ชูธง 'ลักชัวรี มาร์เก็ต' ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ชูธง 'ลักชัวรี มาร์เก็ต' ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ

การเติบโตของ “นักเดินทาง-นักท่องเที่ยว” ทั่วโลกมีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของ “ลักชัวรี มาร์เก็ต” บริบทของตลาดสินค้าลักชัวรี ยังเป็นหนึ่งดัชนีสะท้อนความแข็งแกร่งของ “ทัวริสต์ เดสทิเนชั่น” ที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยวเพื่อชอปปิง

เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดิ เอ็มโพเรี่ยม กรุ๊ป ผู้บริหารศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ ฉายภาพการเชื่อมโยง 2 ตลาด การท่องเที่ยว และลักชัวรีมาร์เก็ต ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“ลักชัวรี มาร์เก็ต” ครอบคลุมกลุ่มสินค้าแฟชั่น ทั้งเครื่องหนัง เครื่องสำอาง เครื่องประดับ  นับเป็นตลาดใหญ่มากโดย “ท็อป 100” ของโลก ครองตลาดรวมมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงและผันแปรอย่างมาก จาก "ความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจโลก" ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากหลายปัจจัย อาทิ  ภัยก่อการร้าย บริบทนี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ 3 เสาหลักของโลก ได้แก่ น้ำมัน ทองคำ และ ตลาดหุ้น

“ตลาดการเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดลักชัวรีเปลี่ยนแปลงทั้งหมด รวมทั้งการเปลี่ยนไปของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง”

ปัจจุบัน โกลบอล ลักชัวรี มาร์เก็ต ถูกแบ่งเป็น 2 ตลาดชัดเจน ได้แก่  ตลาดที่ผู้บริโภคมีความพร้อม (Mature market) เป็นตลาดมีความแข็งแรงและสมบูรณ์ เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น แล ตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) ได้แก่ จีน รัสเซีย ยูเออี

"เวลานี้ทั้งโลกถูกขับเคลื่อนโดยตลาดเกิดใหม่ โดย 3 ประเทศหลักนี้ และมี  จีน เป็นตลาดใหญ่สุดสัดส่วน 70%"

“Mature market”  ผู้บริโภคจะช้อปลักชัวรีแบรนด์ “ในประเทศ” มากกว่านอกประเทศ หรือช้อปในประเทศสัดส่วน 60% ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ ผู้บริโภคจะช้อปลักชัวรีแบรนด์ในประเทศ 30-40% อีก 60-70% ช้อปต่างประเทศ

ขณะที่ รูปแบบการชอปปิงของทุกคนทั่วโลก คือ “ชอปปิงเมื่อเดินทาง” สะท้อนถึงความสำคัญของ “นักท่องเที่ยวทั่วโลก” ที่ทุกประเทศล้วนจับจ้องตาเป็นมัน!! 

ตลาดการท่องเที่ยวและการเดินทาง ล้วนเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ โดยเฉพาะ ทัวริสต์จีน 100-200 ล้านคน พบว่า ในช่วงเวลาเดินทางมีการช้อประหว่างประเทศ 31% ช้อปในดิวตี้ฟรี 16% ที่เหลือช้อปในประเทศ

จะเห็นว่า ทัวริสซึ่มและทราเวล คือ “ตลาดขนาดใหญ่” ของแต่ละประเทศ และบรรดา "ลักชัวรีแบรนด์” ที่จะสร้างรายได้กลับเข้าสู่แบรนด์และประเทศนั้นๆ

รวมทั้ง “ประเทศไทย"   วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศโดย “นักท่องเที่ยว”  และ มี “จีน” เป็นตลาดหลัก

ขณะที่ “จีน” เผชิญปัญหาค่าเงินและตลาดหุ้นทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว นโยบาย “ของขวัญประเภทลักชัวรีแบรนด์” เป็นของต้องห้ามสำหรับการให้ ทำให้ปริมาณการขายลดลง ขณะเดียวกัน จีน เริ่มนโยบายลดภาษีนำเข้าลักชัวรีแบรนด์  เพื่อป้องกันประชาชนช้อปต่างประเทศ ซึ่งเดิมสินค้าในจีนสูงกว่าประเทศอื่น 30-40% เมื่อมีการปรับโครงสร้างภาษีลงทำให้ราคาใกล้เคียงกัน 

คำถามและปัญหาสำคัญที่ตามมา  คือ หลังจากนี้คนจีนจะออกไปช้อปต่างประเทศหรือไม่? แน่นอนว่าเกี่ยวพันถึงความเป็นนักเดินทางและนักช้อปของบรรดาแบรนด์ลักชัวรี

ใน  Mature market ซึ่งมีความกว้างและลึกของลักชัวรีแบรนด์ครบสมบูรณ์แบบ ฉะนั้น จะมีกำลังซื้อจากผู้บริโภคในประเทศรองรับส่วนหนึ่ง ไมจำเป็นต้องบินไปช้อปที่อื่น แต่ Emerging market สินค้าไม่ครบและไม่สมบูรณ์ แน่นอนว่ามีฐานผู้บริโภคในประเทศเพียง 30-40%  อีก 60-70% พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ 

“ยกตัวอย่าง เครื่องสำอางบางแบรนด์ในไทย ช่วงหนึ่ง ตะวันออกกลางบินมาซื้อจำนวนมากเหมือนทีวี พอวันหนึ่งตะวันออกกลางมีเครื่องสำอางแบรนด์นี้ก็เลิกซื้อที่ไทย นี่คือการเปลี่ยนแปลงของตลาด”

แม้ Emerging market  จะเป็นตลาดเกิดใหม่และอนาคตของลักชัวรีแบรนด์  แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ประเทศไม่มีพลังเพียงพอที่จะดึงนักท่องเที่ยวเพื่อการชอปปิงเข้ามาจับจ่ายได้มากเทียบเท่า

Mature market อย่าง ปารีส โรม มิลาน ลอนดอน ที่ล้วนมีสินค้าครบถ้วนที่ประเทศอื่นไม่มีเป็นแม่เหล็กดึงผู้คนต้องการมาเยือนทั้งท่องเที่ยวและชอปปิง

ไทยในฐานะ Emerging market ของลักชัวรีแบรนด์ แต่มีความได้เปรียบของฐานนักท่องเที่ยวกว่า 30 ล้านคนและจะขยับขึ้นเป็น 50 ล้านคนในไม่ช้า จะเป็นต้องวางแนวทางเติบโตคู่ขนานเพื่อสร้างร่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการเติบโตควบคู่กัน ของทั้ง 2 ตลาด นักท่องเที่ยวและลักชัวรีมาร์เก็ต 

“หากอัพเกรดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พักผ่อน ให้ประเทศไทยเป็นชอปปิงเดสทิเนชั่นของโลก สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ชาวไทยจะไม่เดินทางออกไปช้อปต่างประเทศ และไม่เสียดุลให้ต่างประเทศ เช่นเดียวกับประเทศจีนกำลังทำ”

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยหากมีการขับเคลื่อนมาตรการทางด้านภาษีนำข้าสินค้าลักชัวรีอย่างจริงจังเพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งชอปปิงสำคัญของเอเชีย รายได้ต่างๆ ที่จะได้รับจากนักท่องเที่ยวคุณภาพ จะนำไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ รวมถึงรายได้ภาคประชาชน

เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า  มูลค่าตลาดโลกของลักชัวรีแบรนด์ ปีนี้ คาดการณ์ 2.89 แสนล้านดออลาร์ ในปี 2563  มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.9 แสนล้านดอลลาร์

ปีนี้ตลาดลักชัวรี กำลัง “พีคอัพ”  โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมา กลุ่ม แอลวีเอ็มเอช ซึ่งมี 20-30 แบรนด์ในพอร์ต โดยหลัก อาทิ หลุยส์วิตตอง  ซีลีน เฟนดิ คริสเตียน ดิออร์ ฯลฯ ทำยอดขาย 9,900 ล้านยูโร เติบโตกว่า 15% ขณะที่ เคอริ่ง เจ้าของแบรนด์กุชชี่   อีฟแซงต์ โลรองต์ ฯลฯ มียอดขาย 3,500 ล้านยูโร เติบโตกว่า 35%

“2 กลุ่มนี้เป็นอินเด็กซ์ที่บอกว่าปี 2017 ตลาดลักชัวรีกลับมาเติบโต แต่ความท้าทาย คือ การเปลี่่ยนแปลงของโลก จะทำให้ยอดขายและแบรนด์เหล่านี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และลูกค้าอย่างไร”

สำหรับตลาดลักชัวรีในไทย คาดการณ์เติบโต 2% โดยกลุ่มสปอร์ต เติบโตมากสุด 6-7%  เครื่องหนัง 4-5%  ไฮบริด เช่น เอฟแอนด์เอ็ม ซาร่า ฯลฯ เติบโต 3-4% กลุ่ม affordable luxury  เติบโต 3-4% นาฬิกา เพชร และจิวเวลลี่ เติบโต 2-3%

ไทยต้อง "ปลดล็อกภาษี"

ประเทศทั่วโลกมุ่งสร้างจุดขาย “ชอปปิงพาราไดซ์” ด้วยนโยบาย “ดิวตี้ฟรี”  ขณะที่ “ไทย” มีศักยภาพสูงรอบด้านพร้อมที่จะก้าวสู่ “ฮับท่องเที่ยวของเอเชีย” เพราะมีทุกสิ่งที่ “นักท่องโลก” ชื่นชอบสามารถท่องเที่ยวได้ทั้งภาคกลางวันและกลางคืน ไทยมีความ “เฟรนด์ลี่” ที่นักท่องเที่ยวชอบมากควบคู่ไปกับภูเขา ทะเล วัฒนธรรม ประเพณี  กีฬา เมดิคัลฮับ เลเชอร์ เอนเตอร์เทนเมนท์ โรงแรม สายการบิน เรียกว่า มีทุกสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการได้เปรียบเพื่อนบ้านมหาศาล

“หากปลดล็อกภาษีได้ ไทย จะเป็นดวงดาวที่ส่องบนท้องฟ้าทันที เราเสียโอกาสมา 20 ปี ค่อนข้างสายมาก ถ้ากดปุ่มได้จะทำให้ทุกอย่างเติบโตอย่างก้าวกระโดด” 

คำถามสำคัญและเป็นโจทย์ใหญ่เวลานี้ คือ ภาพลักษณ์ประเทศไทยอยู่อันดับไหนของเอเชียในความเป็น “ทัวริสต์ เดสทิเนชั่น”  นอกจากนี้  ไทยยังไม่ติด “ท็อป 10 ชอปปิง เดสทิเนชั่น"  นักท่องเที่ยวไม่ได้มาเมืองไทยเพื่อช้อป!! ทั้งๆ ที่โครงสร้างพื้นฐานในเชิงสินค้าและบริการครบถ้วนสมบูรณ์

ไทยต้องเร่งบูรณาการ หากมองว่าการเปิดเสรีดิวตี้ฟรีมีผลกระทบธุรกิจภายในประเทศ ก็ต้องพิจารณาลดภาษีวัตถุดิบให้ผู้ประกอบการควบคู่กัน  เพื่อสามารถพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น นำสู่การดึงดูดลูกค้าที่มีระดับเข้ามาซื้อ 

ในบริบทของโลกที่กำลังขับเคลื่อนด้วย “นักท่องเที่ยว” ไทยจำเป็นต้องเร่งมือ... ช้าไม่ได้อีกต่อไป เพราะจะจำกัดตัวเองอยู่เพียง “่ไทยช้อปไทย” ขณะที่เพื่อนบ้านในเอเชีย ทั้งเกาหลี ไต้หวัน ดูไบ ล้วนขยับปรับตัวกันทั้งสิ้น รองรับ “นักท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นรายได้พิเศษที่ไม่ต้องลงทุน”

จะเห็นว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกกระทบการบริโภคในประเทศ ทำให้ต่างหันพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยว แน่นอนว่า ทำให้สถานะไทยมีคู่แข่งทางการท่องเที่ยวระดับโลก “ทุกประเทศ” โดยเฉพาะการช่วงชิงนักท่องเที่ยวจีนกว่า 200 ล้านคน ที่มีพัฒนาการและการท่องเที่ยวยกระดับดีขึ้นต่อเนื่อง ยิ่งดี การใช้จ่ายยิ่งสูงในทุกด้าน  

จากเสน่ห์ของประเทศไทยที่ไม่มีใครเหมือน ภาพการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกสู่ไทยทะลุ 50 ล้านคน ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะดึงนักท่องเที่ยวระดับบน ที่สามารถสร้างรายได้อย่างรวดเร็วมาได้อย่างไร

นับเป็นอีกวาระเร่งด่วนของรัฐบาลต้องปลดล็อกภาษี พร้อมๆ กับการส่งเสริมมาตรการฟรีวีซ่าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง บูรณาการแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นสมบัติชาติ เพื่อคงความเป็นแหล่งท่องเที่ยวของโลก

บิดกุญแจดอกเดียวจะเป็นกลไกให้ประเทศเดินหน้า โอกาสของไทย ไม่ใช่แค่นักเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว แต่ต่อยอดเชื่อมโยงไปถึงโอกาสการลงทุนของ "นักลงทุนในคราบนักเดินทาง"