'ธปท.' ชี้เงินกองทุนแบงก์แกร่ง

'ธปท.' ชี้เงินกองทุนแบงก์แกร่ง

ธปท.ชี้ "เงินกองทุนแบงก์" แกร่ง รับความเสี่ยง "หนี้เสีย" ได้

“แบงก์ชาติ” มองภาวะการเงินระยะข้างหน้ายังผ่อนคลาย หลังธนาคารพาณิชย์หั่นดอกเบี้ยอ้างอิงลงมาตั้งแต่กลางเดือนพ.ค. ขณะบอนด์ยิลด์รัฐบาลไทยลดลงจากปัจจัยต่างประเทศ ประเมินแบงก์พาณิชย์เริ่มเข้มงวดการให้สินเชื่อมากขึ้นในบางธุรกิจ หลังหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่มั่นใจเสถียรภาพยังแกร่ง แบงก์มีเงินกองทุนสูงรองรับความเสี่ยงได้

รายงานนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดือนมิ.ย. 2560 ระบุว่า ต้นทุนการระดมทุนจากธนาคารพาณิชย์ ทยอยปรับลดลงตามการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยตั้งแต่กลางเดือนพ.ค. 2560

โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2560 อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้รายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับลดลง 0.06% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้เบิกเกินบัญชีลูกหนี้รายใหญ่ชั้นดี (เอ็มโออาร์) ลดลง 0.12% และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ลดลง 0.44%

ส่วนสินเชื่อเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดเดือนพ.. 2560 สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.3% ในขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อนที่มีการเร่งของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงก่อนหมดมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์

สำหรับสินเชื่อภาคธุรกิจที่ปล่อยโดยธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อนที่ธุรกิจโฮลดิ้งมีการขอสินเชื่อเพื่อทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) และเพื่อนำไปซื้อกิจการในต่างประเทศ

การเปลี่ยนแปลงของยอดคงค้างสินเชื่อธุรกิจในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 2560 โน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นไตรมาสแรก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ และกระจายตัวในหลายประเภทมากขึ้น เช่น ธุรกิจที่พักแรม อสังหาริมทรัพย์ การผลิตอาหาร ขนส่ง และค้าส่งค้าปลีก

ส่วนการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นในธุรกิจการเงินการธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง พลังงาน และโทรคมนาคม ขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดตราสารทุนเพิ่มขึ้นมากในเดือนพ.ค.ที่มีธุรกิจวัสดุก่อสร้างออกตราสารทุนเพิ่มเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของยอดคงค้างสินเชื่อภาคครัวเรือน เดือนเม.ย. 2560 แผ่วลงจากสิ้นไตรมาสแรก แต่โน้มขึ้นในเดือนพ.ค. ทั้งจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์เร่งขึ้นในสินเชื่อเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเร่งขึ้นจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

รายงานข่าวระบุว่า ระยะข้างหน้า ภาวะการเงินจะยังอยู่ในระดับผ่อนคลายต่อเนื่อง หลังธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.. และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) รัฐบาลไทยปรับลดลงตามปัจจัยต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม คาดว่า สถาบันการเงินจะยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้แก่บางกลุ่มธุรกิจที่คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มด้อยลงต่อเนื่อง

ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึงและปัญหาเชิงโครงสร้างในบางภาคธุรกิจส่งผลให้มีความเสี่ยงบางจุดที่ต้องติดตาม เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)

สถาบันการเงินมีเงินกองทุนและการกันสำรองในระดับสูง สามารถรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงได้ ฐานะทางการเงินของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจส่งออก สะท้อนจากผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (อาร์โอเอ) ปรับดีขึ้น”รายงานนโยบายการเงินระบุ

สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังคงเข้มแข็งและสามารถรองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ โดยเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงบางจุดที่ต้องติดตาม เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่เปราะบางจากภาระหนี้ที่อยู่ระดับสูง แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีโน้มลดลงอย่างช้าๆ มาตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2559 แต่ครัวเรือนยังต้องใช้เวลาปรับตัวอีกระยะ

ด้านความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอียังด้อยลง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในภาคพาณิชย์และภาคอุตสาหกรรม สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ไม่ทั่วถึง รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างในการปรับตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี ต่อสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนไป 

ภาคอสังหาริมทรัพย์มีอุปทานอาคารชุดคงค้างในบางทำเลและบางระดับราคา ขณะที่อุปสงค์ที่อยู่อาศัยยังทรงตัวในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ทั้งนี้คุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ด้อยลงต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อและอาจกระทบต่ออุปสงค์ในระยะต่อไป