ฟิลลิป มอร์ริส ออฟฟิศแห่งความสุข

ฟิลลิป มอร์ริส ออฟฟิศแห่งความสุข

ฟิลลิปมอร์ริส ออกแบบตกแต่งออฟฟิศใหม่ในคอนเซ็ปต์บ้านหลังที่สอง เน้นสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้กับพนักงาน กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และความสนุกสนานในการทำงาน ตามรอยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล ยูทูบ เฟซบุ๊ค เลโก้

บนชั้น 39-40 ของอาคารภิรัชทาวเวอร์ เป็นออฟฟิศใหม่ของ “ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์)” ออกแบบตกแต่งในคอนเซ็ปต์ “บ้านหลังที่สอง” กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และความสนุกสนานในการทำงาน


ปัจจุบันบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลให้พนักงานทำงานเต็มประสิทธิภาพ ออฟฟิศรุ่นใหม่จึงเน้นสร้างทัศนียภาพและบรรยากาศแห่งความสุข เห็นได้ชัดเจนจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล ยูทูบ เฟซบุ๊ค เลโก้

กระตุ้นไอเดียกระฉูด


ฟิลลิป มอร์ริส สำรวจความต้องการพนักงานทุกช่วงอายุ ทั้งที่โสด สมรสแล้วทั้งที่มีบุตรและไม่มีบุตร ต่างมีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน เพื่อให้เป็นออฟฟิศแห่งความสุขของทุกๆ คน จากนั้นส่งต่อโจทย์ให้กับบริษัทรับออกแบบชื่อดัง Space Matrix  "ปลายปีที่แล้วเป็นช่วงที่หมดสัญญากับตึกเก่าและกำลังจะย้ายมาตึกใหม่ ขณะที่การสร้างบรรยากาศในออฟฟิศใหม่จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีขององค์กรได้ เราจึงเลือกฟังความต้องการจากพนักงานมากกว่าให้ผู้บริหารตัดสินใจ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงาน” ณัจยา โชติกเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล กล่าวถึงที่มาของแนวทางการออกแบบ


รูปแบบการตกแต่งภายใน เน้นการเปิดโล่งเพื่อลดขอบเขตที่กั้นระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน และพนักงานกับพนักงานเองด้วย ทุกคนสามารถทำงานเชื่อมกัน กล้าคิดกล้าคุยกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ธีมต่างๆ ในการตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศและการเชื่อมต่อระหว่างสถานที่กับพนักงาน เช่น ธีมกีฬาพร้อมฟุตบอลโต๊ะ ธีมป่าซาฟารี มีห้องนอนเล่นที่ใช้ประชุมได้ด้วย การใช้ชิงช้าแทนเก้าอี้ในห้องประชุม เป็นต้น เพื่อให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนเดียวกันกับบริษัทอย่างแท้จริง


“เราเชื่อว่า ความคิดดีๆ ไม่ได้เกิดขึ้นบนโต๊ะทำงาน จึงได้ลดขนาดโต๊ะทำงานแล้วไปเพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง รวมทั้ง pocket เล็กๆ ที่แทรกอยู่ระหว่างโต๊ะทำงาน ถือเป็นพื้นที่สนุกๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยได้อย่างสบาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่ดี และนวัตกรรม”
ณัจยา กล่าวว่า หลังจากที่ย้ายเข้ามาตึกใหม่ พนักงานมีความสุขมาก โพสต์รูปออฟฟิศในห้องหรือมุมต่างๆ ลงเฟซบุ๊ค กระทั่งเป็นที่สนใจและติดต่ออยากจะทำงานด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความสุขที่สัมผัสได้


เสมือนบ้านหลังที่สอง


สิ่งสำคัญในการออกแบบออฟฟิศเพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ ด้วยการทำพื้นที่เปิดกว้างเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเรื่องของการสื่อสารภายในองค์กร จากเดิมที่ระดับผู้จัดการจะมีห้องส่วนตัว ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าเข้าถึงยาก แต่ปัจจุบันสามารถเห็นได้ว่าผู้จัดการหรือหัวหน้าว่างอยู่ พนักงานสามารถหยิบเก้าอี้เข้ามาคุยได้เลยไม่ต้องเคาะประตู เท่ากับเป็นการลดช่องว่างในการทำงานและส่งเสริมวัฒนธรรมการสื่อสารให้ดีขึ้น


“หลักการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล คือการทำให้พนักงานมีความสุข ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก แต่ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการทำงาน ซึ่งเป็นจุดที่บริษัทให้ความสำคัญมาตลอด”


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พนักงานต้องการไม่เฉพาะแค่การออกแบบออฟฟิศ แต่ยังรวมไปถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มีผลต่อการใช้ชีวิต เช่น เครื่องแต่งกายอย่างเป็นทางการก็เปิดกว้างตามสไตล์ของแต่ละคน เช่นเดียวกับ เวลาเข้าทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกำหนดไว้ 7.00-10.00 น. ถ้าเข้าทำงาน 7 โมงเช้าก็เลิกงาน 4 โมงเย็น หรือถ้าเข้าทำงาน 10 โมงเช้าก็เลิก 1 ทุ่ม


“พนักงานสามารถดีไซน์เวลาการทำงานของตนเอง ทั้งตอบโจทย์บริษัทที่ให้ความสำคัญผลงาน ไม่ได้เวลาเข้างาน ส่วนวันศุกร์เป็นรีโมทเวิร์คกิ้ง ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเทคโนโลยีการสื่อสาร สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ จะเข้าหรือไม่เข้าออฟฟิศก็ได้”
ปัจจุบันฟิลลิป มอร์ริสมีพนักงาน 400 คน แบ่งเป็นรุ่นเบบี้บูมประมาณ 4% ที่เหลือจะครึ่งๆ จะเป็นเจนเอกซ์กับเจนวาย ในแต่ละปีมีการหมุนเวียนพนักงานเข้าออกประมาณ 9% ถ้าเทียบบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่อยู่ที่ 15-20%