ทรูมันนี่ ผนึก ‘อาลีเพย์’ ชิงผู้นำตลาด 'อี-วอลเล็ต'

ทรูมันนี่ ผนึก ‘อาลีเพย์’ ชิงผู้นำตลาด 'อี-วอลเล็ต'

ปูพรมเพิ่มจุดรับชำระให้ครบ “แสนจุด” ดันไทยสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ

“ทรูมันนี่” หวังสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ ตั้งเอเย่นต์เพิ่มหวังขยายจุดรับชำระเงินผ่านอี-วอลเล็ตวางเป้าแสนจุดสิ้นปี จากปัจจุบัน 12,000 จุด พร้อมผนึก ‘อาลีเพย์’ รับเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยต่อปี 10 ล้านคน ชี้สร้างโอกาสร้านค้าเข้าถึงผู้บริโภควงกว้างมากขึ้น

นางสาวสราญรัตน์ ศรีจิรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทต้องการผลักดันให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมไร้เงินสดเป็นรูปธรรมอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร โดยต้องการเป็นส่วนหนึ่งช่วยส่งเสริมนโยบายเนชั่นแนล อี-เพย์เมนท์ และไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ ทรูมันนี่เตรียมขยายจุดรับชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ต) ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มจุดรับชำระเป็น 100,000 จุดทั่วประเทศ จากปัจจุบันอยู่ที่ 12,000 จุด ผ่านตัวแทนจำหน่าย 6 ราย ได้แก่ บัซซี่บีส์ , ฮวนยูจิ ,จีมู่ อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี (ประเทศไทย), เพย์วิง (ประเทศไทย), ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น และวงใน มีเดีย

ทั้งนี้ ตัวแทนทรูมันนี่ทั้ง 6 ราย จะเป็นคนกลางประสาน หาร้านค้า ธุรกิจบริการที่ได้คุณภาพ และตรงกับไลฟ์สไตล์กับผู้ใช้งานทรูมันนี่ วอลเล็ต รวมถึงร้านค้าที่เป็นที่นิยมของ นักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อชำระผ่านอาลีเพย์ วอลเล็ต ร้านค้าสามารถมั่นใจได้ว่า ตัวแทนอย่างเป็นทางการทั้ง 6 จะเป็นตัวแทนสรรหาธุรกิจร้านค้าต่างๆ ที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ซึ่งร้านค้าและลูกค้าเองจะได้รับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้ธุรกิจมากขึ้น ช่วยผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดที่จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น

สำหรับจำนวนผู้ใช้ทรูมันนี่ที่ใช้งานจริงปัจจุบันมีจำนวน 2 ล้านคน จากจำนวนผู้ที่สมัครเข้ามาในระบบ 5 ล้านคน หากเป้าหมายมีจุดรับชำระได้ตามที่กำหนดแล้ว เชื่อว่าผู้ใช้งานจริงจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวคือ 4 ล้านคน

“ปัจจุบันมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5-6 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้เฉลี่ย 2-3 ครั้ง ดังนั้นเมื่อมีการเพิ่มจำนวนจุดชำระเป็น 100,000 จุด จะส่งผลให้ยอดการใช้งานเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว โดยทรานเซคชั่นปัจจุบันที่ใช้งานกันมาก คือ โอนเงินระหว่างกระเป๋าเงิน และการซื้อของในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น” นางสาวสราญรัตน์ กล่าว

นางสาวพิภาวิน สดประเสิรฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย แอนท์ ไฟแนนเชี่ยล เซอร์วิส กรุ๊ป ผู้ให้บริการอี-วอลเล็ต ‘อาลีเพย์’ กล่าวว่า อาลีเพย์ เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ดิจิทัลสำหรับผู้ใช้ชาวจีนทุกรูปแบบ ปัจจุบันมีผู้ใช้อาลีเพย์ประจำมากกว่า 450 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้ใช้อาลีเพย์ซึ่งเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยปีละ 10 ล้านคน มีคนใช้อาลีเพย์ในไทย 5-6 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

“การขยายเครือข่ายร้านค้า และบริการที่รับชำระเงินด้วยระบบอาลีเพย์ที่ชาวจีนมีความคุ้นชินอยู่แล้ว ทั้งนี้ปัจจุบันมีจำนวนจุดรับชำระอาลีเพย์อยู่ 15,000 จุด ซึ่งคาดหวังจะขยายจุดรับชำระเป็น 100,000 จุดเช่นเดียวกับเป้าหมายของทรูมันนี่” นางสาวพิภาวิน กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ตั้งขึ้นในปี 2546 โดยทรู คอร์ปอเรชั่น และย้ายมาอยู่ภายใต้เครือแอสเซนด์ กรุ๊ป ในปี 2558 บริการของทรูมันนี่ สำหรับลูกค้าดิจิทัลรวมไปถึงกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (ทรูมันนี่ วอลเล็ต) ในไทยและอินโดนีเซีย บัตรเดบิตแบบใช้งานออนไลน์และใช้งานตามร้านค้า (วีการ์ดโดยความร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ด) ในไทยบัตรเงินสด (ทรูมันนี่ แคช การ์ด ที่ซื้อได้ผ่านเซเว่นอีเลฟเว่นในไทย อัลฟ่ามาร์ทในอินโดนีเซีย บิกแมคในฟิลิปปินส์ และในกัมพูชา) บริการจ่ายบิลและเติมเงินโทรศัพท์มือถือ (เพย์พอยท์) ที่มีบริการในทั้ง 6 ประเทศในอาเซียน เติมเงินเกมในไทยและกัมพูชา และบริการเก็บค่าใช้จ่ายในเมียนมา

สำหรับลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ทรูมันนี่มีเครือข่ายตัวแทนกว่า 35,000 รายทั่วทั้งภูมิภาคให้บริการธุรกรรมต่างๆ เช่น โอนเงินในประเทศและข้ามประเทศ จ่ายบิล และเติมเงินโทรศัพท์มือถือ พร้อมบริการสำหรับองค์กร เช่น เพย์เมนท์เกตเวย์สำหรับผู้ค้าอีคอมเมิร์ซในไทย และการจ่ายเงินเดือนพนักงานสำหรับในอินโดนีเซีย