คาดเงินธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนสะพัด4.37หมื่นลบ.

คาดเงินธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนสะพัด4.37หมื่นลบ.

"กกพ." คาดธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนปีนี้มีเม็ดเงินสะพัดราว 4.37 หมื่นล้านบาท จากนโยบายเปิดรับซื้อรวม 874 เมกะวัตต์ เชื่อ 1-2 ปีนี้ไร้โครงการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ประเมินว่าโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปี 2560 จะอยู่ที่ 874 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าลงทุนราว 4.37 หมื่นล้านบาท ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะรับซื้อได้ราว 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนภาคพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะที่ 2 กำหนดรับซื้อไฟฟ้ารวม 219 เมกะวัตต์ เนื่องจากโควตาในส่วนของหน่วยงานราชการ สามารถรับซื้อไฟฟ้าได้เพียง 100 เมกะวัตต์ จากโควตา 400 เมกะวัตต์

สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนปีนี้ รวม 874 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 1.โครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ฯ 219 เมกะวัตต์ 2.โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน(ไฮบริด)แบบสัญญาเสถียร(เฟิร์ม)สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(เอสพีพี) หรือ เอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม 300 เมกะวัตต์

3.โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนไฮบริดแบบสัญญาผลิตไฟฟ้าเสถียรชั่วคราว(เซมิ-เฟิร์ม) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก(วีเอสพีพี) หรือ เอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม 269 เมกะวัตต์ 4.โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ(ไบโอแก๊ส)ในพื้นที่ 3 จังหวัด ภาคใต้ 8 เมกะวัตต์ และ 5.โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน 78 เมกะวัตต์

นายวีระพล คาดการณ์ว่า หลังจากปิดโครงการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ฯ ระยะที่ 2 แล้ว ในช่วง 1-2 ปีจากนี้คงไม่เห็นการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มอีก เนื่องจากที่ผ่านสามารถรับซื้อไฟฟ้าได้แล้วราว 3,200 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี2558-257(เออีดีพี 2015)กำหนดรับซื้อ 6,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 รวมถึงเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพัฒนารวดเร็วทำให้ผู้ประกอบการหันไปผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเองใช้เอง (IPS) ที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม IPS มีการผลิตไฟฟ้าแล้ว 83 เมกะวัตต์