รถรางสายชิล ชมไม้ชมเมืองเชียงใหม่

รถรางสายชิล ชมไม้ชมเมืองเชียงใหม่

การเดินทางช้าๆ ที่ชวนให้คุณปรับมุมมองเชียงใหม่แบบชัดๆ

‘เชียงใหม่’ อาจเป็นหมุดหมายไม่ใหม่ ยิ่งขีดวงเฉพาะแค่ย่านเมืองเก่า ภาพการสาดน้ำสงกรานต์รอบคูเมืองคงยังติดตาใครหลายคน แต่รู้หรือไม่...คูเมืองเชียงใหม่อันเป็นที่ตั้งของแจ่งทั้ง 4 และประตูเมืองทั้ง 5 มีที่มาอย่างไร ทำไมพระยามังรายถึงเลือกชัยภูมินี้ในการสร้างเมือง มาย้อนเวลาตามหาความทรงจำ กับการเดินทางที่สายฮิปไม่ควรพลาด สายอาร์ตจะต้องฟิน สายชิลยังกดไลค์ กับรถราง ‘เขียวชมเมือง by เขียว สวย หอม’ 

.........

รถรางคันยาวจอดขนานฟุตปาธหน้าวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เราเลือกใช้บริการรอบแรกของวัน กำหนดเวลาล้อหมุน 9.30 น. ไกด์สาวประจำรถ เกวลิน ทะสังขา แนะนำการเดินทางช้าๆ แต่ไม่น่าเบื่อของ ‘เขียวชมเมือง’ ว่าเป็นการนำชมเมืองเก่าเชียงใหม่แบบไม่ซ้ำใคร ด้วยเรื่องราวลึกแต่ไม่ลับในแบบฉบับนิเวศประวัติศาสตร์

"เมืองเก่าเชียงใหม่จะมีผังเป็นสี่เหลี่ยมเกือบจตุรัส มีมุมทั้งหมด 4 มุม แต่ละมุมมีชื่อเรียกและประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ส่วนประตูเมืองมีทั้งหมด 5 ประตู แต่ละประตูจะมีความสำคัญและนัยในการใช้งานต่างกันไป" เสียงบรรยายอธิบายภาพเมืองเก่าที่ค่อยๆ เคลื่อนผ่าน 

อิฐเก่า กำแพงหัก คงไม่มีความหมายอะไรหากมันไม่ได้ผ่านกาลเวลามายาวนานหลายร้อยปี ว่ากันว่า เมื่อครั้งพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาหลังเมืองเก่าเวียงกุมกามถูกน้ำท่วม พระองค์ทรงเลือกพื้นที่แห่งนี้ด้วยสิ่งซึ่งเป็นมงคลต่อการสร้างเมือง 7 ประการ ที่เรียกว่า ‘ชัยมงคล 7 ประการ’ ซึ่งปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ 

ครั้งนั้นพระองค์ได้โปรดให้ขุดคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมก่อน โดยมีความยาวด้านละประมาณ 1.63 กิโลเมตร ส่วนความกว้างประมาณกันว่าอาจถึง 25 เมตร จากนั้นนำดินที่ได้จากการขุดคูเมืองนั้นขึ้นไปถมเป็นแนวกำแพงเมือง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือ แจ่งศรีภูมิ อันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านและประตูเมืองอีกทั้งสี่แห่ง เดิมประตูเมืองทำเป็นสองชั้น บานประตูวางเยื้องกัน เพื่อป้องกันข้าศึกเอาปืนใหญ่ยิงกรอกประตูเมือง ปัจจุบันถูกรื้อหมดแล้ว 

แม้จะไม่ได้เห็นของจริงเมื่อแรกสร้าง แต่ก็ยังมีประตูที่ยังหลงเหลือและได้รับการบูรณะไว้อย่างดี เมื่อรถรางผ่านมาถึง ประตูสวนดอก เสียงบรรยายกำกับภาพที่เห็นว่าประตูนี้อยู่ในฝั่งที่เรียกว่าทิศบริวารเมือง 

"ฝั่งนี้เดิมเป็นสวนดอกไม้ รวมถึงเป็นที่พักของเหล่าข้าราชบริพารของพญามังราย ซึ่งบริเวณนี้มีความกว้างใหญ่และมีดอกไม้นานาพรรณทำให้ทุกคนเรียกประตูนี้ตามวนอุทยานเวียงสวนดอกไม้ ก็เลยเป็นประตูสวนดอก และถือว่าเป็นประตูบุญด้วย เพราะประตูนี้เป็นประตูที่เปิดออกไปสู่เส้นทางสายที่เดินขึ้นดอยสุเทพในสมัยก่อน"

ตามเส้นทางเดินรถ เรายังคงลัดเลาะไปตามคูเมืองที่วันนี้แคบลงไปกว่าในอดีตมาก มองลงไปในน้ำที่ชาวบ้านล้านนาเคยได้ใช้ดื่มกิน สีก็ออกไปในโทนเขียนจนถึงคล้ำในบางช่วง 

"สมัยก่อนจะมีการผันน้ำมาจากดอยสุเทพ ผ่านรางลินลงมายังเมืองเชียงใหม่ น้ำนั้นถือว่าเป็นน้ำที่มาจากภูเขา จึงเป็นที่รวมความศรัทธาของชาวเมือง ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าการได้อุปโภคบริโภคจะทำให้มีสุขภาพดี แข็งแรง มีความร่มเย็นเป็นสุขด้วย ซึ่งรางลินจะเชื่อมมาจากน้ำตกห้วยแก้ว ตรงมาเรื่อยๆ จนถึงแจ่งหัวลิน (ลินหมายถึงรางน้ำ)"

ผ่านแจ่งหัวลินมาก็หลายครั้ง เพิ่งจะรู้ความหมายก็วันนี้ แต่ไม่ใช่แค่ตัวโบราณสถานเท่านั้นที่น่าสนใจ ใกล้ๆ กันยังมีต้นไม้ใหญ่ชูช่อโดดเด่น ถือเป็นต้นไม้โบราณที่อยู่บริเวณนี้มาเนิ่นนาน นั่นก็คือ 'ต้นลาน' วันนี้ต้นลานออกดอกสะพรั่ง เป็นสัญญานว่าหลังจากนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นมันอีก เพราะตามวัฏจักรชีวิตเมื่อลานออกดอกออกผล ต้นแม่ก็จะตายไปในที่สุด 

“ในสมัยโบราณ ต้นลานถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเวลาจะจดบันทึกข้อความสำคัญอะไรก็ตาม เขาจะใช้ใบลานในการจดบันทึก” ไกด์สาวกล่าว ก่อนจะให้ข้อมูลต่อว่าโครงการเขียว สวย หอม ซึ่งทำงานด้านการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวของเมืองจะพยายามนำต้นไม้สำคัญมาปลูกทดแทนเพื่อสืบสานตำนานเมือง พร้อมๆ ไปกับการให้ร่มเงาบรรเทามลพิษในอากาศ

แดดสายแม้จะเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นบ้าง แต่ต้นไม้ที่ปลูกเรียงรายไว้สองข้างทางก็ช่วยเติมความร่มรื่นได้เป็นอย่างดี เราผ่านด้านหน้าของ วัดโลกโมฬี วัดเก่าแก่อีกวัดของเมืองเชียงใหม่ ฟังเรื่องเล่าของพระนางจิรประภาเทวี พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า ผู้ซึ่งได้ขึ้นดำรงพระยศเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนาสืบต่อจากพระราชสวามี 

"ยุคนั้นทางอยุธยาจะยกทัพขึ้นมาเพื่อรวมเชียงใหม่ไว้เป็นอาณาจักรเดียวกัน พระนางจึงคิดว่าถ้ามีการสู้รบ โอกาสที่จะชนะมี แต่การเสียเลือดเสียเนื้อของผู้คนถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ พระนางจึงใช้วิธีการเจรจาทำสัญญาสงบศึกกันที่วัดโลกโมฬีแห่งนี้ ภายในวัดจึงมีรูปปั้นพระนางไว้ให้คนรุ่นหลังได้สักการะด้วย"

เพราะความช้า...ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองได้ถนัดตายิ่งขึ้น ร้านรวงสองข้างทางมากมายพอๆ กับวัดวาอารามซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา ไม่นานรถรางก็มาถึงประตูเมืองสำคัญอีกแห่ง นั่นคือ ประตูช้างเผือก 

"ประตูนี้อยู่ทางทิศเหนือของเมือง ถือว่าเป็นประตูชัย เพราะตั้งอยู่ในทิศที่เรียกว่าเป็นเดชของเมือง กษัตริย์ที่จะขึ้นปกครองล้านนาต้องทำพิธีสถาปนาและเคลื่อนผ่านประตูนี้ ในปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยว่า ถ้าใครจะมาเป็นผู้ว่าเมืองเชียงใหม่ ท่านก็จะเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการมาผ่านประตูนี้ก่อนเข้ามาทำงาน ถือว่าเป็นประตูที่สำคัญ เวลารบทัพจับศึก กษัตริย์ก็จะมาเคลื่อนทัพผ่านประตูนี้เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยเหมือนกัน"

ถัดจากประตูช้างเผือกขึ้นไปเราได้รับการบอกเล่าว่าเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ สถาปัตยกรรมวัดวาอารามจะมีลักษณะคล้ายศิลปะพม่าบ้างไทใหญ่บ้าง เนื่องจากในอดีตเวลาที่มีการสู้รบจะมีการเกณฑ์ผู้คนมาเป็นแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะพักอยู่บริเวณนี้ แต่ปัจจุบันความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของเมืองเชียงใหม่ คงต้องรวมถึงฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เข้าไปด้วย แถมยังกระจายตัวไปทั่วเมืองอีกต่างหาก เรื่องนี้ไกด์ไม่ขอเมาธ์ แต่เอาเป็นว่า “หลังไมค์่ค่อยยาวๆ ไปดีกว่านะคะ”

ถ่ายรูปมุมนั้นมุมนี้เพลินๆ ไม่นานเราก็มาถึง แจ่งศรีภูมิ ศูนย์รวมจิตใจของคนล้านนา "ตรงนี้เป็นจุดแรกที่พญามังรายให้คนมาลงจอบขุด โดยเริ่มขุดจากคูเมืองก่อน ก่อนที่จะสร้างกำแพงเมือง เพราะฉะนั้นจอบแรกถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดี อยู่ในทิศทางที่ดี ทำให้เมืองเจริญรุ่งเรือง ปัจจุบันเวลาเราประกอบพิธีสืบชะตาเมือง หรืออะไรก็ตาม ก็จะจัดพิธีที่แจ่งนี้เป็นหลัก"

ด้วยอายุอานามที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายร้อยปี ทุกวันนี้อิฐมีการเคลื่อนตัวค่อนข้างมาก ไกด์ของเราจึงฝากคำเตือนมาว่า "อย่าขึ้นไปเหยียบหรือเดินบนกำแพง จะได้เก็บไว้เป็นเรื่องเล่าถึงความยิ่งใหญ่ในการรวมพลังของชาวล้านนาที่มาสร้างบ้านแปงเมืองในอดีต"

ทว่า ไม่ใช่แค่อิฐเก่าๆ เท่านั้นที่เล่าความหลังได้ ไม้ใหญ่ที่เติบโตร่วมกับเมืองเชียงใหม่มาตราบเท่าอายุขัยของมัน ก็ไม่ต่างจากบทบันทึกที่แตกหน่อต่อยอดไปตามกาลเวลา ...ทุกต้นมีความหมาย ทุกความหมายล้วนมีคุณค่า

"มองเข้าไปด้านในเราจะเห็นศาลหลักเมือง และต้นไม้บริเวณรอบๆ ที่เขาพยายามอนุรักษ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็น ต้นโพธิ์ ต้นสัก หรือต้นอื่นๆ เป็นการบอกเล่าถึงหลักความเชื่อในสมัยก่อน อย่างการปลูกต้นโพธิ์และต้นสักก็หมายถึงมีศักดิ์มีศรี เพราะต้นโพธิ์ ก็คือต้นสะหลีของคนล้านนานั่นเอง"

ผ่านพ้นจากกำแพงโบราณ เราก็มาฟังเรื่องย่านเก่ากันต่อ หลายคนอาจคุ้นหูกับโจ๊กเจ้าดังย่านนี้ แต่รู้หรือไม่ว่า ตลาดสมเพชร สมัยก่อนเขาเรียกว่า ‘ตลาดคุณนาย’ เพราะโดยทั่วไปชาวบ้านจะมาตลาดกันตั้งแต่ตี 4 ตี5 ซื้อหาข้าวของไปทำกับข้าว แต่ตลาดแห่งนี้ลูกค้าจะมาตอน 6-7 โมงเช้า ด้วยความที่บ้านอยู่ใกล้และค่อนข้างมีสตางค์ ไม่ต้องตื่นไปทำไร่ทำนา เลยถูกค่อนขอดว่าเป็นตลาดคุณนาย 

เสียดายที่ไม่ได้แวะ แต่ไม่ต้องเสียใจ เพราะถ้าใครอยากกลับไปเก็บรายละเอียดที่จุดไหนก็ค่อยกลับมาละเลียดชมกันใหม่ได้ ทริปนี้รถรางจอดให้เราได้เปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งชิลมาเป็นเดินชมกันที่ วัดเชียงมั่น วัดแรกในเมืองเชียงใหม่ที่พญามังรายสถาปนาขี้น

เราเข้าไปกราบสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด คือพระแก้วขาว และพระศิลา อายุเก่าแก่มากกว่า 1,000 ปี ไกด์คนเดิมบอกว่า คนล้านนาเวลามาบูชาพระพุทธรูปจะไม่จุดธูป แต่จะจุดเทียนที่ ‘สัตตภัณฑ์’ (คำในภาษาล้านนา หมายถึงเชิงเทียนที่ใช้ในการบูชาพระประธาน) มีลักษณะเป็นที่สำหรับปักเทียน 7 ที่ลดหลั่นกันไป 

จากวิหารหลวง เดินอ้อมไปทางด้านหลังจะเป็นที่ประดิษฐานของ เจดีย์ช้างล้อม สร้างครอบที่บรรทมของพญามังรายเมื่อครั้งมาตั้งค่ายเตรียมสร้างบ้านแปงเมืองไว้ รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานศิลปะล้านนากับสุโขทัยเข้าด้วยกัน แต่นอกเหนือจากความขรึมขลังขององค์เจดีย์แล้ว ไกด์ชวนให้เดินต่อไปอีกนิดเพื่อไปพินิจ ‘กอไผ่’ ซึ่งเชื่อกันว่าปลูกและเติบโตรุ่นต่อรุ่นมาตั้งแต่สมัยแรกสร้างเมืองเชียงใหม่ รวมถึงต้นผักเฮือด ผักพื้นบ้านของคนเหนือที่แผ่กิ่งก้านอยู่ตรงนี้มานานเช่นกัน

อีกอาคารที่คนเชียงใหม่ภูมิใจเสนอก็คือ ศาลากลางน้ำ ศาลาสำหรับเก็บเอกสารสำคัญและพระคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งในสมัยก่อนมักจะเขียนลงบนใบลาน คนยุคนั้นจึงใช้วิธีการง่ายๆ แต่ได้ผลในการป้องกันมดแมลงต่างๆ โดยการสร้างอาคารไว้กลางน้ำ

“ทีนี้เขาก็คิดต่อว่าถ้าทำศาลาไว้กลางน้ำ แล้วทำสะพานเชื่อมเข้าไป มดแมลงก็เข้าไปได้อยู่ดี ก็เลยทำเป็นสะพานที่ชักเก็บได้”

เราไม่ได้รับอนุญาตให้ทดลองใช้สะพานเดินข้ามไปยังศาลา แต่ได้รับการชี้ชวนให้ไปดูต้นลั่นทมอีกมุมหนึ่งของวัดแทน

"ต้นลั่นทมนี้ไม่มีใครตอบได้แน่ชัดว่าอายุเท่าไหร่ แต่คุณลุงที่ดูแลอยู่อายุ 80 กว่าปี แกบอกว่าตั้งแต่จำความได้ก็เห็นแล้ว เลยประมาณว่าน่าจะมีอายุมากกว่า 90 ปี ถือเป็นต้นไม้ที่มีรูปทรงสวย ได้รางวัลต้นไม้สวยงามของนครเชียงใหม่ด้วย ซึ่งนอกจากสวยงามแล้วยังเป็นต้นไม้ที่ให้ความรู้ ทำให้ชุมชนและเขียวสวยหอมได้ทำงานร่วมกัน  โดยมีทีมหมอต้นไม้เข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นนี้ยังคงความสวยงามแข็งแรง" 

มากกว่าวัดวาอารามโบราณสถาน คือสายใยที่เชื่อมร้อยผู้คน ย่าน แม้กระทั่งต้นไม้ใหญ่ เรื่องเล่าแบบนี้อาจตกหล่นไปจากเรื่องราวที่หลายคนได้รับรู้เกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ แต่ได้รับการเติมเต็มและสร้างความประทับใจได้อย่างมากมายจากการเดินทางด้วยรถรางสายนี้

จากวัดเชียงมั่นรถรางคันเดิมอำลาลูกทัวร์ด้วยสถานที่สำคัญอีกแห่ง นั่นคือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ สถานที่ระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพญามังราย และพระสหายคือ พ่อขุนรามคำแหง และพ่อขุนงำเมือง ผู้ลงหลักปักฐานสร้างบ้านแปงเมืองจนกลายเป็น ‘เชียงใหม่’ ที่ใครๆ ก็ยกให้เป็นหมุดหมายในใจ 

สำหรับเรา...แม้ครั้งนี้จะเชียงใหม่รอบที่เท่าไหร่ไม่รู้ แต่การชมเมืองแบบช้าๆ ชัดๆ ก็ทำให้เชียงใหม่ไม่ใช่แค่เมืองน่ารัก แต่เป็นเมืองต้อง‘รักษ์’ไว้ให้ดี

++++++++

TIP ทัวร์รถราง

เครือข่ายเขียงใหม่ เขียว สวย หอม ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดบริการนำเที่ยวด้วยรถรางเขียวชมเมือง เขตเมืองเก่า และรอบเมืองเชียงใหม่ สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องราวและเรื่องเล่าของเมืองที่ร้อยเรียงประวัติศาสตร์เข้ากับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ผ่านมรดกทางสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม รวมถึงต้นใหญ่ใหญ่ในบริบทของนิเวศวัฒนธรรม ด้วยรถรางขนาด 25 และ 35 ที่นั่ง 

จอดรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ที่หน้าวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ให้บริการทุกวัน (รอบทั่วไป) 4 รอบต่อวัน คือ รอบเช้า 9.30 - 10.30 น. และ 11.00- 12.00 น. รอบบ่าย 13.30 - 14.30 น. และรอบเย็น 18.00 -19.00 น. (ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง) โดยรถจะแล่นผ่าน 4 แจ่ง 5 ประตู และแวะสถานที่สำคัญ 1 แห่ง (วัดโลกโมฬี, วัดเชียงมั่น, คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ -ที่ใดที่หนึ่งตามความเหมาะสม) 

อัตราค่าบริการ ผู้ใหญ่ ราคา 50 บาท / เด็ก นักเรียน นักศึกษา ราคา 30 บาท สำหรับรอบเย็นเส้นทางเดินรถจะแตกต่างไปเล็กน้อย แต่จุดชมยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือบรรยากาศยามค่ำที่วัดและร้านอาหารเริ่มเปิดไฟ

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาในลึกซึ้งยิ่งขึ้น สามารถใช้บริการเส้นทางรอบพิเศษ ช่วงเวลา 9.30-11.30 น. ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง-2 ชั่วโมงครึ่ง แวะสถานที่สำคัญ 2 แห่ง และกิจกรรม 1 กิจกรรม พร้อมอาหารว่าง อัตราค่าบริการผู้ใหญ่ ราคา 200 บาท / เด็ก นักเรียน นักศึกษา ราคา 100 บาท 

กิจกรรมสำหรับเส้นทางรอบพิเศษมี 3 ตัวเลือกคือ

1. การตัดตุงไส้หมู เป็นศิลปะในการตัดกระดาษของชาวล้านนา ซึ่งมักจะตัดกระดาษเพื่อทำเป็นตุง นำไปเสียบไว้ที่เจดีย์ทราย

2. การทำสวยดอย หรือกรวยดอกไม้ สมัยก่อนทำมาจากใบไม้ที่มีชื่อมงคล เช่น ใบโชค แต่ปัจจุบันจะเป็นใบตอง เนื่องจากหาได้ง่ายกว่า

3. การทำพวงกุญแจที่วัดศรีสุพรรณ วัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งของอุโบสถเงินแห่งแรกของโลก มีการสืบสานภูมิปัญหาการบุเงินโดยพ่อครูแม่ครู ซึ่งท่านจะมาสอนนักท่องเที่ยวบุเงินแล้วนำไปทำเป็นพวงกุญแจกลับไปเป็นของที่ระลึก

สนใจเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ ชมเมืองเชียงใหม่แบบช้าๆ ติดต่อสอบถามหรือสำรองที่นั่งได้ที่ โทร 095-129-8448 หรือที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ ‘เขียวชมเมือง by เขียว สวย หอม’