‘ซีเกท’ ผนึก ‘ไซอาร์ค’ ดึง ‘ดิจิทัล’ รักษ์มรดกวัฒนธรรม

‘ซีเกท’ ผนึก ‘ไซอาร์ค’ ดึง ‘ดิจิทัล’ รักษ์มรดกวัฒนธรรม

เทคโนโลยีไม่ได้มีไว้ใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเดียว แม้แต่การบันทึกประวัติศาสตร์ หรือการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา เทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

ซีเกท ผู้นำในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟระดับโลก ผุดโครงการร่วมอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ร่วมกับบริษัท ไซอาร์ค (CyArk) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับนานาชาติ ร่วมอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของเมืองเก่าอยุธยา บริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ดึงเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลยุคดิจิทัล ช่วยอนุรักษ์ประวัติศาสตร์เมืองโบราณในรูปแบบภาพถ่ายโมเดลสามมิติ ที่พัฒนาไปสู่เทคโนโลยีเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยีวีอาร์ เพิ่มความน่าสนใจในแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

อนุรักษ์มรดกในแบบดิจิทัล
โครงการแรกที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือครั้งนี้ คือ อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ‘วัดพระศรีสรรเพชญ์’ ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยใช้เทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลดิจิทัล สแกนแหล่งมรดกโลก พร้อมเก็บรักษา ถ่ายทอดให้เป็นโมเดลสามมิติเพื่อให้คนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษา นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจมรดกทางวัฒนธรรมได้สัมผัสสถานที่เหล่านี้แบบเสมือนจริงทุกที่ ทุกเวลา

นับเป็นการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแบบดิจิทัล 3 มิติ ครั้งแรก 

“ทิม บูเคอร์” รองประธานอาวุโส คอนซูเมอร์ โซลูชั่น กรุ๊ป บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี กล่าวว่า ยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบันทึกข้อมูล และระบบประมวลผลต่างๆ ก้าวหน้าจนถึงขั้นเก็บรักษาโบราณสถานที่สำคัญ และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดยเมื่อปี 2558 บริษัทให้การสนับสนุนไซอาร์ค นำเสนอโซลูชั่นและเทคโนโลยีซีเกทช่วยบันทึกและเก็บรักษาข้อมูลทั้งหมด

"ตั้งแต่การบันทึกภาพ การประมวลผลไปจนถึงการเก็บรักษาข้อมูล เรายินดีที่ได้ร่วมมือกับไซอาร์คอีกครั้งปีนี้ เพื่อริเริ่มโครงการแรกในไทย และมีส่วนร่วมอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน"

นายแอนโทนี ฟาสเซโร รองประธานฝ่ายผลิตและตัดต่อของไซอาร์ค กล่าวว่า ไซอาร์คเลือกวัดพระศรีสรรเพชญ์ให้เป็นหนึ่งในโครงการระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ด้วยระบบดิจิทัลผ่านการสำรวจทางอากาศด้วยโดรน การสแกนเลเซอร์บนพื้นหรือ LiDAR และการรังวัดจากภาพถ่าย

โดยซีเกทได้สนับสนุนไซอาร์ค ทั้งภาคสนามและการทำงานหลังบ้านด้วยโซลูชั่นการบันทึกข้อมูลหลายรูปแบบ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่มีหน่วยความจำสูงอื่นๆ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ทำให้มั่นใจได้ว่าไฟล์ข้อมูลแบบสามมิติขนาดใหญ่ที่รวบรวมได้จากงานภาคสนามได้รับการจัดเก็บสำรองไว้อย่างปลอดภัย

พร้อมบันทึกลงในศูนย์จัดเก็บข้อมูลกลาง เพื่อการประมวลผล และสร้างแผนที่อย่างละเอียด รวมถึงการเขียนแบบทางสถาปัตยกรรม เพื่อช่วยอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก ข้อมูลที่ได้รับการจัดเก็บยังใช้เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์แบบวีอาร์อินเตอร์แอคทีฟ ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับทั้งนักท่องเที่ยวและนักวิชาการ พร้อมช่วยอนุรักษ์การออกแบบและสถาปัตยกรรมเชิงประวัติศาสตร์ของวัดและโบราณสถานในอยุธยาที่กำลังเสื่อมสภาพตามกาลเวลา

พัฒนาสู่‘วีอาร์’ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล และดำเนินการผลิต โดยอาจต้องใช้เวลา ซึ่งคาดว่าไม่เกินปลายปีนี้จะได้เผยแพร่สู่สาธารณะชนในรูปแบบที่สมบูรณ์ ที่ผ่านมาไซอาร์ค เข้าไปทำโครงการในลักษณะนี้แล้วราว 200 โครงการ ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

"สำหรับกระบวนการเก็บข้อมูลในพื้นที่ จะมีการเก็บภาพถ่าย 3 มิติ ด้วยการใช้เซ็นเซอร์ LiDAR ในการสแกน, วิธี Photogrammatry หรือรวบ รวมภาพถ่ายหลายๆ มุมมาประกอบเข้าด้วยกัน และภาพถ่ายมุมสูงและการทำรังวัดจากโดรน ก่อนนำไปประมวลผลผ่านซอฟต์แวร์"

ในโครงการครั้งนี้ ซีเกท เข้ามาช่วยเหลือไซอาร์ค ทั้งภาคสนามและการทำงานหลังบ้านผ่านโซลูชั่นการบันทึกข้อมูลที่หลากหลาย โดยไซอาร์ค มีแผนนำเสนอข้อมูล 3 มิติของโบราณสถานทั่วโลกในรูปแบบของวีอาร์ในอนาคตด้วย พร้อมทั้งมีแผนพูดคุยเป็นพาร์ทเนอร์กับทั้งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์วีอาร์ในอนาคต

สำหรับไซอาร์คก่อตั้งในปี 2546 เดินทางเก็บข้อมูลโบราณสถานและมรดกโลกมาแล้วกว่า 200 โปรเจคใน 40 ประเทศทั่วโลก เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานเหล่านั้นจากการสูญสลายไม่ว่าจะมาจากภัยธรรมชาติ หรือน้ำมือมนุษย์

หวังเทคฯ เสริมคุณค่า
นายประทีป เพ็งตะโก รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ซีเกทและไซอาร์คนำมาใช้บันทึกข้อมูลที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอยุธยา ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย และยังทำให้เมืองที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำที่จะดึงดูดให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้เข้ามาเยี่ยมชม

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมบัติที่สำคัญของประเทศกำลังเผชิญกับภัยอันตรายมากขึ้นทั้งจากการกระทำของมนุษย์หรือธรรมชาติ เราจะหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่ๆ มากยิ่งขึ้นเพื่ออนุรักษ์แหล่งมรดกที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย ครั้งนี้เป็นยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นต่อไปในอนาคตได้สัมผัสอยุธยาในรูปแบบใหม่อย่างแท้จริง”

สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 85 กม. มีความเจริญรุ่งเรืองในช่วงศตวรรษที่ 14 ถึง 18 ในฐานะเมืองหลวงของราชอาณาจักรสยาม ช่วงเวลาดังกล่าวกรุงศรีอยุธยามีพื้นที่เขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นศูนย์กลางทางการทูตและการค้าระดับโลก กรุงศรีอยุธยาล่มสลายในปี 1767 และหลงเหลือทิ้งไว้เพียงสิ่งก่อสร้างที่เป็นอนุสรณ์

ปัจจุบันแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโกแห่งนี้ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย และเป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ และศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2546 ไซอาร์คได้รวบรวมและบันทึกข้อมูลดิจิทัล เทคโนโลยีขั้นสูงของแหล่งมรดกโลกกว่า 200 แห่งใน 40 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนครวัดในกัมพูชา เมืองพุกามในเมียนมา  และซิดนีย์ โอเปร่า เฮาส์ในออสเตรเลีย