ยังดีกว่าได้อีก คิดแบบ ‘PeakEngine’

ยังดีกว่าได้อีก  คิดแบบ ‘PeakEngine’

ที่ผมมองว่าสตาร์ทอัพเจ๋ง น่าประทับใจจนทำให้อยากเข้ามาอยู่ในวงการนี้ เพราะมีรุ่นพี่วาเซดะซึ่งอยู่ในวงการมาก่อนมาชวนผมไปงานที่ชื่อว่าขุนศึกซามูไร ซึ่งเอาทีมสตาร์ทอัพไทยกับญี่ปุ่นมาเจอกัน

งานนั้นผมได้เจอทั้งพี่ป้อม ภาวุธ พี่โบ๊ท ไผท พี่หมู อุ๊คบี และทำให้รู้สึกว่าวงการสตาร์ทอัพช่วยเหลือกันดี ทุกคนโอเพ่น คุยกันได้


“ภีม เพชรเกตุ” ผู้ก่อตั้ง โปรแกรมบัญชี PeakEngine (พีคเอนจิ้น) เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลสำคัญที่ทำให้เขาเลือกเดินบนเส้นทางสายสตาร์ทอัพ ประกอบกับตัวเขาเองก็ชื่นชอบในเรื่องของเทคโนโลยีและอยากทำธุรกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว


และเป็นเพราะรู้ตัวดีตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นนักธุรกิจ และก็รู้ด้วยว่าบัญชีถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของทุกธุรกิจ ซึ่งแม้ว่าเวลานั้นเพื่อนๆกว่าครึ่งห้องที่โรงเรียนบดินทรเดชาเลือกสอบเข้าคณะวิศวะฯ แต่ภีมก็ตัดสินใจเลือกเรียนบัญชีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถมยังคว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งอีกด้วย


เมื่อเรียนจบเขาเริ่มต้นชีวิตทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ไม่นานก็สอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ไปเรียนต่อเอ็มบีเอด้านผู้ประกอบการที่วิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น และเมื่อเรียนจบก็กลับมาเปิดสำนักงานบัญชีของตัวเอง


"สมัยที่เรียนอยู่ที่ญี่ปุ่นเกิดเหตุแผ่นดินไหว โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ผมเลยเบรคการเรียนกลับมาไทยช่วงหนึ่ง และก็มีรุ่นพี่ที่เปิดสำนักงานบัญชีมาชวนให้ไปทำงานกับเขา เลยทำให้ผมได้เห็นว่าการทำงานในสำนักงานบัญชีก็สนุกดี ทำให้เราได้รู้จักหลายๆธุรกิจ ได้เปิดมุมมองให้กว้างขึ้นอีก"


อย่างไรก็ดี ภายในระยะเวลาหนึ่งปีที่ทำสำนักงานบัญชีเอง เขาบอกว่ากลับได้พบเจอปัญหามากมายหลายอย่างๆ ซึ่งที่ทำให้กวนใจมากที่สุดก็คือเรื่องของกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน คือพอลูกค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่งเอกสารมาให้ก็ต้องนำเอาข้อมูลคีย์เข้าโปรแกรมบัญชีกันใหม่อีกรอบ


"อีกเรื่องที่พบก็คือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้เอาพวกข้อมูลบัญชีไปใช้ประโยชน์ เพราะมันอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่มันมีความสำคัญที่จะส่งผลให้ธุรกิจถึงขั้นเจ๊งได้เลย ผมเลยอยากให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำมากขึ้น โดยจะวิเคราะห์งบแสดงเป็นกราฟ เป็นชาร์ต เพื่อแสดงให้เห็นว่าธุรกิจเขาเวลานี้ดีไม่ดีอย่างไร"


พอปิ๊งไอเดียดังกล่าว เขาก็เอาไปนำเสนอและได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ “ทรู อินคิวบ์” เมื่อปี 2557 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าวงการสตาร์ทอัพ ภีมบอกว่าทำให้เขาได้เจอเมนทอร์ทั้งคนไทยและต่างชาติ และสุดท้ายทีมของเขาก็เป็นตัวแทนของโครงการนี้ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ซิลิคอนวัลเล่ย์


ถามว่าการเข้าโครงการบ่มเพาะต่างๆ ถือเป็นขั้นตอนที่ถูกต้องของสตาร์ทอัพหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่มีสูตรสำเร็จ ซึ่งโดยปกตินั้นคนเราจะเรียนรู้จากการกระทำและปรับตัวไปตามธรรมชาติ แต่การได้เข้าโครงการบ่มเพาะอย่างเช่นทรู อินคิวบ์ หรือแอคเซอเลอเรทต่างๆ จะทำให้ได้เรียนรู้จาก Mentor ที่มีประสบการณ์ที่ได้อาบน้ำร้อนมาก่อน


“ผมว่าเมนทอร์ สำคัญมาก เพราะเมื่อเราได้เรียนรู้จากเขา เราก็จะได้ไม่ทำอะไรที่ผิดพลาดเหมือนที่เขาเคยทำผิดมาก่อน เพราะการทำธุรกิจมีเรื่องที่เราไม่รู้อยู่หลายเรื่อง ว่ามันคืออะไร และต้องทำอย่างไร”


ทั้งยอมรับว่า PeakEngine แตกต่างไปจากจุดเริ่มต้น เพราะได้ปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ อย่างที่เกริ่นว่าในช่วงแรกๆ ภีมต้องการทำแพลตฟอร์มที่ช่วยผู้ประกอบการในเรื่องของการวิเคราะห์เช็คปัญหาเรื่องสุขภาพการเงิน แต่ในความเป็นจริงก็คือ ระบบบัญชีเวลานั้นยังไม่ออนไลน์ ทำให้ไม่มีข้อมูลหรือดาต้ามาให้ช่วยวิเคราะห์


"เลยเปลี่ยนมาเป็นระบบอะไรที่เบสิคกว่า เป็นโปรแกรมบัญชี เพราะตอนนั้นมองว่ามีคนทำโปรแกรมบัญชีออนไลน์มีน้อย และการดีไซน์ยังไม่สวยงาม แม้ในตลาดจะมีโปรแกรมจากต่างประเทศอย่างเช่น ควิกบุ๊คหรือ ซีโร่ ก็ตามแต่มันก็ยังไม่ค่อยเหมาะกับระบบในไทย ทั้งในเรื่องการหัก ณ ที่จ่าย เรื่องของภาษี ระบบมันไม่เหมือนกัน และรูปแบบวิธีปฏิบัติการทำงบก็ต่างกัน ่ซึ่งเราจะออกแบบให้เหมาะกับบ้านเรามากกว่า"


โปรแกรมบัญชีถือเป็นตลาดใหญ่ ภีมบอกว่าถ้าจะแจ้งเกิดได้ทางเดียวก็คือต้องพยายามสร้างความแตกต่าง ต้องมองว่าของที่มีอยู่เดิมยังไม่ดีพอ ต้องเชื่อว่าเราสามารถทำได้ดีกว่า และเมื่อทำแล้วก็ต้องทำให้ดีกว่าได้จริง รวมถึงต้องสื่อสารออกให้ผู้คนรับรู้ด้วยว่าเราทำดีกว่าอย่างไร


ปัจจุบันสโลแกนของ PeakEngine ก็คือ ช่วยให้ธุรกิจคุณ…ง่ายขึ้น เพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี โปรแกรมบัญชีนี้จึงถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ช่วยลดเวลาการทำบัญชี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเตรียมเอกสาร การบริหารเงินสด การติดตามลูกหนี้ การจัดการสต็อก การบริหารลูกค้า การบริหารเช็ค ทั้งทำรายงานและเก็บไฟล์บันทึกบนโปรแกรมเพื่อไม่ลืมว่าเป็นรายการอะไร และมีความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการเข้ารหัสระดับเดียวกับธนาคาร จนได้รับความไว้วางใจให้ดูแลบัญชีลูกค้าธุรกิจกว่า 1 พันราย


"เป้าหมายภายในปีนี้เราอยากจะทำให้โปรดักส์มีความสมบูรณ์แบบในระดับหนึ่ง จริงๆต้องบอกว่าโปรดักส์ที่เป็นซอฟท์แวร์มันไม่มีวันเสร็จอยู่แล้ว ต้องพัฒนาอยู่เรื่อยๆ แต่เรามีขีดเส้นไว้ว่าจะต้องได้ฟีเจอร์อะไรบ้างเพื่อให้มันครบถ้วน ได้ตามมาตรฐานของโปรแกรมบัญชี เราจะต้องมีโมดูลต่างๆที่มันจำเป็นต้องมีให้ครบ ซึ่งที่ยังขาดคือ ระบบสินทรัพย์ ระบบภาษี รวมถึงเราจะพยายามหาพันธมิตรที่เป็นสำนักงานบัญชี เข้ามาช่วยกระจายโปรดักส์เราไปให้ลูกค้าของเขา"


แน่นอนว่าอีกเป้าหมายหนึ่งที่หนีไม่พ้นก็คือ การขยายฐานลูกค้า ซึ่งเขากำหนดในใจไว้ว่าจะต้องเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 3-5 พันราย


ถามว่า ถ้าเปรียบเป็นบันไดสิบขั้น เวลานี้ PeakEngine ก้าวถึงที่ขั้นที่เท่าไหร่? ภีมตอบว่าคงเป็นขั้นแรกหรือมากเต็มที่ก็แค่ขั้นที่สองเท่านั้น เพราะตามแผนงานแล้วเขามองว่าเป้าหมายที่ต้องการยังอยู่ห่างไกลมาก แล้วเปรียบมวยกับใครที่อยู่ในตลาด? คำตอบก็คือ “เอ็กซ์เพรส” ซึ่งโปรแกรมบัญชีอันดับหนึ่งของโลกที่นักบัญชีทุกคนก็ต้องรู้จัก ซึ่งถือเป็นรุ่นพี่ที่ดี แต่ในฐานะรุ่นน้องก็ควรต้องทำอะไรให้ดียิ่งขึ้นได้อีก


"ผมเป็นคนที่ชอบเรื่องการเงิน สิ่งที่พยายามจะสร้างขึ้นต่อจากซอฟท์แวร์ที่ออโตเมท ช่วยลดเวลาการทำบัญชีแล้ว ก็คือเรื่องเครดิตสกอร์ ให้รู้ว่ากิจการมีความเสี่ยงขนาดไหน มีฐ านะการเงินดีหรือไม่ โดยนำเอาดาต้ามาวิเคราะห์และแนะนำว่าผู้ประกอบการควรต้องปรับตรงไหน หรือถ้าเห็นว่ามีโปรดักส์ทางการเงินอะไรที่เจ๋งๆ เหมาะกับธุรกิจของลูกค้า เราก็จะช่วยนำเสนอให้ ทั้งหมดนี้คงใช้เวลาอีกสักพักถึงจะทำได้ เพราะต้องใช้ดาต้าเยอะ ทั้งยังต้องคอนเน็คกับธนาคาร สถาบันการเงินด้วย"



จังหวะช้า-เร็ว ระดมทุน


ภีมบอกว่า PeakEngine กำลังอยู่ในช่วงของการระดมทุน ซึ่งก่อนหน้านั้นทำในรอบของซีดราวน์ไปแล้ว ดังนั้นในรอบใหม่นี้ก็น่าจะเป็นระดับซีรีส์เอ


"ผมมองนักลงทุนที่เป็นองค์กรหรือ ซีวีซีมากกว่า เพราะมองถึงประโยชน์เรื่องของกลยุทธ์ น่าจะมีอะไรให้เราได้ทำร่วมกันเยอะกว่านักลงทุนที่เป็นวีซี ที่มองเรื่องผลกำไรเป็นหลัก เขาใส่เงินมา 100 บาทก็ต้องการได้คืน 160-180 บาท ขณะที่ซีวีซีใส่มาร้อยหนึ่งแต่ผลประโยชน์อาจไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียวแต่เป็นโปรดักส์ที่ครอสกันได้ หรือมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดียวกัน"


ภีมบอกว่า เมื่อมองย้อนกลับไป เขาก็ได้เห็นถึงความผิดพลาดในเรื่องของจังหวะเวลาในประเด็นของการระดมทุน ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาเขาทำช้าไป แต่อย่างไรก็ดี การช้าหรือเร็วในเรื่องของการระดมทุนต่างก็มีข้อดีข้อเสีย


"การฟันด์ดิ้งถ้าเราทำเร็วกว่านี้ เราก็จะหาทีมงานและขยายทีมได้เร็วขึ้น ทำโปรดักส์ได้ไวขึ้น ทำการตลาดไวขึ้น เงินก็เข้ามาเพิ่มขึ้น แต่การทำเร็วไปเราก็อาจได้ราคาที่ไม่ดีเหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมไหม ราคาที่คุยกันโอเคไหม สำคัญคือคนที่มาลงทุนโอเคไหม ถ้ามันคลิกเขาโอเคกับทิศทางที่จะไปด้วยกัน เป็นเมนทอร์ให้เราได้ มีปัญหาก็ร่วมหัวจมท้าย มีปัญหาก็คุยกันได้ ถ้าเจอนักลงทุนแบบนี้ เราควรจะโอเคเลยอย่าคิดมากเรื่องการให้ราคา"