Daily Market Outlook (12 มิ.ย.60)

Daily Market Outlook (12 มิ.ย.60)

จุดสนใจอยู่ที่ประชุม Fed

คาดหุ้นไทยไม่ไปไหนวันนี้ หลังจากหุ้นสหรัฐปิดผสมเมื่อวันศุกร์ และตลาดภูมิภาคเช้านี้เปิดอ่อน โดยที่จุดสนใจตอนนี้ไปอยู่ที่การประชุม Fed ในวันพุธ การให้การต่อรัฐสภาสหรัฐของอดีตหัวหน้า FBI และการเลือกตั้งอังกฤษที่ป่วนตลาดหุ้นโลกสัปดาห์ที่แล้วได้ผ่านพ้นไปแล้ว ตลาดหุ้นโลกดูเหมือนทำใจไปแล้วว่า Fed ขึ้นดอกเบี้ยแน่ในสัปดาห์นี้ แล้วจะขึ้นอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ แต่นักลงทุนเตรียมรับกับถ้อยแถลงว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยมากครั้งกว่านั้น ข่าวในประเทศหลักเป็นบวกวันนี้ เมืองธุรกิจการบินใน EEC จะดูดเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจะช่วยกระตุ้น GDP แม้สภาพัฒน์จะปรับลดเป้าการลงทุนภาครัฐลง 1.8 หมื่นล้านบาทในปีนี้ แต่ยอดก็ยังคงสูงเป็นประวัติการณ์ 5.1 แสนล้านบาท

หุ้นเด่นวันนี้: QH (ราคาปิด 2.58 บาท; NR; ราคาเป้าหมาย IAA consensus ที่ 3.32 บาท)

QH เป็นหุ้นที่เลือกให้ลงทุนวันนี้ จากการเป็นหุ้น Value Stock ที่มีผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง มีสินทรัพย์ซ่อนอยู่ในการลงทุนผ่านบริษัทในเครือ โดย QH มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์รวม 34,000 ล้านบาท (3.16 บาทต่อหุ้น) จากการถือหุ้นใน HMPRO (20%) LHBANK (21%) QHHR (31%) และ QHPF (26%) ในขณะที่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ QH มีมูลค่า 37,000 ล้านบาท(3.45 บาทต่อหุ้น) หักกับภาระหนี้สุทธิ 25,000 ล้านบาท (2.33 บาทต่อหุ้น) ทำให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของ QH อยู่ที่ประมาณ 46,000 ล้านบาท หรือ 4.28 บาทต่อหุ้น QH ตั้งเป้ายอด presales ปี 2560 ราว 11,800 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17% YoYคาดการณ์รายได้ประมาณ 19,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 6% YoYและคาดว่าจะมีการเปิดโครงการใหม่อีก 10 โครงการ มูลค่าประมาณ 11,500 ล้านบาท +28% YoY (33% เป็นบ้านเดี่ยว 67% เป็นทาวน์เฮาส์ และไม่มีคอนโดมิเนียมใหม่) เราคาดว่าผลการดำเนินงานของ QH จะดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีหลังจากผลประกอบการไตรมาส 1/60 ชะลอตัวที่ 653 ล้านบาท, 12% YoYและ -4% QoQเนื่องจากการโอนย้ายที่ช้าในไตรมาส 1/60 ประมาณการคาดการณ์ของ IAA คาดว่า EPS จะเติบโต 11% เป็น 0.32 บาท สำหรับปี 2560 และ 8.6% เป็น 0.35 บาทในปี 2561 ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายกันที่ PER ปี 60 เพียง 8.1 เท่าและ discount 40% จาก NAV และยังมีอัตราเงินปันผลตอบแทน 5.9% ต่อปี Price Pattern ของ QH ยังคงมีความแข็งแกร่งในแนวโน้มหลักที่เป็นขาขึ้น (Uptrend) จากการเกิดทั้ง Daily & Monthly Buy Signal รอเพียงการเกิด Weekly Buy Signal ครั้งใหม่โดยปิดตลาดรายสัปดาห์ให้ได้เหนือ 2.62 บาท QH มีเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่ 2.78 บาท ซึ่งถ้า Break ด้วยการปิดตลาดเหนือ 2.78 บาท จะมีเป้าหมายถัดไปอยู่ที่ 3.02 บาท และมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ 3.26 บาท ตามลำดับ มีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 2.40 บาท (Resistance: 2.60, 2.62, 2.66; Support: 2.56, 2.54, 2.50)

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• คาดมหานครการบินดึงเม็ดเงินลงทุนเข้า EEC การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่าโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่เรียกว่า “มหานครการบิน” ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนที่แผนผัง โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจจะรวมศูนย์กลางอยู่รอบสนามบิน คากว่าจะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนบย์กลางของ EEC กนอ.คาดจะเกิดลงทุน 2 แสนล้าน (Bangkok Post)

• คลังคาดงบคนจนดันจีดีพีโตรมว.คลัง เปิดเผยว่า การที่ต้องเริ่มใช้มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้ผู้มีรายได้น้อย 8 หมื่นล้าน ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เพราะต้องใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินปี 2561 ไม่ถือว่าช้าเกินไปที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และในระหว่างที่รอมาตรการมีผลบังคับใช้ อาจจะมีมาตรการเสริมเล็กๆ ออกมาใช้ก่อน (โพสต์ทูเดย์)

• สภาพัฒน์ปรับคาดการณ์วงเงินลงทุนรัฐลง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทราบถึงการปรับปรุงงบประมาณลงทุนระหว่างปี ซึ่งการปรับวงเงินลงทุนทั้งปีนี้ลดลง 18,209 ล้านบาท เหลือ 507,081 ล้านบาท (โพสต์ทูเดย์)

• KTB (ราคาเป้าหมายปี 60 ของ AWS 22.00 บาท) ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ของ EARTH อย่างไรก็ตาม ธนาคารปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่ามียอดหนี้เท่าไหร่ และไม่ได้บอกว่าหนี้ดังกล่าวมีสัญญาณที่จะเป็นหนี้เสียหรือไม่ นอกจากนี้ ธนาคารกล่าวว่า ถ้าต้องมีการตั้งสำรองจริง ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารมากนัก (Kaohoon) ความเห็น: เราประมาณการว่าสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อเฉลี่ย (credit cost) ที่เพิ่มขึ้นทุก 5bps จะกระทบกำไร 2% อย่างไรก็ตาม เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 60 ของเราไว้ที่ 3.51 หมื่นล้านบาทไว้ก่อน ถึงแม้ราคาเป้าหมายของเรายังมีอัพไซต์จากราคาปัจจุบันอยู่ แต่เราแนะนำนักลงทุนให้ลงทุนในหุ้นธนาคารใหญ่อื่นๆ ที่มีสถานการณ์ NPL ที่มั่นคงกว่า เช่น KBANK (ราคาเป้าหมายปี 60 ของ AWS 217.00)

ต่างประเทศ:

• การประชุม FOMC BOE และ BOJ ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองในสัปดาห์นี้จะเกี่ยวกับมติการประชุมนโยบายของเฟดในวันพุธนี้ (ตามเวลาในสหรัฐ) ซึ่งมีโอกาสเกือบ 100% จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง 25 bps สู่ระดับ 1.00-1.25% แถลงการณ์ของ FOMC ประมาณการทางเศรษฐกิจและประมาณการอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของนางเจเน็ต เยลเลนจะเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิด ในขณะนี้ตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาสราว 50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งสู่ระดับ 1.25-1.50% ในเดือนมิ.ย. เป็นที่คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันพฤหัสและนักวิเคราะห์ในตอนนี้เชื่อว่าผลการเลือกตั้งสุดช็อกของอังกฤษก่อให้เกิดข้อกังขาว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใน 2 ปีหรือไม่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยในวันศุกร์นี้ แต่อาจปรับเพิ่มประมาณการทางเศรษฐกิจและหนุนความคาดหวังว่าการดำเนินการขั้นต่อไปจะเป็นการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว (Reuters)

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์เมื่อวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนรอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดและการประมูลพันธบัตรในสัปดาห์นี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.204% หลังจากแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ที่ 2.228% จากระดับ 2.194% เมื่อวันพฤหัส อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.857% จาก 2.855% เมื่อวันพฤหัส อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีอยู่ที่ระดับ 1.338% เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.322% เมื่อวันพฤหัส (Reuters)

• ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบกับสกุลเงินหลักในตะกร้าเงินเมื่อวันศุกร์ โดยมีแรงหนุนจากค่าเงินปอนด์ที่ร่วงลงอย่างหนัก ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.37% อยู่ที่ระดับ 97.273 หลังจากปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 วันที่ 97.5 ในวันก่อนหน้า เงินยูโรอ่อนค่า 0.14% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ระดับ 1.1196 ดอลลาร์สหรัฐ เงินปอนด์อ่อนค่าลงถึง 2.5% สู่ระดับ 1.2635 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงก่อนหน้าก่อนฟื้นตัวอ่อนค่าลง 1.8% ที่ระดับ 1.2718 ดอลลาร์สหรัฐ (Reuters)

สหรัฐ:

• ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดบวกเมื่อวันพฤหัส เนื่องจากนักลงทุนมองว่าคำให้การของนายโคมีย์ อดีตผู้อำนวยการ FBI ไม่มีข้อมูลใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม ความกังวลของตลาดในเรื่องนี้คือรัฐบาลทรัมป์จะสามารถทำตลาดกลับมาคึกคักโดยดำเนินการปรับลดภาษีและผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าเป็นการยากมากขึ้นสำหรับทรัมป์ที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Reuters)

ยุโรป:

• หุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนมองหาหุ้น Defensive หลังจากผลการเลือกตั้งอังกฤษอาจทำให้อังกฤษต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มหุ้น Defensive หรือกลุ่มที่ไม่ค่อยอิงกับวงจรเศรษฐกิจ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และการแพทย์ ปรับตัวขึ้น ในระหว่างที่ หุ้นสาธารณูปโภคของอังกฤษ เช่น Centrica เป็นหนึ่งในหุ้นที่ปรับตัวมากที่สุดเช่นกัน (Reuters) พรรคของประธานาธิบดี Emmanuel Macron คาดได้คะแนนเสียงท่วมท้น โดยการคาดการณ์มาจากผลการเลือกตั้งในรอบแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จากผลโหวตที่นับไปแล้วกว่า 90% นั้น พรรคของ Macron ได้คะแนนสนับสนุนไปกว่า 31.9% ขณะที่ พรรค Republicans และ Union of Democrats and Independents ได้ไป 18.9% พรรคของ Le Pen ได้คะแนนเสียงไป 13.8% และพรรค Socialists ได้ไป 7.45% การเลือกตั้งรอบที่ 2 จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ (Reuters)

เอเชีย:

• ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นลดลงเกินคาดในเดือนเม.ย. ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจเกี่ยวกับความแข็งแกร่งในการใช้จ่ายของบริษัทเอกชน ยอดสั่งซื้อดังกล่าวลดลง 3.1% MoMซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 1.3% และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนมี.ค. ตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการปรับลดอัตราการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 1/60 ลงอย่างมากเนื่องจากการลดลงของสินค้าคงคลังส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP อยู่ที่ 1.0% YoYซึ่งชะลอตัวมากกว่าที่ประมาณการเบื้องต้นที่ 2.2% (Reuters)

• หุ้นจีนปรับตัวขึ้นวันศุกร์ ดันดัชนีหุ้นบลูชิพเป็นสัปดาห์ที่ดีที่สุดนับแต่ พ.ย. และปิดใกล้จุดสูงสุดรอบ 17 เดือนเพราะตัวเลขด้านการค้า IPO ออกใหม่แผ่วลงและธนาคารกลางมุ่งดำเนินการคลายกังวลเครื่องสภาพคล่อง และยังมีปัจจัยบวกต่อหุ้นจากคาดการณ์ว่า MSCI จะตัดสินใจให้ A share ของจีนเข้าสู่ดัชนีอ้างอิงหลักใน 20 มิ.ย. ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงิน 180 ล้านหยวน (26.48 ดอลลาร์สหรัฐ) เข้าสู่ตลาดระหว่างธนาคาร (interbank) โดยใช้การดำเนินการผ่านตลาดการเงินในสัปดาห์ที่แล้ว (Reuters)

สินค้าโภคภัณฑ์:

• น้ำมันบวกวันศุกร์เพราะการหยุดท่อส่งในไนจีเรีย แต่น้ำมันดิบยังลดลงรายสัปดาห์เกือบ 4% จากความกังวลที่ยืดเยื้อว่าอุปทานโลกล้นเกิน น้ำมันดิบเบรนท์ปิ บวก 29 เซนต์ (+0.6%) ปิดที่ 48.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบสหรัฐล่วงหน้าบวก 19 เซนต์ (+0.4%) ปิดที่ 45.83 ดอลลาร์/บาร์เรล (Reuters)

• ทองคำร่วง 1% วันศุกร์เพราะดอลลาร์แข็ง ทองคำตลาดจรลดลง 0.7% ปิด 1,270.17 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทองคำสหรัฐล่วงหน้าปิดที่ 1,271.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ราคาลดลงเกือบ 1% สำหรับสัปดาห์ เป็นการลดลงหลักเปอร์เซนต์ในรอบห้าสัปดาห์ (Reuters)