สถานที่ทำงานควร“สร้างประสบการณ์”ที่ดีให้พนักงาน

สถานที่ทำงานควร“สร้างประสบการณ์”ที่ดีให้พนักงาน

เจแอลแอล วิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับสถานประกอบการที่มีผลต่อความรู้สึกมีส่วนร่วมของพนักงานและความสำเร็จขององค์กร พบ90% หนุนแนวความคิดจัดตั้งตำแหน่ง “ประธานบริหารฝ่ายความสุข” ดูแลความเป็นอยู่พนักงาน

บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ “เจแอลแอล” เปิดตัวรายงานวิจัยเรื่อง Workplace Powered by Human Experience (สถานประกอบการอาศัยประสบการณ์มนุษย์เป็นแรงขับเคลื่อน)” เผยให้เห็นว่า การช่วยให้พนักงานรู้สึกดีในการทำงาน ไม่ได้อยู่เพียงแค่การพยายามให้พนักงานมีสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว บริษัทต่างๆ มีโอกาสได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

หากตระหนักได้ว่า ประสบการณ์ที่สร้างให้กับพนักงานในสถานประกอบการของตน มีผลโดยตรงต่อระดับความรู้สึกของพนักงาน ในแง่ของการมีส่วนร่วม การได้รับอำนาจเต็มที่ในการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และความรู้สึกเติมเต็ม

รายงานฉบับดังกล่าว วิเคราะห์วิธีที่ประสบการณ์มนุษย์จะสามารถช่วยให้ธุรกิจเติบโตในโลกใหม่ของการทำงานได้อย่างไร ซึ่งการจัดทำรายงานฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการงานวิจัยภายใต้ชื่อ Future of Work (อนาคตของการทำงาน) ซึ่งเจแอลแอลเปิดตัวไปก่อนหน้าเมื่อไม่นานมานี้ รายงานฉบับนี้ ยังนำเสนอรูปแบบของประสบการณ์มนุษย์ด้วย

ในการจัดทำรายงาน เจแอลแอลได้รับความร่วมมือในการแสดงความคิดเห็นจากบริษัทชั้นนำ 40 บริษัททั่วโลก และมีการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานองค์กรต่างๆ มากกว่า 7,000 คนใน 12 ประเทศจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา โดยพนักงานเหล่านี้มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 18-65 ปี และทำงานในบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน

ผลการศึกษาที่สำคัญๆ มีดังนี้

เกือบ 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เห็นด้วยว่า ความสุขในการทำงานเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดที่จะช่วยสร้างหลักประกันได้ถึงประสบการณ์การทำงานที่แตกต่าง นอกจากนี้ เกือบ 90% ของผู้ตอบแบบสำรวจ สนับสนุนแนวความคิดให้บริษัทจัดให้มีตำแหน่ง “ประธานบริหารฝ่ายความสุข (Chief Happiness Officer)” เพื่อทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานโดยเฉพาะ

ในขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ยังคงมีคนสนใจต้องการทำงานด้วยมากกว่าองค์กรขนาดเล็ก แต่มี 46% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ตนเองปรารถนาที่จะทำงานในธุรกิจสตาร์ทอัพและหวังที่จะสร้างธุรกิจของตนเอง

มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 40% ที่มีความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในที่ทำงาน โดยผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มนี้ มองว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจและความเอื้ออารี เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในที่ทำงาน ซึ่งการมีสถานที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว อาทิ การจัดที่นั่งให้พนักงานสามารถใช้ร่วมกัน) มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดทั้งสองปัจจัยดังกล่าว

ผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 52% รู้สึกมีความสุขเต็มร้อยในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ 42% ของผู้ตอบแบบสำรวจ แสดงความพร้อม หากบริษัทของตนจะเปลี่ยนที่ทำงานให้เป็นแบบเปิดโล่ง (ไม่มีที่กั้นระหว่างที่นั่ง) หรือให้ใช้ที่นั่งร่วมกันโดยยกเลิกการจัดสรรที่นั่งส่วนตัวให้กับพนักงานแต่ละคน เพื่อให้เกิดที่ทำงานที่มีนวัตกรรมแปลกใหม่

47% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า การสามารถจดจ่อกับงานที่ทำในที่ทำงานนับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด พร้อมเรียกร้องให้บริษัทให้ความสำคัญมากขึ้นกับการพิจารณาอนุญาตให้พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานอย่างไร เมื่อใด และที่ไหน

เนล เมอร์เรย์ ประธานเจ้าหน้าบริหารภาคพื้นยุโรปและตะวันออกกลางของเจแอลแอล กล่าวว่า “ในโลกที่กำลังถูกขับเคลื่อนโดยข้อมูลและนวัตกรรมด้านดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ อนาคตของการทำงานจึงอาจมีความเกี่ยวพันกับพนักงานในองค์กรมากกว่าที่คิด องค์กรต่างๆ ไม่สามารถให้ความสำคัญเฉพาะแต่กับเพียงการจัดสรรสถานที่ไว้ให้พนักงานใช้เป็นที่นั่งทำงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นสถานที่ที่ช่วยให้พนักงานจะสามารถสานความใฝ่ฝันของตนให้เป็นจริงด้วย การให้ความใส่ใจกับสิ่งที่พนักงานต้องการ อาจสามารถทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้นต่างจากเดิมต่อธุรกิจ”

แมรี พายบารอด ผู้อำนวยระหว่างประเทศฝ่ายวิจัยองค์กร เจแอลแอล กล่าวว่า “ประสบการณ์มนุษย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำงานว่ามีผลต่อสมรรถภาพของบริษัทอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า สถานที่ทำงานและที่นั่งทำงานมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ทั้งในเชิงกลยุทธ์และเชิงปฏิบัติการ ในการสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วม การได้รับอำนาจเต็มที่ในการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และความรู้สึกเติมเต็ม”