หุ้น 'พลังงานทดแทน' คึก

หุ้น 'พลังงานทดแทน' คึก

หุ้นพลังงานทดแทนคึก แห่ระดมทุนหนุนมาร์เก็ตแคปพองเกือบ5แสนล้าน ตลาดเผยมีบริษัทขนาดใหญ่จ่อคิวไอพีโอ หลังบีกริมเคาะราคา 15-16.50 บาท

หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนคึกคัก หันระดมทุนตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้มาร์เก็ตแคปของกลุ่มธุรกิจเกือบ 5 แสนล้านบาท “ตลาดหลักทรัพย์”เผยมีบริษัทใหญ่จ่อคิว หลังบีกริมกำหนดกรอบราคาไอพีโอ15-16.50บาท ประเมินแนวโน้มพลังงานทดแทนโตต่อเนื่องทั้งในต่างประเทศ ขณะดีคอร์ปลุ้นโรงไฟฟ้าชีวภาพพยุงธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจได้สำรวจหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)ประมาณ 4.5 แสนล้านบาท โดยหุ้นพลังงานบริสุทธิ์ (EA)เป็นหุ้นที่มาร์เก็ตแคปสูงสุด 1.27 แสนล้านบาท รองลงมา หุ้นทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์(TPIPP) มูลค่า 5.88 หมื่นล้านบาท หุ้นโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)มูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท

นาย สันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนยังได้รับความสนใจในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างการยื่นเข้าขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ

“ธุรกิจพลังงานทดแทนยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน และพบว่ามีหลายบริษัทที่มีแผนจะเข้าระดมทุนอย่างต่อเนื่อง และเป็นบริษัทที่มีขนาดกิจการค่อนข้างใหญ่และต้องใช้เงินลงทุนระดับสูงด้วย”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจในกลุ่มพลังงานทดแทนจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากขึ้น แต่ตลาดหลักทรัพย์ไม่มีแนวคิดแยกกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนออกจากกลุ่มพลังงาน เพราะหากจะดำเนินการต้องศึกษารายละเอียดที่รอบคอบ อีกทั้งการอยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงานดั้งเดิมก็ไม่ใช่สิ่งเสียหาย แม้จะยังไม่มีการวัดขนาดของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)ของกลุ่มพลังงานทดแทน แต่ยังเชื่อว่ามีขนาดรวมกันยังเล็กกว่าในบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)PTT

บีกริมเป้ารายได้โรงไฟฟ้าโซลาร์30%

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจพลังงานทดแทนจะได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีโอกาสการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ ประโยชน์ของการมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะช่วยดึงค่าเอฟทีของบริษัทให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

“การทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน จะมีส่วนช่วยให้ช่วยดึงค่าเอฟทีของบริษัทเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันบริษัทมีค่าเอฟทีเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8-3บาทต่อหน่วย แต่ในค่าเอฟทีของพลังงานทดแทนอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ค่าเอฟทีอยู่ในระดับที่สูงถึง 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งการขยายงานส่วนนี้มากขึ้นจะช่วยให้ค่าเอฟทีของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นได้”

สำหรับแผนในอนาคตบริษัทจะขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ทั้งประเทศลาว เมียนมาร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ โดยมีเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากพลังงานทดแทนในระดับ 30 % ของรายได้รวมทั้งหมด จากปัจจุบันที่ 10 % ของบริษัทภายใน 5 ปี ส่วนในประเทศ แม้ว่าจะมีกระแสข่าวการเคลื่อนโครงการโซลาร์ฟาร์มออกไปจากสายส่งที่ไม่พร้อม

บริษัทเห็นการเติบโตจากโรงไฟฟ้ารูปแบบเก่าที่ยังขยายตัวได้ เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างยังทรงตัวแต่การใช้วัตถุดิบผลิตไฟฟ้าน้อยลงกว่าเดิม อีกทั้งการผลิตไฟฟ้าด้วยรูปแบบดั้งเดิมยังมีความจำเป็นอย่างมากในประเทศไทย โดยเฉพาะในย่านนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการการผลิตไฟฟ้าที่เสถียรทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมทั้ง 3 แห่งของบริษัทที่จะหมดสัญญาการขายไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้กำหนด ราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 716.9 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 15.00 - 16.50 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อหุ้นในวันที่ 3 - 6 ก.ค. 2560และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันที่ 19 ก.ค. นี้ การกำหนดราคาหุ้นไอพีโอในระดับดังกล่าวเป็นราคาที่เหมาะสมกับการเติบโตในอนาคต จากการเติบโตของสัญญาขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 28 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,626 เมกะวัตต์บริษัทมีแผนจะต้องดำเนินการให้ครบ 43 โครงการ กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,357 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564

ดีคอร์ปลุยโรงไฟฟ้าชีวภาพ

นายอนิศ โอสถานุเคราะห์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีมีเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) DCORP เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง แม้โครงการลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ จะประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล ทำให้การลงทุนไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ปัจจุบันมีเงินสดอยู่ที่ 500 ล้านบาท พร้อมลงทุนในโครงการที่น่าสนใจส่วนโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุนของบริษัทปัจจุบันมีการถือหุ้นในบริษัท อัครวัฒน์ พลังงานพืชหมุนเวียน จำกัด จำนวน 33 % ในโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพหรือไบโอแก๊ส จังหวัดสุพรรณบุรี ขนาดกำลังการผลิต 4.9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในกลางปี 2561 ระหว่างนี้บริษัทจะหันไปลงทุนในด้าน อินโนเวชั่น โดยให้บริการการไลฟ์สดผ่านแอพพลิเคชั่น ที่มีการเติบโตสุง

ส่วนการขาดทุนสะสมของบริษัทในไตรมาสแรกที่ 1,066.77 ล้านบาท เกิดจากการตัดค่าเสื่อมของธุรกิจเคเบิลทีวี ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัท เป็นการขาดทุนทางบัญชีและมีการขาดทุนที่แท้จริงในระดับ 100 -200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาหารูปแบบที่เหมาะสมในการล้างการขาดทุน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้