จี้ ‘เอ็นบีเอ็น-เอ็นจีดีซี’ ลุยธุรกิจสิ้นปี

จี้ ‘เอ็นบีเอ็น-เอ็นจีดีซี’ ลุยธุรกิจสิ้นปี

‘พิเชฐ’ รับลูกครม.ไฟเขียว ‘ทีโอที-แคท’ ตั้ง 2 บริษัทใหม่ดูแลโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ โครงข่ายระหว่างประเทศ ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต เร่ง 2 รัฐวิสาหกิจตรวจสอบทรัพย์สิน จี้ให้แล้วเสร็จต.ค.นี้ เดดไลน์ 2 บริษัทใหม่ต้องพร้อมทำธุรกิจก่อนสิ้นปี 60

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ตั้งบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (เอ็นบีเอ็น) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (เอ็นจีดีซี) ตามที่กระทรวงดีอีเสนอ พร้อมทั้งเห็นชอบให้การสนับสนุนการจัดตั้ง 2 บริษัทใหม่ดังกล่าว จะได้รับโดยการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ คำสั่ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป

ทั้งนี้ ยังรวมถึงการสนับสนุนด้านอื่นๆ เพื่อให้เอ็นบีเอ็นและเอ็นจีดีซี คล่องตัวในการบริหารจัดการแข่งขันกับเอกชนได้ รวมทั้งส่งเสริมให้การดำเนินการทั้ง 2 บริษัทระยะเริ่มต้นดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนให้หน่วยงานภาครัฐที่มีแผนหรือโครงการลงทุนจัดสร้างหรือมีความต้องการใช้งานบริการ ดาต้า เซ็นเตอร์ และคลาวด์มาใช้บริการของเอ็นจีดีซี โดยให้กระทรวงดีอีพิจารณาในการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ลดการลงทุนซ้ำซ้อนและได้ประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐที่ดีขึ้นด้วย

“รัฐบาลเองมีแผนผลักดันหน่วยงานรัฐใช้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ และคลาวด์ของเราเอง ลดลงทุนซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพบริการภาครัฐ หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้จัดตั้งบริษัทเอ็นบีเอ็นและเอ็นจีดีซีเป็นรัฐวิสาหกิจ ช่วยฟื้นฟูกิจการของทีโอที กับกสทฯได้ไปในตัว”

นายพิเชฐ กล่าวว่า ขณะนี้กรรมการผู้จัดการใญ่ของกสทฯ และ ทีโอที รับทราบในแนวทางปฎิบัติขั้นต่อไป ตามกรอบเวลาทั้ง 2 บริษัทต้องทำดิวดิลิเจ้นท์ หรือการตรวจสอบทรัพย์สิน และหนี้สินระหว่างกัน เพื่อมาหาสัดส่วนการถือครองหุ้นในขั้นต่อไป ซึ่งกระบวนนี้ คาดว่า น่าจะใช้เวลาถึงเดือนต.ค.นี้

อย่างไรก็ดี ในส่วนเอ็นบีเอ็นจะมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นโดยทีโอที และกสทฯ ในการจัดตั้งทีโอที จะเป็นผู้ถือหุ้น 100% แล้วจะปรับสัดส่วนการถือหุ้นภายหลังจัดทำการประเมินทรัพย์สินและมูลค่าทางธุรกิจอย่างละเอียด ซึ่งจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในชื่อ “บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด” หรือ เอ็นบีเอ็น ดังกล่าว และชื่อภาษาอังกฤษว่า “National Broadband Network Company Limited” โดยจะมีผู้เริ่มก่อการจัดตั้งจำนวน 3 คน จากทีโอที มีโครงสร้างคณะกรรมการ (บอร์ด) เอ็นบีเอ็น เบื้องต้น ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงดีอี บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม มอบหมาย จากนั้นจะปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นในภายหลัง

สำหรับ “บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (เอ็นจีดีซี)” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Neutral Gateway and Data Center Company Limited” โดยจะมีผู้เริ่มก่อการจัดตั้งจำนวน 3 คน จาก บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการเบื้องต้นมีจำนวน 3 คน จากกระทรวงการคลัง บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที โดยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นโดย บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ในการจัดตั้ง บมจ.กสท โทรคมนาคม จะเป็นผู้ถือหุ้น 100 % และจะปรับสัดส่วนการ ถือหุ้นในภายหลังตามสัดส่วนของสินทรัพย์และเงินลงทุน เช่นเดียวกัน

“ได้กำชับและได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสทฯ เร่งดำเนินการตามขั้นตอนการขอจัดตั้งบริษัททั้งเอ็นบีเอ็นและ เอ็นจีดีซีให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อพร้อมให้บริการแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลฯ จะได้เตรียมแผนการดำเนินการรองรับด้านการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐมาใช้บริการของทั้งสองบริษัทต่อไป” นายพิเชฐ กล่าว

ส่องโครงสร้างทรัพย์สิน2บริษัทใหม่
สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ประกอบกิจการของเอ็นบีเอ็น ได้แก่ สินทรัพย์ประเภทโครงข่ายหลัก ระบบสื่อสัญญาณ จนถึงข่ายสายตอนนอก เคเบิลใยแก้วนำแสง รวมถึงสินทรัพย์ตามโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศ วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยเอ็นบีเอ็น มีรูปแบบธุรกิจเพื่อให้บริการค้าส่งโครงข่ายแก่บริษัทค้าปลีกบรอดแบนด์ (Service Co) ของทีโอที และกสทฯ รวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นบนพื้นฐาน Open Access

สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ คือ ทรัพย์สินที่ถูกใช้งานในกลุ่มธุรกิจเอ็นจีดีซี จะประกอบด้วย สถานีเคเบิลใต้น้ำ ในประเทศและระหว่างประเทศ เคเบิลภาคพื้นดินระหว่างประเทศ รวมทั้งโครงข่ายขนส่งข้อมูลที่มีการขนส่งข้อมูลทั้งข้อมูลระหว่างประเทศและข้อมูลในประเทศ ส่วนทรัพย์สินประเภทที่ดินกำหนดให้เป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้บริษัทแม่ คือ กสทฯ หรือทีโอที

“วางกรอบให้2บริษัทใหม่ที่ตั้งเสร็จก่อนธ.ค.นี้ เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน ปลดล็อคข้อพิพาท สร้างโอกาสหารายได้ใหม่” นายพิเชฐ กล่าว ระบุ