื้อสินค้าในร้าน มีรหัสบาร์โค้ด ที่ใช้เปิดผ่านเป็นจอโทรศัพท์ขนาดใหญ่บนตึกมีหน้าตัวเราปรากฎบนจอโทรกลับไปหาเพื่อน อวดให้เพื่อนฟังว่าหน้าฉันไปปรากฎที่จอบนตึกสูงระฟ้ากลางมหานครนิวยอร์คแล้ว

นี่กิมมิคสนุกๆ เล็กๆ ที่เอาใจคนบนโลกดิจิทัล

ยังไม่รวมถึงร้านค้าปลีก ซึ่งมีดิสเพลย์สื่อสารตอบโต้กับคนได้ผ่านจอมือถือ เชิญชวนให้คนร่วมสนุกทำกิจกรรม แล้วแล้วแจกคูปองเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า ความสนุกอีกแบบที่ต้องคิดให้ทันกับยุคดิจิทัล ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองแห่งไอเดีย

@มองนิวยอร์ค ย้อนมองไทย

หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์และนวัตกรรมดิจิทัล บริษัท มายด์แชร์ ระบุว่า ปัจจัยเอื้อให้มหานครแห่งนี้เติบโต ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐซบเซา แต่นิวยอร์ค ยังเป็นขาขึ้นไม่มีตก เป็นเพราะธุรกิจหมุนเวียนเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอดให้ทันยุค ทันสมัยตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ เคาท์ดาวน์ที่ย่านไทม์สแควร์มีความคึกคัก และเต็มไปด้วยสีสันมากที่สุดมุมหนึ่งของโลก แม้ราคาโรงแรมที่พักจะดีดตัวขึ้น 3-4 เท่า แต่ก็เต็มแน่นทุกเทศกาลงานปีใหม่

ที่สำคัญเมืองแห่งนี้ถูกออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนสร้างโอกาสให้กับตัวเอง มีหลายคนที่เติบโตจากเด็กล้างจาน เด็กเสิร์ฟ จนก้าวไปถึงเจ้าของกิจการร้านอาหาร เพราะค่าแรงที่นี่สูงจน หากอดทนเก็บเงินก็เป็นเจ้าของเงินก้อนเปิดร้านอาหารได้

ทั่วทั้งเมืองกระตุ้นให้คนใช้ชีวิตผ่านบทสอบ และเรียนรู้ จากมหาลัยชีวิต ที่เต็มไปด้วยแหล่งเรียนรู้ งานศิลปะ แกลอรี่ เกิดขึ้นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุด พิพิธภัณฑ์วิตนีย์ ( Whitney Museum)เพียงช่วงปี 2004-2015 มีพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้นจาก 1,138 แห่งเป็น 1,384 แห่ง

น่าแปลกที่ศิลปะยังคงเฟื่องฟูในเมืองที่มีอัตราค่าเช่าที่แพงเพิ่มขึ้นทุกปี ในช่วง 10 ปีที่พิพิธภัณฑ์และแกลลอรี่ขยายตัว กลับมีค่าเช่านี้เพิ่ม 32% บางพื้นที่อย่างเช่นย่านเวสต์ เชลซี(West Chelsea) เพิ่มขึ้นเกือบ 90% จาก 12 เหรียญต่อตารางฟุต ขึ้นมาเป็น 25เหรียญต่อตารางฟุต

แม้ต้นทุนการค่าครองชีพจะสูงขึ้น แต่คนที่ทำเงินได้จากผลงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็เพิ่มขึ้นตามกลุ่มที่มีรายได้จากเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีรายได้ 44% ซึ่งถือว่ามากกว่าอัตราค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ จึงมีธุรกิจใหม่ๆ ฉายไอเดียให้เราทึ่งได้ตลอดเวลา

คนที่นี่ขายไอเดีย ไม่มีการก็อปปี้ไอเดียกัน เป็นเรื่องเสียหน้ามากหากไอเดียเหมือนกัน เพราะที่นี่ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องสำคัญ แต่เมืองไทยเห็นใครทำสำเร็จก็ทำตามธุรกิจจึงไม่ค่อยต่างกัน

ที่สำคัญที่สุด ภาครัฐให้การสนับสนุนหลากหลายปัจจัยเพื่อออกแบบเมืองให้เต็มไปด้วยธุรกิจสร้างสรรค์ มีลานกิจกรรมให้คนปล่อยของ มีโรงละคร และโรงหนังให้คนไปเติมเต็มเสพงานศิลป์อย่างอิ่มเอมปรีดา

แถมด้วยการสนับสนุนปัจจัยด้านภาษีที่ให้คนทำงานด้านศิลปะได้ยกเว้นภาษีเพื่อเป็นแหล่งรวมความหลากหลาย อาทิ นางแบบ ดารา นักแสดง นักวาดภาพ นักเขียน นักโฆษณา หรือกำกับภาพยนตร์ หลายรายใช้ที่นี่เป็นโรงเรียนแห่งชีวิต

เชื้อชาติและวัฒนธรรม ซึ่งกำเนิดของศูนย์รวมความหลากหลายมากองรวมกันที่แหละ กลายเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศของไอเดียบันเจิดให้คนหยิบไปคิดต่อยอด สร้างสรรค์สิ่งใหม่จารึกไว้ประดับโลก

เราจึงเห็นนักล่าฝัน ที่ยอมมาปากกัดตีนถีบเริ่มต้นชีวิตจากการเป็นลูกจ้างเพื่อมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ศึกษาเล่าเรียนใช้ชีวิต จนตกผลึกไอเดียได้ดีในหลายสาขาอาชีพ

บางคนมาขับแท็กซี่ และใช้เวลาหลังเลิกงานไปเรียนเพราะฝันอยากเป็นผู้กำกับหนัง หรือหลายคนเก็บเงินจากการเป็นเด็กเสิร์ฟ เพื่อก้าวไปเป็นเจ้าของร้านอาหาร เด็กญี่ปุ่นหลายคนรวมกลุ่มกันใช้ชีวิตผจญในเมืองนี้ให้ได้ 1 เดือน เพื่อประสบการณ์ชีวิตที่นำไปต่อยอด

“นิวยอร์ครวมคนมีฝัน บางคนผมขับแท็กซี่หาเลี้ยงตัวเพราะกับเลี้ยงฝันอยากเป็นผู้กำกับ เก็บตังค์แล้วไปเรียนวันศุกร์ เสา อาทิตย์ ที่นี่มีแต่คนเต็มไปด้วยแพสชั่น กล้า บ้าบิ่นและใช้ประสบการณ์ชีวิตไต่เต้าทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จ ไมด์เซ็ทเค้าใหญ่แต่ด้วยอาชีพเลี้ยงตัวเองเขาจึงมาอยู่ตรงนี้”

สิ่งสำคัญที่หล่อหลอมให้คนที่นี่เป็นเช่นนี้เพราะทัศนคติ(ไมด์เซ็ท) ของคนที่กล้าลองสิ่งใหม่ เพื่อให้ได้เรียนรู้ ผิดไม่เป็นไรถือเป็นบทเรียนไม่ให้เราพลาดในครั้งต่อไป แตกต่างจากคนไทยที่ยึดตำราเป็นที่ตั้ง ไม่กล้าลอง กลัวผิดพลาด

“หลายคนอยู่เมืองไทยไม่เกิดพอไปอยู่นิวยอร์คประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง อาทิ ฐากูร พานิชกุล คนไทยธรรมดาคนหนึ่งที่ไปสร้างแบรนด์เสื้อผ้า “THAKOON”

ผู้กำกับหนัง”ฉลาดเกมโกง” นัฐวุฒิ พูนพิริยะ หนังที่มีมุมองเสนอที่ฉีกกฎเกณฑ์หนังไทยทุกเรื่อง เขาเรียนจบที่นิวยอร์คด้านภาษาและกราฟฟิกดีไซน์ หนังของเขายังกลับไปคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเทศกาลNew York Asian Film Festival

หรือ น้องชีร่า ชู (นฏกร ฌิรา ชูวิเชียร) นางแบบเจ้าของความสูง 177 ซม. ที่มีความฝันอยากเป็นนางแบบตั้งแต่อยู่เมืองไทย แต่หน้าตาเธอเป็นแนวสาวไทยมีโหนกแก้ม สไตล์สาวอิสาน ซึ่งขัดกับกระแสเทรนด์เกาหลี ขาวหมวย พิมพ์นิยม ชีร่าได้ผลงานโฆษณาเรื่องเดียวคือ กาแฟ เนเจอร์กีฟ หลังเรียนจบจึงไปค้นฟ้าหาฝันในนครนิวยอร์ค เมืองที่ยอมรับความแตกต่าง และความโดดเด่นในความเป็นหน้าตาพื้นเมือง โลคอล ที่มีสไตล์เฉพาะตัว ในที่สุดเธอก็ได้เป็นหนึ่งในนางแบบระดับโลกที่แจ้งเกิดบนรันเวย์นิวยอร์ค ค่าตัวแพงหลักล้าน

ขณะที่ ธุรกิจไทยที่ไปเด่นดัง ปังที่เมืองแห่งนี้ส่วนใหญ่จะเป็น ร้านอาหารไทย ทั้งไทยแท้ และไทยฟิวชั่น ที่มีการผสมผสานอาหารจากหลายชาติ (มิกซ์แอนด์แมท) เพราะเมืองแห่งนี้เคลื่อนตัวตลอดเวลา ผู้คนที่นี่มีชีวิตที่ยุ่งเหยิง ไม่มีเวลาทำอาหารเอง

ทว่า ร้านอาหารที่นี่โดดเด่นตรงที่ไม่ใช่แค่อร่อย แต่ต้องดูดี มีสไตล์ มีเรื่องราวให้เล่าต่อ ถึงจะอยู่รอดได้ ร้านอาหารไทยในเมืองแห่งนี้ถูกจัดในเกรดระดับพรีเมี่ยม หรูหรามีระดับ ราคาสูง

อย่างเช่นชีวิตของยงยุทธ์ ลิ้มเลิศวาที หรือ เลนนี่ ลิ้ม อดีตนักข่าว ที่เขาเรียกตัวเองว่า เด็กบ้านนอกที่เป็นคนหนึ่งที่มุ่งคว้าฝันในเมืองนิวยอร์ค ด้วยความหวัง ไต่เต้าจากเด็กล้างจาน ขับแท็กซี่ เปิดร้านอาหารไทยแท้(Authentic Thai) ชื่อร้าน SPICE ปัจจุบันมี 8 สาขา จุดเด่นของร้านคือปรับแต่งร้านใหม่ให้ลูกค้ารู้สึกมีประสบการณ์ใหม่ตลอดเวลา เช่น

เช่นเดียวกันชีวิตของนักต่างจังหวัดอย่างกิตติกร เลิศพนารักษ์ หุ้นส่วนร้านอีกคนก็เริ่มต้นจากการไปเรียนต่อปริญญาโท แต่กลับได้ร้านขายของชำ จนสะสมเงินทุนเปิดร้านอาหารอีกร้านที่ชื่อว่า SEA Restaurant อาหารไทยสไตล์ฟิวชั่น ที่มิกซ์แอนด์แมท

----------------------------------- 

หนุ่มไทยผู้หลงใหลนิวยอร์ค 

 “นุวีร์ เลิศบรรณพงษ์” หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์และนวัตกรรมดิจิทัล บริษัท มายด์แชร์  เป็นหนุ่มที่เดินทางมารอบโลกแต่เมืองที่ต้องไปซ้ำทุกปีเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง คือ มหานครนิวยอร์ค เพื่อไปเติมเต็มวัตถุดิบ คลังสมอง พักผ่อนอารมณ์ ชาร์จพลัง ตกผลึกความคิด สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตให้เป็นอย่างมหานครนิวยอร์ค

อดีตนักโฆษณาที่จบด้านกราฟฟิกเข้ามาทำงานวงการโฆษณา ที่บอกอดีตตัวเองว่าเรียนหนังสือได้เกรดธรรมดา ไม่ได้ดีเด่นอะไร ที่สำคัญผลงานที่เราคิดว่าเจ๋งแล้ว ตอนส่งอาจารย์ปี 2 กลับได้เกรดแย่ในสายตาของอาจารย์ นั่นทำให้เขาตั้งคำถามให้กับหลักเกณฑ์ประเมินและตัดเกรดของสถาบันการศึกษาของไทยว่า วัดกันที่ตรงไหน

พอมาทำงานด้านโฆษณาได้ 4-5 ปี เก็บผลงานเมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัยไว้ พร้อมกันกับแรงไฟแห่งความฝันอยากออกไปเรียนรู้โลกกว้างในมหานครนิวยอร์ค เพราะมหาวิทยาลัยที่นั่นไม่ใช้เกรดแต่ดูที่ผลงานที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับผลงานที่ทำมามากกว่าตำรานอกกรอบ

ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยชื่นชอบผลงานของเขาพร้อมรับเขาเข้าไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เขาจึงรู้ทันทีว่าอย่าปล่อยให้คำตัดสินของอาจารย์คนเดียวมาบดบังเส้นทางชีวิตของตัวเอง

ที่นี่คัดที่ผลงานที่ผ่านและกิจกรรม ว่าทำอะไรมาบ้าง ซึ่งเกรดไม่ดีอาจจะมีกิจกรรมที่ดีกว่า แตกต่างจากองค์กรไทยที่ยังดูเกรด เด็กที่ได้มาจึงติดอยู่ในกรอบที่ความคิดเหมือนกันหมด ไม่แตกต่างขาดความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่ทันกับโลกยุคใหม่ที่ต้องการไอเดียสร้างสรรค์มาเติมธุรกิจเช่นเดียวกันกับกูเกิล และแอปเปิ้ลไม่สนใจว่าจบอะไรมาเกรดเท่าไหร่

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นอาจารย์ต้น ออกไปใช้ชีวิตในมหานครนิวยอร์ค เมืองที่ร่ำรวยไอเดีย ทำให้เขาตื่นตาตื่นใจ และอยากไปค้นหาสิ่งใหม่ๆ ทุกปี และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นวัตถุดิบอันทรงคุณค่าที่หยิบมาใช้ให้กับแวดวงโฆษณา และสอนหนังสือ จนถึงแรงบันดาลใจอยากจะสร้างสถาบันแห่งการเพาะพันธุ์ไอเดียคนไทยให้เป็นอย่างเช่นนิวยอร์ค

“กรุงเทพฯมีความคล้ายคลึงกันกับนิวยอร์ค มีความหลากหลายและผสมผสาน แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้คนมาปล่อยของ คิดสร้างสรรค์ เพราะระบบการคัดเลือกคนทำงาน และสถาบันการศึกษายังผลิตคนจากตำรา กล่อง และหลักสูตรที่เรียนมาซึ่งมันเอาท์ไปแล้วในโลกยุคนี้”

----------------------------------

เคลื่อนศก.ด้วย ความสร้างสรรค์

ข้อมูลจากศูนย์อนาคตเมือง ความคิดสร้างสรรค์ใน ย่านบลูคลิน แมนฮัตตัน และควีน พบว่า เศรษฐกิจในมหานครนิวยอร์คตั้งแต่ปี ค.ศ.2003-2013 มีกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ในช่วง 10 ปี เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ทั้งเมืองนิวยอร์คมีการจ้างงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในช่วง 10 ปี (2003-2013)ถึง 295,755 คน มีสัดส่วนการจ้างงาน 7.1%ของการจ้างงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของทั้งประเทศสหรัฐฯ ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาแฟชั่นดีไซน์ 28% และมีกลุ่มคนต่างชาติเข้ามาทำงานในสหรัฐถึง 49,444 ราย

กลุ่มการจ้างงานในกลุ่มธุรกิจสร้างสรรคเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เมืองนิวยอร์คมีเศรษฐกิจขยายตัว การจ้างงานก็เพิ่มขึ้นตามมา ตั้งแต่ กลุ่มธุรกิจภาพยนตร์ และโทรทัศน์ สัดส่วนการจ้างงานเพิ่มขึ้น53% สถาปัตยกรรมการจ้างงานเพิ่มขึ้น 33% ศิลปะการแสดงจ้างงานเพิ่มขึ้น 26% ด้านโฆษณาการจ้างานเพิ่มขึ้น 24% การถ่ายทอดผลงานภาพทางศิลปะ (Visual Art) การจ้างงาน เพิ่มขึ้น 24% งานออกแบบดีไซน์การจ้างงานเพิ่มขึ้น 24% ขณะที่กลุ่มอาชีพอื่นๆ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 12%

ส่วนกลุ่มที่การจ้างงานลดลงคือ สาขาการเงินการจ้างงานลดลง 1% และ สาขาด้านกฎหมาย หรือทนาย ลดลง5%

จากอัตราการจ้างงานเติบโต จึงไม่ต้องสงสัยว่าเพราะเหตุใด นิวยอร์คจึงถือว่าเป็น “แหล่งดึงดูดศิลปินและ ผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์ หาไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา เหตุผลหนึ่งเพราะรัฐให้สิทธิพิเศษทางภาษีเต็มที่กับกลุ่มงานด้านศิลปะ อาทิ นางแบบ นักวาดรูป