ไขรหัส “เอสเอ็มอี” รับมือสังคมไร้เงินสด

ไขรหัส “เอสเอ็มอี” รับมือสังคมไร้เงินสด

กระแสดิจิทัลมาแรง ตัวแปรหลักเปลี่ยนคนทำธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ต้องรู้ เข้าใจ พลิกตัวเองสู่วิถีโลกการค้ายุคใหม่

โจทย์ใหญ่ที่คู่แข่งไม่ใช่แค่เอสเอ็มอีด้วยกัน แต่ยังมีผู้ท้าชนนอกบ้าน อย่าง อาลีเพย์ และวีแชท แอพจ่ายเงินสะเทือนการทำธุรกิจ เดินสู่ยุคสังคมไร้เงินสด

ในประเทศที่มีจำนวนผู้ทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่สัดส่วนหลักถึง 99.7% ของจำนวนผู้ประกอบการทั่งประเทศอย่างไทย เอสเอ็มอีจึงเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่

ทว่า การทำธุรกิจของเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมากลับไม่ง่าย และยิ่งยาก ท้าทายขึ้นอีกระดับ เมื่อกระแสดิจิทัลเข้ามาถาโถมเปลี่ยนฤติกรรมผู้บริโภครวดเร็ว และยังทำให้คู่แข่งเพิ่มขึ้นมากมายไม่เฉพาะเอสเอ็มอีด้วยกันเอง แต่ยังมีคู่แข่งน้อยใหญ่จากในและต่างประเทศ ตามการเฟื่องฟูของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ

เอสเอ็มอีที่จะรอดได้ ท่ามกลางผู้บริโภคที่เข้าใจยาก การแข่งขันดุเดือด จึงต้องศึกษาบทเรียนในอดีต เข้าใจธุรกิจในปัจจุบัน และอ่านเกมธุรกิจในอนาคตอย่างแม่นยำ เพื่อวางหมากไม่ให้พลาด

ดร.อารักษ์ สุธีวงษ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Strategy officer ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ เอสซีบี เผยถึงผลศึกษาแนวโน้มธุรกิจ ซึ่งสะท้อนสัญญาณบวกและลบ ที่เอสเอ็มอีไทยต้องฉวยจังหวะจากเทรนด์ใหม่ ชิงปรับตัว แม้ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม 

โดยเทรนด์ร้อนที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีมีอยู่ด้วยกัน 4 เทรนด์ ประกอบด้วย

  1. สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเริ่มผงกหัว คาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีในปีนี้เริ่มผงกหัวขึ้น หลังที่ซึมๆ เซื่องๆ มายาวนาน เป็นผลมาจากความสามารถในการส่งออกของไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวเติบโต 5-6% หลังจากติดลบมาหลายปี
  2. ความผันผวนและความไม่แน่นอนที่ยังมีสูง ทำให้เดาทิศทางเศรษฐกิจในประเทศและโลกได้ยาก เพราะมีทั้งขึ้นๆอยู่ดีๆ ก็อาจจะลงได้ แม้จะมีข่าวดีมาให้ธุรกิจใจชื้น แต่สถานการณ์เหล่านี้ก็มาพร้อมข่าวให้คนทำธุรกิจต้องคอยระวังตัว ที่เห็นชัดคือ ค่าเงินบาทที่ผันผวน แข็งค่าและอ่อนค่าในเวลารวดเร็ว เอสเอ็มอีไทยที่มีตลาดส่งออกจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ
  3. สังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมคนสูงวัย จากสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น หมายถึง คนวัยทำงานเริ่มลดลง อัตราค่าแรงดีดตัวสูงขึ้น เป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นซึ่งธุรกิจต้องเตรียมแผนรับมือ 
  4. เทรนด์เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตผู้คน จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจเมื่อ 5 ปีที่แล้ว กับปัจจุบันต่างกันสิ้นเชิง เทคโนโลยีเข้ามากลมกลืนกับวิถีชีวิตคนในทุกระดับ โดยเฉพาะมือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน  เห็นได้จากธุรกิจออนไลน์เติบโตถึง 17% ในปีที่ผ่านมา ประชากรโลกออนไลน์เริ่มเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาหน้าร้าน หลายแห่งอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เช่น สาขาของธนาคารเริ่มมีคนเข้ามาใช้บริการน้อยลง

เมื่อเข้าใจ เทรนด์ก็ต้องเหลียวมา “เช็คสุขภาพธุรกิจ” ความฟิต ความพร้อมต่อการจับเทรนด์ใหม่มาใส่ในธุรกิจ ให้โดนใจและเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคยุคใหม่ให้ได้ ! 

“หลายอย่างเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเจน จนเราเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยไม่รู้ตัว จึงต้องมองเทรนด์ให้เข้าใจ และปรับเปลี่ยนตัวเอง ผู้ประกอบการที่ไม่คิดเปลี่ยนตัวเองอาจจะอยู่ยากขึ้น ในโลกที่คนรอบข้างเปลี่ยนไปไปกันหมด คู่แข่งก็มาแทนที่เรา”

ดร.อารักษ์ ไม่เพียงเล่าถึงเทรนด์ แต่ยังแนะถึงทางออกในการ “รักษาตัวเอง” ให้อยู่รอด และก้าวไปมีชัยบนเวทีเอสเอ็มอี คือ

  1. ต้องสร้างความแตกต่าง หนทางสร้างมูลค่าเพิ่ม หากสินค้าเหมือนกันหมด ก็มีแต่แข่งขันตัดราคา รบในตลาดคอมมูนิตี้ หรือสินค้าทั่วไป กำไรจะถูกเฉือนลงไปเรื่อย เพราะเล่นอยู่ในเกมคนอื่น ไม่สามารถกำหนดราคาได้เองได้
  2. นำเทคโนโลยีมาใส่กับการทำธุรกิจ เช่น การมีคนช่วยขายของออนไลน์ ตัวอย่างชัดเจน ทุกคนคงรู้จักแชทบ็อก โปรแกรมคอยตอบถามคำถามลูกค้าถึงสินค้า 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องจ้างคนนั่งถ่างตา อดหลับอดนอนทั้งคืนเพื่อขายของ หรือเราไม่ต้องอดนอนขายเอง โปรแกรมแชทช่วยขายของให้เราได้ในระหว่างที่เราเข้านอน คนขายก็ตื่นขึ้นมาเห็นคำสั่งซื้อ พร้อมกับเตรียมแพ็คของส่งลูกค้า

นี่คือตัวอย่างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี มาช่วยทำงาน แทนแรงงานคน !

อีกตัวอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจให้โดนใจผู้บริโภคที่ยอมเสียเงินซื้อความสะดวกสบาย เช่น จ้างคนไปซื้อโจ๊ก ราคาร้อยบาท โดยยอมเสียค่าขนส่งถึง 200 บาท นั้นเป็นเทรนด์ที่ธุรกิจต้องเข้าใจการรักความสะดวกสบายของลูกค้ายุคนี้

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการทำระบบหลังบ้าน ตั้งแต่ การวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำบัญชี ตารางเวลา ยังทำให้เอสเอ็มอี มีต้นทุนที่ถูกลงในระยะยาว

ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า เช่น น้ำมะพร้าว โคโค่ อีซี่ (Coco Easy ) มะพร้าวติดฝาดึงเหมือนน้ำอัดลม อัพเกรดความสะดวก และเพิ่มราคาได้ถึงสามสี่เท่า จากลูกละ 25 บาทเพิ่มเป็น ลูกละร้อยบาท

ส่วนเศรษฐกิจผันผวนวิธีการรับมือที่ดีที่สุด สำหรับเอสเอ็มอีคือ “การประกันความเสี่ยง เพราะค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงแค่ 5-10% นั่นหมายถึงกำไรที่เอสเอ็มอีไทยถูกเฉือนไป

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ  ในยุคดิจิทัล ต้องมีหน้าร้านออนไลน์ ที่มีทั้งโซเชียลมิเดีย อี-มาร์เก็ตเพลส และเว็บไซต์ เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าที่ตลาดใหญ่ขึ้นทุกวัน เป็นการลงทุนที่ต้นทุนต่ำในการเข้าถึงลูกค้า

สีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Payments and Disruptive Technology Officer เล่าว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลกำลังคืบคลานมาสู่โลกการซื้อสินค้าออนไลน์ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เริ่มมีระบบการชำระเงิน (E-Payment) ที่หลากหลายให้กับร้านค้าเลือก เช่น การเข้ามาของ อาลีเพย์ และวีแชทเพย์ แอพพลิเคชั่นชำระเงินผ่านมือถือ ที่รุกเข้ามาในไทยพร้อมกับตลาดนักท่องเที่ยวจีนกว่า 10 ล้านคนต่อปี ทำให้ร้านค้าทั่วไปที่ต้องการรับลูกค้าจีน จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับระบบชำระเงินนี้

ระบบการชำระเงินแบบโอนเงินเข้าทันที และกำลังมีบริการรวมบัญชีจากระบบการชำระเงินออนไลน์หลากหลาย ทั้งบัตรเครดิต เดบิต อีมาร์เก็ตเพลส (เว็บไซต์จำหนายสินค้าอย่างเช่น ลาซาด้า หรือ อีเลฟเว่น สตรีท ) รวมถึงการพัฒนาเว็บไซต์จำหน่ายสินค้า ตลอดจน การชำระเงินผ่าน แอพ วีแชท หรือ อาลีเพย์ ทุกสิ่งเหล่านี้กำลังจะถูกพัฒนาให้คนทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ ทำบัญชีได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องนำเงินไปเข้าธนาคารทุกวันแล้วค่อยเบิกถอนไปซื้อสินค้า

สิ่งนี้เป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐที่กำลังขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่มีระบบการชำระเงินมาตรฐานระดับประเทศ (Nation E-payment) เช่น พร้อมเพย์เป็นต้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสวีเดนและกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆตามมา ต่อไปเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดจ่ายค่าบริการต่างๆในชีวิตประจำวัน อาทิ ค่าแท็กซี่ รถมอไซต์รับจ้าง รถไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่เปลี่ยนพฤติกรรมการชำระเงิน และลดต้นทุนการบริหารจัดการการทำธุรกิจในอนาคต

เนชั่นแนล อีเพย์เมนท์ คือการสร้างถนนพร้อมรองรับรูปแบบการจ่ายเงินรูปแบบดิจิทัลในอนาคต ที่ไทยจะมีมาตรฐานการใช้จ่ายเงินในรูปแบบดิจิทัลในประเทศ ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนการจัดการเงินสดลดลงซึ่งประชากรส่วนใช้ยังใช้บัตรและโอนเงินผ่านธนาคาร 50% ซึ่งสัดส่วนเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลง"

-------------------------------------

Key to Success 

สูตรนักรบยุคดิจิทัล

-อ่านเทรนด์ธุรกิจให้ขาดและปรับตัว

-สร้างความแตกต่าง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า

-คิดล้ำๆ นำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อธุรกิจ

-ผสานหน้าร้านออนไลน์ กับระบบการจ่ายเงินดิจิทัล