ภาคปชช.เสนอย่อยสตช. กระจายเป็นตร.จังหวัด-แยกงานสอบสวน

ภาคปชช.เสนอย่อยสตช. กระจายเป็นตร.จังหวัด-แยกงานสอบสวน

เวทีภาคประชาชน เชื่อมั่นรัฐบาลต้องการปฏิรูปตำรวจ ตกผลึกความเห็นจำเป็นต้องกระจายอำนาจเป็นตำรวจจังหวัด โอนงานตามกฎหมายอื่นให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรง แยกงานสอบสวนออกจากภารกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

ที่มหาวิทยาลัยรังสิต - สถาบันปฏิรูปประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ จัดการอภิปรายสาธารณะ ในหัวข้อ "ทิศทางปฏิรูปตำรวจไทย ในรัฐบาลปัจจุบัน"

โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2550-60 มีกระแสเรียกร้องปฏิรูปตำรวจอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ เคยตั้งกรรมการขึ้นมาปฏิรูปทำเอกสารงานวิจัยกว่า 10 เล่ม เพื่อเป็นพื้นฐานการปฏิรูปตำรวจ แต่ทำไม่สำเร็จทั้งที่เสียงข้างมากต้องการปฏิรูป เนื่องจากตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกมาต่อต้าน แต่ยังมีความพยายามปฏิรูปตำรวจอย่างต่อเนื่อง จนคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการปฏิรูปตำรวจ

นอกจากนี้การที่รัฐบาลตะหนักถึงกระแสเรียกร้องของประชาขนที่เข้มข้นมากขึ้น จึงเชื่อว่ามีโอกาสเกิดการปฏิรูปตำรวจขึ้นได้ เพราะประธานคณะกรรมการฯเป็นทหาร และไม่ปรากฎชื่อนายตำรวจเป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดใดเลย

นายสังศิต กล่าวอีกว่า สถาบันปฏิรูปประเทศไทยจึงมีแนวคิดที่จะรวบรวมความเห็นของภาคประชาชนเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อทยอยส่งข้อคิดเห็นไปให้คณะอนุกรรมการทั้ง 5 ชุด เบื้องต้นเห็นตรงกันในเรื่องกระจายอำนาจตำรวจ จากรวมอำนาจในศูนย์กลางไปเป็นตำรวจจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และการแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ยังมีคำถามว่าแยกแล้วจะเอางานสอบสวนไปไว้ที่ไหน เช่น กระทรวงยุติธรรม และยังมีความเห็นที่ต้องการให้หน่วยงานต่างๆมีตำรวจ เช่น ทางหลวง ป่าไม้ ท่องเที่ยว ศุลกากร สรรพากร เป็นต้น เช่นเดียวกับตำรวจรัฐสภาเดิมสังกัดสตช.ย้ายมาสังกัดรัฐสภา หรือตำรวจดับเพลิงแยกไปอยู่กับองค์กรปกครองท้องถิ่น ทั้งนี้ยืนยันว่าเราไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล เราเป็นมิตรที่ไว้ใจได้ และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลอยากปฏิรูปตำรวจจริง

ด้านนายกฤษณะพงศ์ พูตระกูล ประธานหลักสูตรอาชญวิทยา ม.รังสิต กล่าวว่า ถึงเวลาต้องกระจายอำนาจในการปฏิรูปตำรวจ แต่จะทำถึงขนาดไหนต้องขึ้นอยู่กับความพร้อม ถ้าลงไปถึงจังหวัดอาจยากต่อกำกับตรวจสอบ ดังนั้นประชาชนทุกกลุ่มอาชีพควรมีโอกาสเสนอความเห็นในเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ทั้งระบบการอบรมคัดเลือกตำรวจ งบประมาณขาดแคลน ขาดแคลนเทคโนโลยีสนับสนุนงานตำรวจ ในอังกฤษกล้องวงจรปิดจับภาพคนตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงกลับเข้าบ้าน เฉลี่ย 300 ภาพต่อคนต่อวัน ในไทยกล้องไม่มี ที่มีอยู่ก็เสียบางดีบ้าง หรือบันทึกภาพไม่ชัด สำหรับงานสอบสวนโดยส่วนตัวยังไม่คิดว่าจะอยู่หรือจะไป แต่จำเป็นต้องพัฒนางานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะพูดเรื่องปฏิรูปตำรวจอยากให้เข้าไปในโรงพัก ดูว่าตำรวจทำงานอย่างไร ออกเวรแล้วกินนอนอย่างไร แฟลตตำรวจ 1 ห้อง มีตำรวจ 4-5 คนผลัดเวรกันมานอนห้องเดียวกัน ความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของตำรวจยังไม่ได้รับการดูแล ให้ตำรวจดูแลประชาชนได้อย่างไร

"การปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จเมื่อฝ่ายการเมืองมีเจตจำนงมั่นคง ประชาชนแสดงออกถึงความต้องการที่ชัดเจน และตำรวจอยากปรับปรุงองค์กร และจะทำอย่างไรให้องค์กรตำรวจปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง แม้ทำไม่ได้ 100% ก็ตาม ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรียังนั่งประธานกตร. ตำรวจก็ปลอดจากการแทรกแซงไม่ได้ "นายกฤษณะพงศ กล่าว

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ที่ปรึกษาสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชาชนที่อึดอัดกันมานานเห็นตรงกันให้ปฏิรูปตำรวจ งานตำรวจมี 2 ส่วน ตรวจป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ระงับเหตุ และงานสอบสวน ความคิดที่ตกผลึกแล้วคือให้โอนหน่วยงานตำรวจไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมต่างๆ คำว่าตำรวจคือบทบาท ไม่ใช่สตช. กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมป่าไม้ หรือเทศกิจ ถือเป็นตำรวจทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาการปฏิรูปทำไม่ได้เพราะมีข้อมูลไม่ถูกต้อง เช่น คนน้อย งบประมาณไม่พอ ตำรวจไทยมีโครงสร้างเหมือนกองทัพ ซึ่งไม่สอดคล้องกับภารกิจ ในการระงับเหตุตำรวจต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ซึ่งต่างจากทหารอย่างชัดเจน ดังนั้นตำรวจจึงต้องคลายตัวไปเป็นพลเรือนให้มากขึ้น การปฏิรูปตำรวจไม่ใช่เรื่องยาก หากได้รับข้อมูลจริง การปฏิรูปไม่ใช่เพื่อไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่ง เพราะหน่วยงานใดก็มีการซื้อขายตำแหน่งไม่ได้ ตำรวจทั่วโลกก็ขึ้นอยู่กับเมือง ไม่ข้ามพื้นที่อำนาจสอบสวนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีหลักคิดแบบตำรวจทำให้กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา คนรวยติดคุกยาก คนจนถูกแจ้งข้อหาง่าย หลังจากนี้ขอให้จับตาในประเด็นตำรวจสังกัดจังหวัด และงานสอบสวนที่ต้องเป็นอิสระ มีอัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้นคดี เพื่อไม่ให้มีการยกฟ้องในชั้นศาลจำนวนมาก

นายคมสัน โพธิ์คง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัญหาเรื่องตำรวจมีทั้งความล่าช้า การดำเนินคดีไม่เป็นธรรม และการดำเนินคดีหละหลวม ในบางปีสถิติคดีอาญายกฟ้อง 40-50% ขณะที่ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่นสถิติคดียกฟ้องแค่ 6% ในความจริงงานสอบสวนเป็นงานของกระบวนการยุติธรรม แต่งานตำรวจเป็นการรักษาความสงบ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โครงสร้างสตช.เป็นปิรามิดยอดแหลม ผบ.ตร.ตัดสินคนเดียว กระบวนการแทรกแซงคดีเกิดได้ง่าย แค่ได้ตัวผบ.ตร.คนเดียวก็ได้คดีทั่วราชอาณาจักรไว้ในมือ นอกจากนี้ระบบงบประมาณที่กระจุกตัวทำให้โรงพักทั่วประเทศติดหนี้สารพัด ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำ โทรศัพท์ หลายสน.ต้องจัดกอล์ฟหาเงินมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ คนจบตำรวจมาต้องซื้อปืนเอง หาคอมพิวเตอร์ โต๊ะเก้าอี้มานั่งทำงานเองด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่ปฏิรูปไม่ได้แล้ว จึงขอให้ปลัดกระทรวงการคลังเข้าไปพิจารณาด้วย เพราะถ้าต้องหาเงินมาทำงานก็ต้องเข้าหาระบบอุปถัมภ์ การกระจายอำนาจและงบประมาณต้องให้หมดสภาพปิรามิดยอดแหลมจะปฏิรูปในรูปแบบเดิมไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะอยู่ในสภาพเดิม ความเป็นอยู่ที่ทุกข์ยากของตำรวจก็จะตามมาด้วยความทุกข์ยากของประชาชน เพราะมุ่งที่จะหาเงินมากกว่าพัฒนาองค์ความรู้ การทำงานของตำรวจจึงผิดพลาดและผิดเพี้ยนตลอด

"กระจายอำนาจตามพื้นที่และการใช้อำนาจตามกฎหมาย ไทยมีกฎหมายกว่า 500 ฉบับ ตำรวจคงไม่สามารถรู้รายละเอียดในกฎหมายทุกฉบับ ป่าไม้ ขนส่ง สรรพากร ควรทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ต้องไปฝากงานไว้กับตำรวจ เรือ่งงานสอบสวนก็ต้องวางกฎเกณฑ์ให้แต่ละหน่วยสอบสวนอย่างเป็นอิสระ" นายคมสัน กล่าว

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ กล่าวว่า รัฐบาลตะหนักดีว่าปัญหาของตำรวจถูกหมักหมมมานาน ระบบตำรวจมีระบบอุปถัมภ์ซ้ำซ้อนมากกว่าสวรรค์ 16 ชั้นฟ้า บัญชีโยกย้ายยาวเป็นหางว่าว การกระจายอำนาจไปจังหวัดไม่ใช่ทำให้เป็นตำรวจจังหวัด และไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่มีคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากหลายฝ่ายในพื้นที่ร่วมกันกำกับ ในประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดนโยบายห้ามเกิดคดีอาญาในพื้นที่เพิ่มขึ้นเกิน 10% ทำให้มีการวางกรอบการทำงานป้องกันอาชญากรรมที่ชัดเจน และนำผลงานมาพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แตกต่างกับการแต่งตั้งโยกย้ายของตำรวจไทย

ด้านนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนหายสาปสูญ 55 ราย มีเพียง 5 คดีเท่านั้นที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ส่งฟ้องคดีแล้วศาลตัดสินลงโทษ ส่วนที่เหลือเงียบหาย รวมถึงคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ตำรวจเข้ามาเหี่ยวข้องกับการบังคับให้สูญหาย

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ต้องลงให้ถึงระดับโครงสร้าง โดยภาคประชาชนจะเร่งรวบรวมโมเดลในการปฏิรูปเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูป เบื้องต้นคือการกระจายอำนาจตำรวจไปเป็นตำรวจจังหวัด ส่วนเรื่องการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจนั้น แม้จะยังเห็นไม่ตรงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะแยกไปไว้ส่วนใดหรือจะให้อัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าอัยการพร้อมหรือไม่ แต่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่างานสอบสวนมีปัญหา