ฆ่าหั่นศพ!วิธีทำลายหลักฐานที่ทิ้งหลักฐาน

ฆ่าหั่นศพ!วิธีทำลายหลักฐานที่ทิ้งหลักฐาน

ฆ่าหั่นศพ วิธีทำลายหลักฐานที่ทิ้งหลักฐาน

คดีฆ่าหั่นศพ “น้องแอ๋ม” ที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ทำให้หลายคนนึกย้อนไปถึงคดีฆ่าหั่นศพสะเทือนประเทศ 2 คดี ซึ่งเกิดขึ้นในห้วง 20 ปีที่ผ่านมา และผู้ต้องหาเป็นคนในแวดวงการแพทย์ หนึ่งคือคดี “หมอเสริม” หรือ นายเสริม สาครราษฎร์ กับอีกคดี “หมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ” 

นี่คือ 2 คดีดังฆ่าหั่นศพสะเทือนขวัญในตำนาน “ล่าความจริง” ได้มีโอกาสพูดคุยกับหมอด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทร่วมคลี่คลายคดีดังในอดีตทั้ง 2 คดี เราพูดคุยกับ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม 

หมอพรทิพย์ บอกว่า ทั้งสองคดีนี้มีความคล้ายกันอยู่ คือคดีหมอเสริมกับหมอวิสุทธิ์ ใช้วิธีทำลายหลักฐานตามวิธีคิดของเขา ด้วยการทำอย่างไรก็ได้ให้หลักฐานหลงเหลืออยู่น้อยที่สุด โดยใช้ความรู้และความชำนาญจากอาชีพและสิ่งที่ร่ำเรียนมา แต่หมอพรทิพย์บอกว่า การใช้วิธีฆ่าหั่นศพ เป็นวิธีการทำลายหลักฐานที่ทิ้งหลักฐานไว้เยอะที่สุด 

ส่วนแรงจูงใจในการฆ่าหั่นศพ หลายคนสงสัยว่าฆาตกรที่เลือกใช้วิธีนี้ คิดอะไรอยู่ เพราะวิธีการอำพรางศพมีมากมายหลายวิธี ไปฟังคำตอบจากหมอพรทิพย์ 

หมอพรทิพย์ยังบอกอีกว่า วิธีการทำลายศพ บางกรณีมีการวางแผนเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้า เคสแบบนี้ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญอยู่ก่อน เช่น คดีฆ่าหั่นศพในตำนาน ที่ฆาตกรเป็นหมอ หรือเป็นอาชญากรข้ามชาติที่มีความชำนาญการใช้มีด 

แต่ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป ทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิดมีอายุน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะการเข้าถึงสื่อทำได้ง่ายขึ้น ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันสื่อและเปิดรับความรุนแรงบ่อยครั้งจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในที่สุด ตัวอย่างคือคดีล่าสุด “ฆ่าหั่นศพน้องแอ๋ม” ที่ผู้กระทำความผิดจำเป็นต้องเลือกวิธีหั่นอำพรางศพ เพราะเหตุการณ์เฉพาะหน้าบีบบังคับให้ต้องทำ 

คุณหมอพรทิพย์ ยังฝากถึงผู้ที่สนใจและติดตามข่าวคดีนี้ว่าอย่ามุ่งไปที่ประเด็นฆาตกรเป็นใคร หรือมีผู้ร่วมก่อเหตุกี่คนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทุกคนควรตระหนักเพื่อเป็นอุทาหรณ์มีมากกว่านั้น ไปฟังเสียงคุณหมอกัน 

คำกล่าวทิ้งท้ายของคุณหมอที่บอกว่า “กระบวนการยุติธรรมต้องทำหน้าที่” ทำให้คิดไปถึงคำพูดของพี่สาวของเปรี้ยว ที่กล่าวฝากไปถึงน้องสาวให้รีบเข้ามอบตัว ไม่ต้องไปสนใจกระแส เพราะโทษประหารชีวิตไม่มีจริง คล้ายๆ จะบอกว่าทำผิดอะไรมา ติดคุกไม่กี่ปีก็ออกแล้ว แต่ถ้าหนีต้องหนีตลอดชีวิต 

คำพูดลักษณะนี้ คนในองค์กยุติธรรมยอมรับว่ากระทบต่อภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมไทย เพราะดูเหมือนไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ จากการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษที่ไม่เด็ดขาดมากพอ ทำให้หลายๆ กรณี คนที่กระทำผิดอุกฉกรรจ์ ติดคุกไม่กี่ปีก็ได้ออกมาใช้ชีวิตปกติแล้ว