ชีวิต&อาชีพในโลกยุคใหม่ มุมพสุ เดชะรินทร์

ชีวิต&อาชีพในโลกยุคใหม่ มุมพสุ เดชะรินทร์

งานซ้ำๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ หลายอาชีพจะหายไป แล้วยังมีอาชีพเกิดใหม่ที่ตอนนี้ปรากฎให้เห็นแล้ว และอาชีพที่จะเฟื่องฟูในอนาคต

""""""""""""""""""""""""""""""

ว่ากันว่านวัตกรรมในโลกอนาคต นอกจากหุ่นยนต์จะมีบทบาทมากขึ้น ยังมีการคาดการณ์อีกว่า ในอนาคตเด็กเกิดใหม่จะมีีอายุยืนยาวเป็นร้อยปี ส่วนโรคที่รักษาไม่หาย อาทิสมองเสื่อม เบาหวาน มะเร็งฯลฯจะสามารถรักษาให้หายได้มากขึ้นและยังมีอีกหลายเรื่องที่เปลี่ยนไปตามกระแสโลก

นั่นเป็นเพราะมนุษย์พัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ อย่างเรื่อง การถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ที่ซับซ้อนก็ทำได้มากขึ้น สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เรานึกไม่ถึงได้เยอะขึ้น

ความรู้ใหม่ๆ...ถูกคิดค้นอยู่เรื่อยๆ ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องอาชีพ การงาน และไลฟสไตล์

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารด้านการศึกษา ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการบอร์ดบริหารขององค์กรจากสถาบัน AACSB (The Association of Advance Collegiate School of Business) สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งจากอเมริกาเชื่อว่า เทรนด์ในอนาคตมนุษย์จะไม่ทำอาชีพเดียวจนวันตาย จะสร้างอาชีพที่แตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิงรวมถึงวิธีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนไป...

นอกจากต้องปรับตัวให้ทันโลก อาจารย์มีวิธีการหาความรู้ใหม่ๆ อย่างไร

ผมเรียนปริญญาตรีด้านบัญชีและปริญญาโทด้านเอ็มบีเอ และปริญญาเอกเกี่ยวกับเทคโนโลยี เลือกเรียนอะไรที่แตกต่างและเชื่อมโยงกันได้ เอาเทคโนโลยีมาผสมกับกลยุทธ์ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กๆ เนื่องจากเป็นลูกคนเดียว ไปไหนก็มีหนังสือติดมือผมหาความรู้อยู่เรื่อยๆปัจจุบันผมซื้อหนังสือเยอะมาก และอ่านในอินเตอร์เน็ต เรื่องไหนสนใจก็เก็บข้อมูลไว้แล้วค่อยตามอ่าน ซึ่งผมใช้แอพฯตัวหนึ่ง Evernote ผมเอาไว้บันทึก เวลาเขียนหรือสอนหนังสือ ผมต้องการเรื่องไหนก็หยิบมาใช้

การศึกษาในระดับอุดมศึกษาต้องพัฒนาไปอย่างไร

ผมอยู่ในแวดวงนี้ เป็นอาจารย์และคนในภาคธุรกิจก็เคยบ่นให้ฟังว่า คนรุ่นใหม่ไม่เหมือนเมื่อก่อน ผมก็เลยอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ยิ่งเมื่อผมเป็นคณบดี และทำเรื่องเทรนด์การศึกษานานาชาติเยอะขึ้น ผมก็อยากรู้ว่าเทรนด์การศึกษาจะไปยังไง ผมสนใจเรื่องการพัฒนาการศึกษา ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยบอกว่า จะเป็นไทยแลนด์4.0

ตอนนี้คนเรียนจบใหม่เป็นคนเจเนอเรชันแซด ขณะที่คนทำงานในออฟฟิคเป็นเจนเบบี้บูมเมอร์ วัย50 กว่า หรือเจนเอ็กซ์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ปวดหัวกับเจนวาย และมีเจนแซด อายุ 20 กว่าๆ โผล่มาอีก มีคน4เจเนอเรชัน

เจนเอ็กซ์หรือเบบี้บูมเมอร์ อยู่ในช่วงวัยที่ใกล้เคียงกัน อย่างเรื่องมัลติทัชชิง ก็เป็นความสามารถเจเนอเรชันใหม่ ซึ่งผมก็ทำได้ ผมก็ต้องหาความรู้จากคนรุ่นใหม่ เพราะผมมีลูกวัยรุ่น ความรู้หลายอย่างผมได้มาจากลูก แม้จะมีช่องว่าง แต่ผมก็พยายามทำความเข้าใจว่าทำไมเขาคิดแบบนี้ง่ายๆ เลยคนรุ่นผม เวลานัดเจอเพื่อน ต้องโทรศัพท์นัดเวลาแน่นอน แต่เด็กรุ่นนี้นัดเพื่อนเจอกันไม่มีการวางแผน

เป็นวิธีคิดต่างยุคต่างสมัย ?

ต่างฝ่ายต่างถูกในยุคสมัยตัวเอง ผู้บริหารบริษัทส่วนหนึ่งบอกว่า คนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานบริษัท อยากเป็นฟรีแลนด์ อยากขายของทางอินเตอร์เน็ต บางทีเซ็นสัญญาณทำงาน แล้วไม่มาทำงาน หรือทำงานสามเดือนก็ลาออกคนรุ่นใหม่มีโอกาสและทางเลือกเยอะ เพราะเทคโนโลยีเปิดทาง แค่เดินเข้าไปซื้อของในสำเพ็ง แล้วจัดองค์ประกอบดีๆ นำมาโพสต์ก็ได้เงินแล้ว หรือซื้อของจากเกาหลี ฮ่องกงมาโพสต์ก็ขายของได้

เทคโนโลยีทำให้การใ้ช้ชีวิตเปลี่ยนไป แล้วสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวไม่ให้ล้าหลังอย่างไร

อาจารย์ต้องเปลี่ยนวิธีการสอน ถ้าจะให้เด็กยุคใหม่มานั่งฟังเลคเชอร์สามชั่วโมง เปิดแผ่นใส พาวเวอร์พอยท์ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ไหว แต่เด็กไทยเป็นเด็กดีตั้งหน้าตั้งตาจดไป เพียงแต่การเรียนการสอนก็ควรเรียนแล้วสนุกมีวิธีการสอนใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ มีเทคโนโลยีก็เอามาใช้ ยกตัวอย่าง ถ้าผมตั้งโจทย์ให้นักศึกษาหาว่า ในอนาคตจะมีอาชีพไหนล้าสมัยบ้าง นักศึกษาก็เข้าไปดูในอินเตอร์เน็ตแล้วช่วยกันวิเคราะห์

อยากให้ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาเรื่องเทรนด์ที่อาจารย์นำมาสอนนักศึกษา ?

อย่างวิชาการจัดการกลยุทธ์ที่ผมสอนเรื่องเทรนด์สำคัญมาก การวางกลยุทธ์ของบริษัทต่างๆ ต้องมีเรื่องเทรนด์ เวลาเราศึกษาเรื่องเหล่านี้ ยิ่งศึกษายิ่งทำให้อยากรู้ว่ามีเรื่องอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น ยกตัวอย่างอเมซอนขายหนังสือออนไลน์ไปทั่วโลก แต่มาถึงจุดหนึ่ง เขาปรับธุรกิจผสมผสานระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ใครจะเชื่อว่าอเมซอนจะเปิดร้านหนังสือในยุคนี้ และ เปิด 7 แห่งในอเมริกา เขาเอาข้อมูลในออนไลน์มาทำธุรกิจร้านหนังสือ ข้อมููลเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้ว่า หนังสือเล่มไหนคนอ่านจบภายในสามวัน ก็เอาเข้ามาในร้านหนังสือ หลายบริษัททำออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูลจากลูกค้า แล้วเอาข้อมูลมาทำออฟไลน์

เป็นเรื่องใหม่ที่การเรียนการสอนต้องตอบโจทย์สังคมมากขึ้น ?

คณะต้องปรับตัวอยู่เรื่อยๆ เรามีอาจารย์ที่สอนด้าน Big Data มากขึ้น ข้อมูลมหาศาล ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ ก็ไม่มีประโยชน์ ต้องนำมาเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้บริหารใช้ตัดสินใจธุรกิจบางอย่าง และตอนนี้เรากำลังทำเรื่องผู้นำในอนาคต ระดับกลางและระดับสูง ตอนนี้โฟกัสไปที่ธุรกิจก่อน ผู้นำเหล่านี้ต้องมีวิสัยทัศน์เราก็ใช้กรณีศึกษาจากผู้นำยุคปัจจุบันให้มองอนาคต ยกตัวอย่าง ผู้บริหารจะทำให้คนรุ่นใหม่ผูกพันกับองค์กรอย่างไร

สิ่งที่ผมเห็นตอนนี้ีคือคนรุ่นใหม่ต้องการทำงานเปลี่ยนแปลงประเทศมากขึ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในระบบราชการมีสองแบบคือ แบบหนึ่งคือทำงาน่ไม่นานก็ลาออก อีกแบบเข้าไปทำงานแล้วถูกกลืนเข้าไปสู่ระบบเดิม เติบโตเป็นผู้นำแบบเดิมๆ ปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กร

จากที่ผมศึกษารวบรวมไว้คร่าวๆ 1 ผู้นำยุคใหม่ ต้องหาความรู้ตลอดเวลา เพราะการเปลี่ยนแปลงภายนอกเร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร 2 ต้องตัดสินใจเร็ว ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้า 3 ต้องพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนโครงสร้างองค์กร เพราะองค์กรยุคใหม่มีคนต่างชาติเข้ามาส่วนในการทำงานมากขึ้นและมีคนหลากหลายสไตล์

แหล่งข้อมูลมหาศาลจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นที่ต้องการของตลาด ?

คือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเยอะๆ ได้ พวกเขาจะมองหาข้อมูลและเทรนด์บางอย่างที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ถือว่าเป็นอาชีพใหม่ที่วงการธุรกิจต้องการมาก ซึ่งอาชีพนี้จะเป็นส่วนผสมของคนที่เรียนด้านสถิติ ธุรกิจ และไอที

ผมยกตัวอย่างนิดหนึ่ง ถ้าคุณมีเวปไซต์สำนักข่าว แล้วมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล คุณสามารถนำข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านี้ มาสร้างโมเดลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจได้ เพราะสามารถรู้ได้ว่า คนจำนวนมากเลือกอ่านข่าวประเภทไหน พออ่านข่าวนี้ แล้วไปอ่านในบล็อกหรือเว็บไหน นี่คือพฤติกรรมคนอ่าน

อาชีพนี้กำลังเป็นที่ต้องการ มีหลายบริษัทติดต่อมาที่คณะที่ผมสอนคณะนี้สอนด้านสถิติ และต้องเรียนด้านไอทีและธุรกิจ เราก็เปิดสาขานี้มาสิบกว่าปีจากที่เมื่อก่อนสาขาวิชาสถิติ จบไปแล้วเป็นนักสถิติที่น่าเบื่อ ไปอยู่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ตอนนี้คนเหล่านี้ไปอยู่Agoda บริษัทเกม โดยเอาข้อมูลจากเว็บมาวิเคราะห์ธุรกิจ

คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเริ่มปฎิเสธการเรียนในมหาวิทยาลัย อาจารย์มองเรื่องนี้ยังไง

เขามีตัวอย่างที่เป็นไอดอลอย่าง มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก, สตีฟ จ็อบส์ คนเหล่านี้ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย พวกเขาตั้งคำถามว่า ทำไมฉันต้องเรียนมหาวิทยาลัยไม่เรียนก็สร้างตัวเองได้ แต่มีคนจำนวนหนึ่งทำอาชีพอิสระก่อน แล้วกลับเข้ามาทำงานบริษัท เพราะเบื่อที่ทำอาชีพอิสระแล้วไม่มีสังคม

ไม่ว่าจะยังไงผมก็มองว่า อีกสิบปีข้างหน้า เด็กก็ยังอยากเรียนมหาวิทยาลัย อยากสวมเครื่องแบบ เป็นความสัมพันธ์ ความผูกพันกับแบรนด์ แต่คงมีเด็กจำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่า ทำไมฉันต้องเรียนมหาวิทยาลัย ทำไมต้องเข้าจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ ก็คงมีคนจำนวนหนึ่งแต่น้อยมากที่ไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยส่วนการศึกษาระดับประถมมัธยมต่อไปจะมีโรงเรียนแนวใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนสองภาษา สามภาษา ถ้าในอนาคตมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว ยังสอนแบบเดิมๆ ระบบการศึกษาจะมีความแตกต่างมากขึ้น

เทรนด์การศึกษาในอนาคตจะเป็นยังไง

ต่อไปมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาจะเน้นเฉพาะการให้ความรู้พื้นฐาน เพราะสิ่งที่สอนหลายอย่างในวันนี้ล้าสมัยไปแล้ว มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

อย่างวิชาที่ผมสอน วิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ ผมสอนนักศึกษาปริญญาโท อาทิตย์นี้ผมยกตัวอย่างเรื่องธุรกิจร้านหนังสือออนไลน์อเมซอน อาทิตย์หน้าอเมซอนเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่แล้ว

อย่างคนที่เรียนบัญชี ปัจจุบันก็มีมาตรฐานการบัญชีหรือซอฟแวร์ใหม่ๆ ให้ใช้มากขึึ้น

เราต้องถามตัวเองว่า เราจะสร้างอาชีพให้คนยุคปัจจุบันหรือคนในอนาคต คณะผมผลิตบัณฑิตออกไปเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีหรือที่ปรึกษา แต่ในอนาคต4-5ปีข้างหน้า แม้ผมจะพยากรณ์อาชีพใหม่ไม่ได้ชัดเจน แต่คิดว่าคาบเกี่ยว3-4เรื่อง

ถ้ามหาวิทยาลัยเป็นแค่สถานที่สอนวิชาพื้นฐาน แสดงว่า คนยุคใหม่ต้องขนขวยหาความรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น ?

ผู้เรียนต้องรับผิดชอบตัวเอง เพราะสิ่งที่อาจารย์ให้ แม้จะเต็มที่ก็ล้าสมัยได้ หน้าที่ของผู้เรียนต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ปัจจุบันคอร์สสั้นๆกลายเป็นที่นิยม ถ้าจะมานั่งเรียนเอ็มบีเอสองปี ไม่ใช่แล้ว คนยุคใหม่อยากได้ความรู้เฉพาะด้านในเวลาสั้นๆ

ผมก็พัฒนาระบบออนไลน์ เปิดให้บริการสิ้นปีนี้ มีทั้งวิชาพื้นฐานที่เรียน ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนสิ่งที่อยากรู้ อาจใช้เวลาแค่สามชั่วโมง อาทิ การวิเคราะห์งบการเงิน การตลาด ซึ่งเราไม่ได้ผลิตขึ้นโดยการถ่ายทำเลคเชอร์ที่อาจารย์สอน แต่ผลิตขึ้นเพื่อออนไลน์โดยเฉพาะ เราสร้างเนื้อหารูปแบบใหม่ ไม่ใช่ให้อาจารย์ยืนพูดไปเรื่อยๆ คลิปแต่ละอันจะสั้น มีแบคกราวด์ มีรูปภาพ สอนโดยคณาจารย์ เราพยายามเลือกอาจารย์ที่สื่อสารง่ายๆ

ส่วนเรื่องวิจัยในอดีต ตีพิมพ์แล้วขึ้นหิ้ง เราพยายามสนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัยชี้นำสังคม อย่างกลุ่มหนึ่งทำเรื่องการสร้างแบรนด์หลายบริษัทนำไปใช้ และมีอาจารย์กลุ่มหนึ่งทำเรื่องการออมหลังเกษียณ คนเหล่านั้นจะหาเงินยังไง เรามีแอพออกมาแล้ว

อาชีพใหม่ๆในอนาคตจะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องใดบ้าง

ข้อ 1. เรื่องเทคโนโลยี อย่างเมื่อก่อนเราไม่เคยมี CloudProfessional วิศวกรที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ หรือที่แอปเปิ้ลโฆษณาว่าเอามือถือไปส่องแล้วจะเห็นเป็นภาพสามมิติ หรือคนที่เชี่ยวชาญเรื่อง Bitcoin (บิทคอยคือสกุลเงินในรูปแบบของดิจิทัล ถูกสร้างขึ้นมาด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของบิทคอยไม่มีรูปร่างและไม่สามารถจับต้องได้)บิทคอย นี่คืออาชีพที่เชื่อมกับเทคโนโลยีซึ่งนักบริหารรุ่นใหม่ต้องตามให้ทัน ตอนนี้มีคนรุ่นใหม่อายุ30 คุยเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องธรรมดา หลายคนเชี่ยวชาญกว่าอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย

ข้อ 2 ผู้บริหารด้านซีเอสอาร์ หรือผู้บริหารที่ดูแลเรื่องความยั่งยืนขององค์กร ตอนนี้เริ่มเป็นเทรนด์แล้ว เพราะกระแสเรื่องความยั่งยืน หลายบริษัทจึงมีผู้บริหารเหล่านี้ด้วย

ข้อ 3 เรื่องพฤติกรรมของคน ซึ่งมาจากเทรนด์หรือเทคโนโลยี อย่างคนที่อัดคลิปตัวเอง เล่นเกม ไปเที่ยวไหนอัดคลิปลงยูทูป มีคนดูเป็นล้านๆ ซึ่งได้เงินจากสปอนเซอร์ เป็นอาชีพใหม่ที่เกิดจากพฤติกรรมของคน เอาง่ายๆ เด็กยุคใหม่ดูทีวีน้อยลง อยากดูละครย้อนหลังก็ดูยูทูป

อาชีพที่กำลังจะร่วงและอาจหายไปในอนาคต อาจารย์วิเคราะห์เรื่องนี้อย่างไร

พนักงานธนาคารพนักงานทำงานหน้าเคาน์เตอร์ แต่ไม่ใช่หายไปหมด เพราะคนไทยยังต้องการการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คน อาชีพนี้ไม่ถึงกับสูญพันธุ์ แค่ลดปริมาณ อย่างอาชีพผู้สื่อข่าวก็กำลังจะหายไป เพราะทุกคนเป็นผู้สื่อข่าวได้ เกิดเหตุอะไรก็มีรายการคลิปออกมา ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สื่อข่าว แต่สิ่งที่ทดแทนไม่ได้ คือ คนที่ทำงานเจาะลึกประเด็นข่าวที่มีประสบการณ์มานาน คนที่ไม่ผ่านอาชีพนี้ ทำไม่ได้ หุ่นยนต์ก็ทำไม่ได้

ถ้าอย่างนั้นคนทุกรุ่นต้องเตรียมตัวยังไง

ตอนนี้มีคนสองรุ่นคือ รุ่นที่เกิดในยุคดิจิตอล และรุ่นอพยพสู่ดิจิตอล คือ เกิดก่อนปีคศ.1980 ซึ่งต้องเรียนรู้ ส่วนเทรนด์ต่อไป คนจะไม่ทำอาชีพเดียวไปตลอดชีวิตเหมือนคนรุ่นก่อนอยู่ในอาชีพไหนก็ทำงานอาชีพเดียว 30-40 ปี แต่คนรุ่นใหม่กว่าพวกเขาจะอายุ 40 ก็เปลี่ยนอาชีพไปหลายครั้ง ถ้าอย่างนั้นตอนนี้คนรุ่นเก่าต้องหมั่นเรียนรู้ ไม่อยู่นิ่งๆ

นั่นทำให้อาจารย์รีบปรับตัวให้ทันคนรุ่นใหม่ ?

ผมเป็นคนที่ชอบอ่านโน้นอ่านนี่ หาความรู้ตลอด ซึ่่งการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์และเว็บ ก็ต้องอ่านเยอะและสังเคราะห์ความรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวเราตื่นเช้ามา ผมต้องเช็คข่าว3แอพ คือBBC ดูข่าวทั่วไป ,วอร์ลสตรีท อ่านข่าวธุรกิจ และซีเอ็นเอ็น ตามข่าวด้านเทคโนโลยี

ต่อไปกลุ่มสตาร์ทอัพจะมีบทบาทต่อสังคมอย่างไร

เป็นสิ่งที่ดี เพราะคนกลุ่มนี้มีความรู้ พื้นฐานการศึกษาดี ซึ่งจะสตาร์ทอัพไทยเริ่มบุกต่างประเทศมากขึ้นอย่างคุณเคยลองส่งอาหารทางอูเบอร์ไหม บ้านผมมีลูกวัยรุ่นก็ลองแล้ว อย่างผมอยากินโจ๊กสามย่าน ถ้าผมไม่ปรับตัว ผมก็ไม่ได้กิน ต้องมาที่จุฬาฯถึงได้กิน ถ้าผมใช้แอพบริการ ก็ง่ายขึ้น มาส่งถึงบ้าน

แต่สังคมเรายังมีความแตกต่างเยอะ ผมเจอลูกศิษย์คนหนึ่งทำแอพที่เชื่อมโยงให้เกษตรกรขายผลผลิต ถ้าเขาจะทำให้สำเร็จ เขาก็ต้องให้ความรู้เกษตรกรเยอะมากคนทุกระดับต้องมีการศึกษาพอที่จะใช้เทคโนโลยีเป็นและมีประโยชน์ สมาร์ทโฟน ซื้อมาสองหมื่นกว่าบาท ใช้จริงๆ คุณใช้กี่บาท