ชงบอร์ดรื้อ 'เกณฑ์บีอี' มิ.ย.นี้

ชงบอร์ดรื้อ 'เกณฑ์บีอี' มิ.ย.นี้

ชงบอร์ดรื้อ “เกณฑ์บีอี” มิ.ย.นี้ ก.ล.ต.เชื่อบจ.เบี้ยวหนี้ไร้ผลกระทบเชื่อมั่น เตรียมทำหนังสือชี้แจงสำนักนายกฯกรณีไอเฟค

ก.ล.ต.คาดเสนอเกณฑ์ขายบีอีใหม่ให้บอร์ดพิจารณาสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ยันไม่เพิ่มภาระให้ผู้ออกตั๋ว แต่ต้องชี้แจงข้อมูลให้ครบถ้วน มองปัญหาบจ.ผิดนัดชำระไม่กระทบภาพรวมการลงทุน เผยเตรียมทำหนังสือชี้แจงสำนักนายกฯกรณีข้อร้องเรียนไอเฟค 

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงานก.ล.ต.คาดว่าจะสามารถนำหลักเกณฑ์การออกตั๋วบีอีใหม่ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไข เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการก.ล.ต.ได้ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้  และมองว่าปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นโดยรวมของบริษัทจดทะเบียน

“ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการสรุปการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องเกณฑ์การจำหน่ายตราสารหนี้ และคาดว่าในสิ้นเดือนนี้จะเสนอสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต.เพื่อให้อนุมัตินำมาใช้ได้ โดยการปรับเปลี่ยนเบื้องต้นจะคำนึงถึงความเข้มงวดในการออกตราสารหนี้ ที่จะไม่เป็นอุปสรรคที่มากเกินไปให้กับผู้ระดมทุน”

สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่นั้น ก.ล.ต.จะเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนพิจารณาตัดสินใจเข้าลงทุน และผู้ที่จะนำตราสารมาขายให้กับผู้ลงทุน ต้องพิจารณาว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเหมาะสมกับผู้ลงทุนหรือไม่ และผู้ลงทุนเข้าใจสินค้าเพียงพอหรือยัง

ทั้งนี้ ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกบริษัทในตลาด เกิดขึ้นเฉพาะรายเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล หากพิจารณาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน มีมูลค่าทั้งระบบ 3.7 ล้านล้านบาท มีจำนวนผู้ออกตราสาร 655 ราย มีการผิดนัดชำระ 50 ล้านบาท จากยอดทั้งหมด สัดส่วนไม่ถึง 0.001% ของทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีปัญหาระยะนี้ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นกับบริษัทจดทะเบียน เพราะปัจจุบันจำนวนบริษัทจดทะเบียนมีมากกว่า 500 บริษัท ส่วนที่มีปัญหามีเพียง 4-5 บริษัทเท่านั้น

สำหรับกรณีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ERATH อยู่ระหว่างการสั่งให้บริษัทชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเกิดจากสาเหตุอะไรถึงผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหากพิจารณาฐานะบริษัทถือว่า เป็นบริษัทขนาดใหญ่ควรจะรู้เรื่องการบริหารจัดการสภาพคล่องได้ดี และน่าจะมีการพูดคุยกับสถาบันการเงินวางแผนรับมือสถานการณ์ไว้อยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้บริษัททริส เรทติ้ง ออกมายืนยันว่า บริษัทเอิร์ธยังมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง โดยให้เรทติ้งระดับBBB- ซึ่งถือว่ายังมีความสามารถชำระหนี้ แต่การผิดนัดชำระหนี้ครั้งนี้อาจเกิดจากการขาดสภาพคล่องหรือการจัดสรรเงินไม่ทัน ก.ล.ต.จึงสั่งให้เปิดเผยข้อมูลให้ชัดมากขึ้น

ทั้งนี้ ให้บริษัทชี้แจงต้นเหตุของการขาดสภาพคล่องเกิดจากประเด็นใด เช่น ลูกค้าจ่ายเงินไม่ครบ หรือสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อลดลง ส่วนการขายหุ้นผู้บริหาร เป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องพิจารณาว่าการขายหุ้นมีความผิดปกติหรือไม่ จากนั้นก็ต้องส่งเรื่องมาให้ก.ล.ต.พิจารณา

สำหรับปัญหาบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) IFEC ที่มีการร้องเรียนไปยัง นายกรัฐมนตรีนั้น สำนักงานก.ล.ต.เตรียมทำหนังสือชี้แจง ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ก.ล.ต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนไปแล้ว โดยได้เชิญกรรมการทั้ง 2 ฝ่าย มาประชุมร่วมกัน และต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ กับการที่หุ้นถูกห้ามซื้อขายมานานแล้ว

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ ยังไม่ขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขายหุ้นเอิร์ธเพราะต้องเปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อมูล ซึ่งต้องรอดูคำชี้แจงว่าครบถ้วนหรือไม่ 

ส่วนกรณีการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารก่อนหน้านี้นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ตรวจสอบการซื้อขายเป็นปกติอยู่แล้ว โดยหากพบความผิดปกติก็จะส่งเรื่องให้ ก.ล.ต.ดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามกรณีที่บจ.ผิดนัดชำระบีอีนั้น เชื่อว่าจะไม่มีกระทบกับบริษัทอื่นๆ เพราะเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมามี บจ.ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ทุกบริษัทก็มีการระมัดระวังในเรื่องนี้ และบจ.ได้หันไปกู้เงินกับธนาคารมากขึ้น

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าปัญหาตั๋วบีอีของบริษัทเอิร์ธนั้น บลจ.ไทยพาณิชย์ไม่ได้มีการลงทุนในตั๋วบีอีดังกล่าว ส่วนที่มีชื่อของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ปรากฏในการชี้แจงของบริษัทนั้น เข้าใจว่าบริษัทน่าจะเข้าไปช่วยในการเสนอขายให้กับนักลงทุน อย่างไรก็ตามปัญหาตั๋วบีอีนั้นบริษัทมองว่าจะไม่กระทบกับภาพรวมการเสนอขาย

บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ แจ้งว่า ตั๋วแลกเงิน มูลค่า 70 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ บริษัทยังไม่สามารถชำระได้เช่นกัน การผิดนัดชำระหนี้ อาจเป็นเหตุให้เข้าข่ายเป็นเหตุผิดนัดของหุ้นกู้ที่บริษัท ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2560 และ ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2562 มีมูลค่ารวม 5,500 ล้านบาท และอาจเป็นเหตุให้มีการเรียกชำระหุ้นกู้คืนโดยทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมของผู้ถือหุ้นกู้

บทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่าบริษัทเอิร์ธผิดนัดชำระหนี้ตั๋วและตลาดกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อ NPL ของธนาคารเช่น แบงก์กรุงไทยคือผู้ให้กู้รายใหญ่สุดและประเมินว่ามูลค่าสินเชื่ออาจอยู่ระหว่าง 3-4 พันล้านบาท (0.2% ของสินเชื่อทั้งหมด)