‘ดิจิทัล ดิสรัปชั่น’ปลุก ‘รัฐ-เอกชน-สตาร์ทอัพ’ ผนึกกำลัง

 ‘ดิจิทัล ดิสรัปชั่น’ปลุก ‘รัฐ-เอกชน-สตาร์ทอัพ’ ผนึกกำลัง

แกร็บ ชี้ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้หรือผู้ชนะ องค์กรธุรกิจแบบเดิมสามารถร่วมกับสตาร์ทอัพพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆตอบความต้องการผู้บริโภคและสังคมที่เปลี่ยนไป

“จะเปลี่ยนหรือจะถูกเปลี่ยน (Disrupt or be disrupted) คือป้ายที่ติดอยู่บนผนังสำนักงานของแกร็บ เพื่อคอยเตือนใจพนักงานอยู่เสมอว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องคือพลังงานขับเคลื่อนบริษัทนี้"

‘ซาฟรุล ฮาชิม’ รองประธานระดับภูมิภาคด้านกฎหมาย ข้อบังคับ และรัฐกิจสัมพันธ์, แกร็บ กล่าวในรายงาน 'โลกธุรกิจที่แตกต่าง : บทบาทของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงจากการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ “Digital Disruption” ไม่ใช่สิ่งใหม่ นับตั้งแต่บริษัทอย่างกูเกิลและแอ๊ปเปิ้ลมีชื่อขึ้นพาดหัวข่าวอยู่บ่อยครั้ง เมื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ปฏิวัติวงการไอทีนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000

หากสิ่งใหม่ ที่แท้จริง คือ การแผ่ขยายอย่างรวดเร็วของดิจิทัล ดิสรัปชั่น ซึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้ง การขนส่ง การเงินการธนาคาร การศึกษา การสาธารณสุข เหลือไว้เพียงอุตสาหรรมไม่กี่ประเภทเท่านั้นที่ยังไม่ถูกเปลี่ยน

ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนหรือทุกภาคธุรกิจให้การยอมรับ องค์กรในหลายธุรกิจรู้สึกว่าถูกคุกคาม ผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานจำนวนมากเกรงว่านวัตกรรมเหล่านี้อาจเข้ามาทดแทนทักษะของตัวเอง รัฐบาลหลายประเทศพยายามทำความเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสามารถสร้างขึ้นได้ในตลาด เป็นสาเหตุก่อให้เกิดการแบ่งฝ่ายเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่ง คือ ภาคประชาชนหรือองค์กรที่เชื่อมั่นในการทำธุรกิจแบบเดิม และอีกขั้วหนึ่งคือภาคประชาชน องค์กร รวมทั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่ยอมรับการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางดิจิทัลในการทำธุรกิจ

‘ร่วมมือ’นิยามใหม่การแข่งขัน
ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบเก่าและแบบใหม่ ไม่เพียงส่งผลเสียต่อผู้บริโภค หากแต่ยังทำลายธุรกิจระยะยาวทั้งชะลอความก้าวหน้าอุตสาหกรรม
ฮาชิม เชื่อว่า ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้หรือผู้ชนะ องค์กรธุรกิจแบบเดิมสามารถร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคและสังคมที่เปลี่ยนไป และเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้สังคม

ในอเมริกาเหนือและยุโรป มีโครงการใหม่จำนวนมากที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เช่น สำนักงานขับเคลื่อนเมืองสู่ยุคใหม่ในบอสตัน ทำงานเพื่อชุมชนโดยจับมือร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในการพัฒนาบริการเพื่อสังคม เช่น การใช้แอพลิเคชั่น ‘ทิคเก็ต เซน’ ช่วยเจ้าของรถยนต์ชำระค่าปรับในกรณีที่จอดรถผิดที่ผ่านสมาร์ทโฟนได้ง่าย หรือในกรุงเฮลซิงกิพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบออนดีมานด์ ผสานระบบชำระเงินของขนส่งมวลชนและบริการคาร์พูลทุกประเภทเป็นหนึ่งเดียว เพื่อลดอัตราครอบครองรถยนต์ส่วนตัวให้เป็นศูนย์ภายในปี 2568

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศอยู่ในจุดเริ่มต้นการปรับใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่างๆ ยกเว้น สิงคโปร์ และมาเลเซียที่มีสภาพแวดล้อมที่เปิดรับอีโคซิสเต็มด้านเทคโนโลยีสูงในระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่ อีกทั้งหลายภาคส่วนพยายามผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตระหนักถึงศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่ถูกต้องจะช่วยเพิ่มมูลค่าจีดีพีของภูมิภาคนี้ได้สูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปีข้างหน้า

ดึงโมเดลสตาร์ทอัพพัฒนาธุรกิจ
ทั้งนี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้องค์กรธุรกิจที่ยังยึดติดกับวิธีทำงานแบบเดิมตระหนักว่า พวกเขาต้องเปลี่ยนแนวทางดำเนินธุรกิจ หากต้องการอยู่ในการแข่งขันต่อไป เป็นโอกาสอันดีทำให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้ผสานความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีแนวคิดล้ำสมัย แต่ขาดเงินทุน บริษัทขนาดใหญ่อาจจ้างบริษัทสตาร์ทอัพขนาดย่อมเข้ามาช่วยดำเนินงาน ในส่วนที่สอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทสตาร์ทอัพนั้นกำลังดำเนินการอยู่ อาจลงทุนหรือช่วยพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถบริษัทเหล่านั้นไปพร้อมกัน

อีกทางหนึ่ง องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อาจนำหลักปฏิบัติของบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีมาเลียนแบบ เช่น ความคล่องตัวในกระบวนการทำงาน

"หลายฝ่ายมองว่า ดิจิทัล ดิสรัปชั่น จะทำให้คนจำนวนมากสูญเสียงาน กลับกันบริษัททางเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยสร้างอาชีพใหม่ๆ และตำแหน่งงานที่มีค่าตอบแทนสูงได้เป็นจำนวนมาก เช่น อีคอมเมิร์ซ, ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง และไซเบอร์ซิเคียวริตี้"

ปัญหาสำคัญขณะนี้ คือ การขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นจากที่สิงคโปร์ มีแนวโน้มประสบภาวะขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเกือบ 30,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้มาปฏิบัติงานในบริษัทของตัวเอง โดยเฉพาะตำแหน่งในระดับบริหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เมื่อคนในท้องถิ่นสามารถเรียนรู้แนวคิดและประสบการณ์ที่เป็นสากลจากผู้มีความสามารถที่บริษัทจ้างมาได้ เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของบริษัทสตาร์ทอัพในหลายประเทศ

หาทางออกร่วมแก้ปัญหา
"บริษัทสตาร์ทอัพมักถูกมองว่าเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ขณะที่ภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่เชื่องช้า และสกัดกั้นความก้าวหน้า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอุปสรรคในการพัฒนามากกว่าภูมิภาคอื่นทั่วทุกมุมโลก ทั้งความไม่เท่าเทียมกันด้านรายรับ การจราจรติดขัด และปัญหาประชากรที่ไม่รู้หนังสือ การแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ระดับนโยบาย อย่างไรก็ดี ปัญหาที่สำคัญคือภาครัฐมักจะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งแตกต่างจากภาคเอกชน อีกทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก เพื่อทำความฝันด้านดิจิทัลเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในพื้นที่ห่างไกลที่มีจำกัด หรือแม้แต่ความแข็งแกร่งระบบรักษาความปลอดภัยโลกไซเบอร์ในแต่ละท้องที่ ที่ยังแตกต่างกันเป็นอย่างมาก มีหลายสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย ส่งผลต่อศักยภาพของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : Grab